สรรพสามิตดับฝันไอเดียไล่รถเก่าออกจากระบบเพื่อกระตุ้นการซื้อรถใหม่ แจงทำไม่ได้ อ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง





สรรพสามิตดับฝันไอเดียไล่รถเก่าออกจากระบบเพื่อกระตุ้นการซื้อรถใหม่ แจงทำไม่ได้ อ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รับผิดชอบเฉพาะภาษีรถใหม่ออกจากโรงงาน ขณะที่กลุ่มยานยนต์ยื้อไม่เลิกระดมสมองหาช่องดันรถเก่ากว่า 40 ล้านคัน กระจายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำรถใหม่ยังไหลเข้าตลาดปีละเป็นล้านคัน

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าไอเดียผลักดันรถเก่าออกจากระบบ หลังสภาอุตฯและกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนเคยระดมสมองตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา จนได้ข้อสรุปว่าจะขอความร่วมมือภาครัฐ โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา เก็บค่าธรรมเนียมรถเก่าที่มีอายุเกิน 10 ปี เก็บค่าธรรมเนียมซากรถเก่าที่ไม่ใช้งาน หรือมีมาตรการสนับสนุนให้ซื้อรถใหม่ในราคาพิเศษ โดยผู้ใช้รถยนต์สามารถนำซากรถเก่ามาแยกชิ้นส่วน หรือรีไซเคิล เพื่อนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อรถใหม่ว่า แนวคิดดังกล่าวอาจจะต้องชะลอออกไปก่อน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เท่าที่ควร

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีนัดหมายว่า จะนำเรื่องนี้เสนอไปยังกรมสรรพสามิต เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่มีเหตุขัดข้อง โดยทางโฆษกกรมสรรพสามิตชี้แจงว่า กรมสรรพสามิต และรัฐบาลไม่มีนโยบายในการสนับสนุน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมกลุ่มอุตฯยานยนต์ครั้งหน้า ทางกลุ่มจะหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง เพราะการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้คุยกันจนตกผลึกต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน ให้มีการกำจัดรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน หรือซากรถเก่าให้หมดไป รวมถึงรถเก่าเครื่องยนต์เก่ามาก ๆ ซึ่งปล่อยค่าไอเสียจำนวนมาก เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษบนท้องถนน และที่สำคัญ หากเจ้าของรถเก่ามีแรงจูงใจทางด้านภาษี หรือสิทธิพิเศษกรณีต้องการเปลี่ยนรถคันใหม่ ก็น่าจะช่วยให้ตลาดรถใหม่มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น

“เรื่องนี้ทำเองไม่ได้ รัฐบาลต้องให้ความร่วมมือและเข้ามาสนับสนุน เพราะเราวางแนวทางเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ขยับจาก กทม.ไปต่างจังหวัด รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ารัฐบาลเพิกเฉย ทุกอย่างก็จบ ไอเดียที่ระดมสมองกันมาก็คงต้องพับไป อย่าลืมว่าทุกวันนี้รถเก่ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ข้อมูลจากกรมขนส่งฯระบุว่า ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงสิ้นปี 2562 รถยนต์ในบ้านเรามียอดจดทะเบียนสะสมถึง 40 ล้านคันเข้าไปแล้ว ส่วนรถใหม่ปีหนึ่ง ๆ ขายเป็นล้านคัน ถ้าไม่มีแนวทางการจัดการที่ดีคงวุ่นวายแน่ ๆ”

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องดังกล่าวท้ายที่สุดแล้วคงจะต้องรอดูการประชุมกลุ่มในวาระต่อไปว่าจะมีการนำมาหารือกันอีกรอบหรือไม่ หรือจะพับเก็บไปเลยส่วนยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2562 ที่ผ่านมานั้น มียอดผลิตรวมราว ๆ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตสำหรับตลาดในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน จากเดิมคาดว่าการผลิตเพื่อส่งออกจะอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน แต่จากสถานการณ์ภาวะสงครามการค้า ทำให้มียอดส่งออกลดลง 20%

ส่วนปี 2563 ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะใกล้เคียงปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูวันที่ 15 ม.ค.นี้ ที่อเมริกาและจีนจะมีการเซ็นสัญญายุติสงครามการค้าระหว่างกันว่าจะมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถต่าง ๆ โดยเฉพาะอีโคคาร์และปิกอัพ ว่าจะมีผลขับเคลื่อนกับตลาดได้มากน้อยเพียงใด

“ปีที่แล้วหลายยี่ห้ออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสินค้า ทำให้ยอดส่งออกอีโคคาร์และปิกอัพหดลง แต่ปีนี้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น รวมทั้งในส่วนของรถจักรยานยนต์เองก็ยังคงได้อานิสงส์จากกลุ่มรถบิ๊กไบก์ ที่ช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังสูงอยู่ แม้ว่าจำนวนจะลดลง”

ขณะที่ตลาดในประเทศเองยังต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นกลุ่มประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์ของปี 2563 นั้นจะใกล้เคียงปีที่แล้ว คือ 2 ล้านคัน

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอเรื่องกองทุนรถยนต์เก่า เป็นแนวคิดจากภาคเอกชนที่คิดขึ้นมา โดยมองว่าหากเอกชนต้องการทำ ก็ควรใช้หลักการด้านการตลาด ส่วนการจะให้แรงจูงใจด้านภาษีสรรพสามิตคงทำไม่ได้ เนื่องจากหลักการของภาษีสรรพสามิตจะจัดเก็บจากผู้ผลิต ณ โรงงานอุตสาหกรรม เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถไปเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นรายปีได้

“รถยนต์เก่าจะใช้กระบวนการต่อทะเบียนผ่านทางกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว ซึ่งอัตราที่ขนส่งเก็บก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงอัตราสูงสุด หลังจากนั้นก็จะเป็นอัตราเดียวต่อไป ส่วนการจะใช้ภาษีสรรพสามิตไปสร้างแรงจูงใจคงทำไม่ได้ เพราะผิดหลักการ” นายพชรกล่าว

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: