คืนนี้ชวนดู “ฝนดาวตกเจมินิดส์” มีถึงรุ่งเช้า สดร.เผย อาจสังเกตยาก เหตุมีแสงจันทร์รบกวน





วันที่ 12 ธันวาคม นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2562 นี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 140 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ในปีนี้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากเป็นคืนดวงจันทร์แรม 2 ค่ำ ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 18:58 น. และตกลับขอบฟ้าในเวลา 07:18 น. ของวันถัดไป ทำให้มีแสงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน จึงอาจสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ยากมาก

“สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ต้องรอติดตามในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คืนดังกล่าวตรงกับช่วงจันทร์ดับ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน” นายศุภฤกษ์ กล่าว

สำหรับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ นั้น เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์, NARIT

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: