รมว.ศึกษาฯ ผุดนโยบายใหม่สุด “แจกโน้ตบุ๊ก” ให้นักเรียนใช้ หวังกล้าคิดนอกกรอบ





เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่โรงแรมปริ้น พาเลซ กรุงเทพฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ว่า แนวทางการทำงานของ ศธ. นั้น

ดำเนินการตามโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางเอาไว้และจากที่ตนเข้ามาทำงานที่ ศธ. 6 เดือน รับทราบประเด็นต่างๆ และมั่นใจว่าหากทุกคนเดินทางไปตามนโยบายที่วางไว้ จะสามารถต่อยอดพัฒนาปฏิรูปการศึกษาไทยได้ เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม มีความสามารถ เพียงแต่ว่าการทำงานอาจจะไม่มีความเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้การทำงานทุกอย่างต้องทำให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ตนมั่นใจ และได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าต้องหาจุดแข็ง และเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจะสามารถพัฒนาการศึกษาได้ หรือการผลักดันให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงในทุกโรงเรียน ภายในพฤษภาคมนี้ 95% ของโรงเรียนในประเทศไทย จะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สพท.ต้องช่วยผลักดันให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้

บางเรื่องใช้เวลาหลายเดือน บางเรื่องใช้เวลาหลายปี แต่ต้องเริ่ม เพราะถ้าไม่เริ่ม เราไม่รู้ว่าจะยืนตรงไหนในสังคมโลก ตนสร้างความมั่นใจให้ทุกคนอยู่อย่างหนึ่งคือ อันไหนที่บอกว่ายังไม่ได้เดิน ยังไม่ได้ตัดสินใจ ยังไม่ทราบ ตนพูดความจริง ถ้าไม่รู้ ตนก็บอกว่าไม่รู้ ฉะนั้นรับรองล้านเปอร์เซ็นต์ ว่าจะไม่มีธง แต่เมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว ต้องยอมรับในระบอบประชาธิปไตย

“ไม่มีเรื่องไหน ใหญ่กว่ากัน ส่วนที่หลายคนกังวลเรื่องโครงสร้าง บอกได้เลยว่าเรื่องโครงสร้าง อยู่ปลายๆ ของความคิด แต่ต้องพิจารณาตามที่หลายคนร้องเรียน ทั้ง กรณีที่ให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือประเด็นเรื่องวิทยฐานะ ก็ต้องไปดูว่าจะมีวิธีปลดล็อกอย่างไร ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด ผมต้องเร่งแก้ไข จะไม่ปล่อยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่เข้ามามาแก้

และไม่ได้มีธงว่าจะทำเรื่องไหนก่อน แต่มอบให้คณะทำงานด้านต่างๆ ทำงานไป และใครทำได้เร็วเสนอเข้ามาผมก็พิจารณา ซึ่งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตของครู ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่วางแนวทางไว้แล้ว แต่ต้องดูภาพรวมทั้งหมดก่อน คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์จะได้คำตอบที่ชัดเจน” นายณัฏฐพลกล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ตนอยากผลักดันเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เบื้องต้นวางแผนไว้ในปีงบประมาณ 2564 จะจ้างครูชาวต่างชาติ 10,000-28,000 คน ให้กระจายทั่วประเทศ เพราะรอครูที่จบเอกภาษาอังกฤษมาสอนนักเรียนไม่ทัน แต่อีก 3 ปี ตัวเลขครูชาวต่างชาติในโรงเรียนต้องลดลง เนื่องจากศธ. จะหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สร้างครูสอนภาษา หรือครูในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อให้ครูเหล่านี้มาทดแทนครูต่างชาติ

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกเขตพื้นที่ฯ กล้าที่จะคิดนอกกรอบ นำเสนอเรื่องต่างที่จะทำให้พัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ผู้อำนวยการ สพท.ที่อยู่กับพื้นที่ จะทราบดีที่สุดว่าพื้นที่ต้องการพัฒนาอะไรบ้าง ขอให้เสนอเรื่องมา เชื่อว่าภายใน 1-2 ปี จะมีโอกาสวางรากฐาน ยกระดับ และต่อพัฒนาการศึกษาได้ทั้งประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย หากค่อยๆทำอาจจะใช้เวลานานเกินไป เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้เราไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อเสนอต่างๆ ที่ ผู้อำนวยการสพท. เสนอมานั้น ต้องมาดูความคุ้มค่าในการลงทุน และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่ศธ.วางไว้ ส่วนที่มีการสะท้อนปัญหาว่าโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีครูสอนเลยนั้น ต้องรีบหาครูมาบรรจุทดแทนทันที

“ส่วนการแจกแล็ปท็อปให้นักเรียนนั้น ผมอยากให้เด็กมีแล็ปท็อปใช้ 2 คน ต่อ 1 เครื่อง แต่ต้องรอให้มีความพร้อม ความเหมาะสมของงบประมาณ ยอมรับว่าเรื่องนี้ถ้าตัดสินใจพลาดจะมีปัญหา เบื้องต้น ศธ.จะพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก่อน และจะพัฒนาครูเพื่อรอรับการใช้เทคโนโลยีต่อไป

ส่วนข้อเสนอที่อยากให้มีโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ มีความเป็นไปได้หรือไม่ โรงเรียนนี้ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่น่าสนใจ ต้องดูความเหมาะสม เพราะเป็นการลงทุนที่สูง รวมถึงต้องคุยกับคณะกรรมของโรงเรียนจุฬาภรณฯ ด้วย ว่าคิดเห็นอย่างไร” นายณัฏฐพล กล่าว

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: