ตัดงบกรมวิชาการเกษตรพ่นพิษ! ขรก.นอนวัด ลูกจ้างนับพันโดนหั่นเงินเดือน-เลิกจ้าง





26 มกราคม 2563 นายจักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 4 (อุบลราชธานี) กล่าวว่า ตนได้เรียกประชุมผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างกรมวิชาการเกษตรที่จะต้องถูกเลิกจ้าง เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ โดย 9 จังหวัดในความรับผิดชอบของสำนักวิจัยเขต 4 มีลูกจ้างแบบจ้างเหมา ทำสัญญาครั้งละ 3 เดือน ต้องถูกเลิกจ้าง 157 คน

นายจักรพรรดิ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563 ตนได้เรียกประชุม พร้อมแจ้งลูกจ้างทั้งหมดว่าไม่สามารถจ้างงานได้ต่อไป โดยงบประมาณมีเพียงพอจ่ายให้ในเดือนมกราคมเท่านั้น ทั้งนี้ได้หาแนวทางแก้ปัญหาโดยแจ้งปรับลดเงินเดือน 50% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และพยายามจะจัดสรรงบประมาณให้สามารถจ้างต่อได้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยหวังว่าปีงบประมาณ 2564 กรมวิชาการเกษตรจะไม่ถูกตัดงบกว่า 40% เหมือนปีนี้ แต่ไม่สามารถจ้างต่อได้ เพราะไม่มีเงินเหลือ ตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสภาฯ ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณให้ ทางกรมวิชาการเกษตรได้จัดสรรงบของปี 2562 มาให้ก่อน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของงบประมาณที่เคยได้ ทางสำนักวิจัยฯ พยายามประหยัดทุกทาง แต่งบไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจซึ่งมีมาก

“ทางสำนักวิจัยฯ ดูแลทั้งข้าราชการและลูกจ้างแบบครอบครัว เงินเดือนลูกจ้างจ้างเหมา 6,000-10,000 บาท เมื่อต้องเลิกจ้างจึงเป็นห่วงว่าลูกน้องจะนำเงินจากไหนส่งลูกเรียนหนังสือ เลี้ยงพ่อแม่ รวมทั้งค่ากินอยู่ เป็นสาเหตุที่ถึงกับร่ำไห้ในวันที่ต้องบอกเลิกจ้าง โดยลูกจ้างในสำนักวิจัยฯ ระดับเขตทั้ง 8 เขตและศูนย์วิจัยฯ ระดับจังหวัดทั่วประเทศมี 1,705 คน ได้รับผลกระทบทั้งหมด บางที่มีภารกิจน้อย ลูกจ้างมีจำนวนไม่มากอาจใช้วิธีลดเงินเดือน 50% แต่สำนักที่มีภารกิจเยอะอย่างเขต 4 มีทางเดียว คือ เลิกจ้าง” นายจักรพรรดิ์ กล่าว

นายจักรพรรดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ข้าราชการจะพยายามอย่างเต็มที่ เช่น กรณีออกตรวจและกำจัดโรคและศัตรูพืช หากค้างคืนต้องได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 500 บาท ข้าราชการเสียสละไม่รับ พยายามเดินทางไป-กลับ กรณีที่ต้องค้างคืนจะอาศัยนอนที่วัดแทนการพักโรงแรม ทั้งนี้จำนวนลูกจ้างเป็นไปตามภารกิจ เมื่อผู้ปฏิบัติงานลดลงงานบางส่วนจึงล่าช้า ได้แก่ การออกตรวจรับรองมาตรฐานแปลงทั้งแบบเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ (Organic) รวมถึงโรงคัดบรรจุ โรงแปรรูปตามมาตรฐาน GMP ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการต้องใช้กรณีส่งออกและยกระดับราคาสินค้า

“ขณะนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่งบประมาณดำเนินการที่ได้รับจัดสรรเบื้องต้นบางส่วนหมดแล้วและบางส่วนอีกไม่นานจะหมด จึงหวังว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ทั้งการตรวจพืชผักที่นำเข้าทางด่านชายแดน การป้องกันโรคและศัตรูพืช การออกใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ตลอดจนการตรวจการจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรให้เป็นไปตามมาตรการจำกัดการใช้และป้องกันการนำปุ๋ย-ยาปลอมมาหลอกขายเกษตรกร” นายจักรพรรดิ์ กล่าว

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: