กมธ.แรงงาน จ่อสอบปม #แบนMONO29 อาจมีการบังคับ พนง.บริษัทให้ลาออก





โมโน เผยได้ตรวจสอบพนักงานสาวถูกล่าแม่มดเหตุโพสต์ ‘มุมกล้อง’ ถูกกล่าวหาไม่เหมาะสมต่อภาพ ร.9 ในการชุมนุม ‘ไม่ถอยไม่ทน’ พร้อมระบุ พนง.ดังกล่าวสมัครใจลาออกแล้ว ต่อมา แฮชแท็ก #แบนMONO29 ติดเทรนด์ทวิเตอร์อันดับ 2 ด้าน ประธาน กมธ.แรงงาน สภาฯ จ่อตรวจสอบ ชี้อาจมีการบังคับ พนง.ให้ลาออก เหตุร่วมชุมนุมการเมือง ขณะที่ จุลเจิม-TNEWS รวมเสียบประจานล่าแม่มดด้วย

16 ธ.ค.2562 จากกรณีมีการเผยแพร่ภาพมุมหนึ่งของการชุมนุมแฟลชม็อบ “ส่งเสียงประชาชน” ไม่ถอยไม่ทน บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยภาพดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมชูป้ายประท้วงเผด็จการ (ข้อความ “FUCK U Dictatorship”) ในจังหวะที่มุมกล้องไกลออกไปปรากฏตึกหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ที่มีภาพรัชกาลที่ 9 ขนาดใหญ่ติดอยู่ด้วย ต่อมามีผู้แสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนชื่นชอบภาพนี้ ทำให้มีผู้ไม่พอใจบันทึกทั้งภาพและข้อความที่มีการแสดงความเห็นนั้น ไปโพสต์ต่อ พร้อมนำเอาชื่อจริง นามสกุล ข้อมูลการศึกษาและสถานที่ทำงานของบุคคลอย่างน้อย 3 คนไปเสียบประจานทั้งในเฟสบุ๊คบุคคลสำคัญอย่าง พลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคลหรือสำนักข่าวอย่าง เพจ TNEWS – การเมือง เป็นต้น 

ซึ่งหนึ่งในบริษัทของผู้ที่ถูกเสียบประจานคือ บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด ทำให้ต่อมา บริษัทนี้ ออกประกาศว่าได้ ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า อดีตพนักงานคนดังกล่าวได้ขอลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยความสมัครใจ และเพื่อเป็นการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป

ประกาศของ บริษัท โมโนฯ ยังระบุต่อว่า อดีตพนักงานคนดังกล่าว ได้สำนึกกับการกระทำของตนเองแล้ว ขอให้สังคมยุติการคุกคามใด ๆ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลท่านนี้ด้วย จึงขอเรียนมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ “สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน” แถลงการณ์ กรณีอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีการบังคับพนักงานบริษัทให้ลาออก เพราะเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

การเลิกจ้าง กดดันให้ลาออก ไล่ออก โดยข้อบังคับของบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานและขัดกับหลักสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามเรื่องนี้โดยด่วน !
.
จากกรณี บริษัทผลิตสื่อรายหนึ่งได้ทำการกดดันให้พนักงานลาออกจากการแสดงความเห็นทางการเมือง
.
เมื่อไม่กี่วันก่อน โลกออนไลน์แชร์ข้อความเรื่อง ประมาณอย่าดูดายเมื่อ คนกลุ่มอื่นในสังคมถูกคุกคาม เพราะสุดท้ายมันก็จะวนมาถึงเรา (ข้อความของ Martin Niemoller ขยายโดยคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์)
.
ประเทศนี้มีการ เลิกจ้าง ไล่ออก บังคับให้ลาออกในหมู่ผู้ใช้แรงงานบ่อยครั้ง เพื่อการสร้าง ‘วินัย’ในระบบทุนนิยม โดยพวกเขาจะแบ่งแยกให้คนที่ถูกกระทำเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่สุดท้ายตะปูตัวไหนที่โผล่หัวก็จะถูกค้อนทุบลงไป เหลือแต่ผืนไม้ราบๆ
.
คำถามสำคัญคือนายจ้างสามารถทำตัวเป็นรัฐอิสระในการกำหนดกฎกติกาเกินกว่ามาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน หรือขัดกับสิทธิพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน โดยเป็นเหตุทำโทษ กดดันให้ลาออกหรือเลิกจ้าง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้หรือไม่…คำตอบคือ ‘ไม่ได้’ ทั้งในทางหลักกฎหมายและหลักการความเข้าใจพื้นฐาน
.
ผมยืนยันว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะปฏิเสธองค์กรที่ขูดรีดเอาเปรียบเหล่านี้ เราย่อมไม่สบายใจที่สินค้าและบริการที่เราได้รับ มีเลือด น้ำตาของคนทำงานอยู่ในนั้น เราจะสบายใจกับเลือด น้ำตาเหล่านั้นได้มั้ยทุกครั้งที่เราใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น เพื่อความสุขของเรา
.
ถ้าเราคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา คิดว่าใครทำคนนั้นรับผิดชอบเอง วันหนึ่งพอมาถึงเรา เราก็จะไม่เหลือใครที่จะปกป้องเรา
.
ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงานผมจะต่อสู้เรื่องนี้อย่างเต็มที่ ผ่านเครือข่ายผู้บริโภค ขบวนการแรงงาน และพื้นที่รัฐสภาที่ผมมี

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ”Wanvipa Maison-วรรณวิภา ไม้สน-มด‘ ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ใช่บีบหรือบังคับให้ลาออก กรณีนี้ไม่ได้ห้ามให้เลิกจ้าง แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ใช่บีบหรือบังคับให้ลาออก หากลูกจ้างไม่ได้ทำผิด ตามที่ระบุในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขณะนี้ส่งเรื่องถึง กมธ.แรงงานแล้ว จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสอบสวนเป็นการเร่งด่วนต่อไป

ข่าวจาก ประชาไท

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: