2สมาคมประกัน คาดการณ์ ปี63 ธุรกิจโตยาก “ดอกเบี้ยต่ำ-อัตราเคลมพุ่ง”





2 บิ๊กประกันภัยประเมินธุรกิจปี”63 “สมาคมประกันชีวิตไทย” ชี้ธุรกิจยังยากลำบาก “ส่อไม่โต/หดตัว” ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ทั้งภาวะดอกเบี้ยต่ำ-อัตราเคลมสูง ฟาก “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ประเมินเบี้ยโต 4-5% ผลพวงปรับขึ้นเบี้ยประกันรถ-ประกันทรัพย์สิน-ประกันนาข้าว หวั่นเพิ่มความคุ้มครองดันลอสเรโชเพิ่ม

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 นี้ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะลำบากมาก ไม่น่าจะดีไปกว่าปีที่แล้ว โดยความท้าทายหลักคืออัตราดอกเบี้ยที่จะต่ำไปอีกนาน ซึ่งมีผลให้เกณฑ์การทดสอบเงินสำรองหนี้สินประกันภัย (LAT) กระทบต่อธุรกิจ ขณะเดียวกัน บริษัทประกันคงปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์มาเน้นขายสินค้าคุ้มครองและสัญญาเพิ่มเติม ทั้งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ รวมถึงประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ส่วนประกันสะสมทรัพย์จะกลายเป็นแบบไม่การันตีผลตอบแทน

“ปีนี้ ถ้าเข็นธุรกิจให้เท่ากับปีที่แล้วได้ก็ถือว่าเก่ง โดยโปรดักต์ที่ออกขายก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งช่องทางขายและตัวแทน/โบรกเกอร์จะต้องปรับตัวตาม บางบริษัทก็พร้อมเพราะเปลี่ยนมานานแล้ว แต่จะมีบางบริษัทที่ยังพร้อมน้อย จึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจจะโตได้ยาก โดยปีที่แล้วเราเห็นสัญญาณเบี้ยปีแรกเป็นบวก ก็หวังว่าเบี้ยปีต่ออายุจะตามมาได้จากที่ติดลบค่อนข้างเยอะ ปีนี้ประกันสุขภาพน่าจะเป็นพระเอกเพราะประชาชนต้องการ แต่ความท้าทาย คือ ลอสเรโช (อัตราความเสียหาย) health insurance ที่ยังสูงอยู่” นางนุสรากล่าว

ส่วนกฎระเบียบที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะผ่อนผันเป็นเวลา 2 ปีให้ใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 (RBC2) โดยปรับอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ไม่ต่ำกว่า 120% ในระดับความเชื่อมั่นที่ 97.5% จากปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 140% ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% น่าจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีค่า CAR ดีขึ้น เชื่อว่าภาคธุรกิจจะได้รับอานิสงส์ไม่ต้องตั้งสำรองสูง ช่วยบรรเทาจากการประสบปัญหาช่วงภาวะดอกเบี้ยลดต่ำลงได้บ้าง

นางนุสรากล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขประกาศลงทุนใหม่เพื่อเปิดกว้างให้ธุรกิจประกันลงทุนได้หลายด้านขึ้น แต่ต้องบริหารความเสี่ยงเอง คาดว่าหลายแห่งคงจะแบ่งพอร์ตบางส่วนไปแสวงหาผลตอบแทนกับสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉ้อฉลประกันภัยที่บังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 ที่เพิ่มบทลงโทษมาตรการพักใช้ใบอนุญาตและจำคุกตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ผู้ประเมินและบริษัทประกันนอกเหนือจากการเพิกถอนใบอนุญาต จะยิ่งเข้มข้นขึ้นจากมาตรการ market conduct ที่ทำให้บริษัทประกันต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการขาย

ทั้งนี้ ภาพรวมประกันชีวิตปี 2562 เบื้องต้นน่าจะเป็นไปตามคาดการณ์ คือ เบี้ยรวมอยู่ที่ 608,565-627,387 ล้านบาท ติดลบ -3 ถึง 0%

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในปี 2563 สมาคมคาดการณ์เบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบอยู่ที่ 253,108-255,542 ล้านบาท เติบโต 4-5% ซึ่งไม่ได้โตจากภาวะเศรษฐกิจแต่เป็นการโตจากแนวโน้มที่ทุกบริษัทปรับขึ้นเบี้ยประกันรถยนต์ หลังขาดทุนเป็นปีที่ 3 รวมทั้งการเพิ่มความคุ้มครองค่าสินไหมแก่บุคคลภายนอกที่ทำให้ลอสเรโชสูงขึ้น โดยความท้าทายของธุรกิจปีนี้จะขึ้นอยู่กับสงครามการค้า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ การเมือง ส่งออกติดลบ ยอดขายรถใหม่ลดลง และการควบรวมที่เริ่มเห็นกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนธุรกิจประกันภัยของไทย

นอกจากนี้ ลอสเรโชของประกันภัยทรัพย์สิน (IAR) ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น กดดันให้บริษัทประกันภัยต่อต้องขึ้นเบี้ยจากภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ด้านประกันภัยข้าวนาปียังอยู่ระหว่างพิจารณา เบื้องต้นอาจปรับเบี้ยมาเป็นมากกว่า 100 บาทต่อไร่ จากเดิมคิดเบี้ยที่ 85 บาท เนื่องจากปีที่แล้วลอสเรโชสูงกว่า 200% สูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งขณะนี้เตรียมไว้ 3-4 รูปแบบ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะคิดเบี้ยไม่เท่ากัน โดยจะหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในวันที่ 6 ม.ค.นี้

“ถ้าประเมินเศรษฐกิจโตที่ 2-2.5% เบี้ยรวมคงโตได้ราว 2-3% และจากการขึ้นเบี้ยเพิ่มอีก 2-3% ทำให้ภาพรวมธุรกิจมีโอกาสโตได้ 4-5% โดยปีนี้ถือว่าโชคดีที่รัฐบาลยังอัดฉีดเงินอยู่บ้าง

ทั้งการลงทุนและอีอีซีที่น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาเปิดธุรกิจในเขตเศรษฐกิจได้ การลงทุนรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงลงนามไปแล้ว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีโครงการรับประกันมันสำปะหลังเพิ่มเติมเข้ามาด้วย” นายอานนท์กล่าว

ส่วนประกันภัยรถยนต์นั้น นายอานนท์ กล่าวว่า คาดว่ายอดขายรถใหม่ปีนี้ไม่น่าถึง 1 ล้านคัน เพราะเห็นสัญญาณลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2562 และคาดว่าจะชะลอยาวไปจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งหากประเมินยอดขายรถใหม่ในตลาดอย่างน้อย 8 แสนคันต่อปี เบี้ยประกันเฉลี่ย 15,000 บาทต่อคัน ก็จะมีเบี้ยใหม่ในระบบ 12,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 90% จะซื้อเงินผ่อน และส่วนใหญ่ซ่อมห้าง จึงยังเป็นข้อกังวลอัตราการเคลม

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: