สภาพัฒน์ฯ ชี้เศรษฐกิจชะลอตัว ตกงานเพิ่ม หนี้เสียพุ่ง หนี้ครัวเรือนแตะ13.08ล้านล้าน





เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยว่าไตรมาส 3/2562 ผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 24.9 ล้านคน ภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.04%

เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% เห็นได้จากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 13.5% อยู่ที่ 172,412 คน ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3% ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด 2.15%

“สภาพัฒน์ฯ มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 4/2562 มากนัก เพราะภาพรวมชั่วโมงการทำงานไตรมาส 3 เฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ที่ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อัตราการว่างงานเฉพาะเดือนต.ค.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.9% คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน แต่สภาพัฒน์ฯ ยังคงติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด การทำงานล่วงเวลา(โอที) ที่มากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9%”

ส่วนภาวะหนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 6.3% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่งผลให้ระดับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ยังคงเท่ากับไตรมาสก่อนที่ 78.7%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายที่เกิดระหว่างปี 2524-2544 ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มไปประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่มากขึ้นปีละประมาณ 300,000-600,000 คน ใน 4 อาชีพยอดนิยม ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การค้าและโฆษณาออนไลน์ การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียน/แปลภาษา เพระมีความเป็นอิสระ เป็นผู้จัดการตนเองและมีการทำงานที่ยืดหยุ่นสูง แต่พบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความตระหนักถึงเรื่องราวการวางแผนด้านการเงินเพื่อรองรับวัยเกษียณในอนาคตเท่าที่ควร

นายทศพร กล่าวว่า ในส่วนของภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.2% คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.74%

ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนเป็นตัวเลขที่ไม่อยากให้มีมากเกินไปอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับจีดีพียังเป็นสัดส่วนไม่มาก แต่คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ไปร่วมกันศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีลักษณะพิเศษที่ประมาณ 18-19% ของหนี้สินครัวเรือนเป็นการกู้ยืมหนี้ส่วนบุคคลเพื่อนำไปลงทุนธุรกิจ

“ครม.เศรษฐกิจสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าเนื้อในของหนี้ครัวเรือนว่าประมาณ 20% นั้นหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนเป็นการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ ซึ่งเท่ากับก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ จึงต้องไปจำแนกให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่มาตรการดูแลแก้ไขให้ถูกต้อง และหาก 20% นั้นนำไปประกอบธุรกิจก็ไม่น่าเป็นห่วง คาดเดือนธ.ค.จะมีความชัดเจนนำกลับมารายงาน ครม.เศรษฐกิจอีกครั้ง”

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: