กระจ่างแล้ว ทำไมท้องฟ้าเป็นสีม่วงช่วงเกิดพายุฮากิบิส





“ทำไมท้องฟ้าประเทศญี่ปุ่น ถึงเป็นสีม่วง เมื่อพายไต้ฝุ่นฮากิบิสเข้าประเทศ”


รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า

เก็บตกจากเหตุการณ์ที่พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส เข้าถล่มประเทศญี่ปุ่นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ แล้วเกิดปรากฏการณ์ประหลาดที่ท้องฟ้าญี่ปุ่นกลายเป็นสีม่วง … มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เผื่อใครไม่ได้ตามข่าว .. พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสได้พัดถล่มเข้าเกาะฮอนชูของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ด้วยความเร็วลมสูงถึงประมาร 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 12 เมตร และฝนตกกระหน่ำ มีผู้ประสบภัยที่ต้องไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ อีกหลายแสนคน ระหว่างนั้นเอง มีคนญี่ปุ่นหลายคนที่แชร์ภาพในโซเชียลมีเดีย ที่ท้องฟ้ากลายเป็นสีม่วงเข้ม ในวันเสาร์ที่พายุเข้ามา … ซึ่งบางคนก็คิดว่าเป็นลางหายนะ ที่จะนำภัยพิบัติเข้าสู่ประเทศ แต่จริงๆ แล้ว ท้องฟ้าสีม่วงนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อมีพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอริเคนขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ “การกระเจิงของแสง” (scattering) นั่นเอง


การกระเจิงของแสง เกิดขึ้นได้เมื่อมีอนุภาคขนาดเล็กๆ กระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยอนุภาคจิ๋วนี้จะส่งผลต่อทิศทางเดินของแสง ทำให้เกิดการกระเจิงของแสง ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ประกอบด้วยหลายช่วงความยาวคลื่น กระจายออกเป็นความยาวคลื่นต่างๆ เห็นเป็นหลายสีเหมือนสีรุ้ง แทนที่จะดูไม่มีสี (หรือที่เรียกว่าแสงขาว) ตามปรกติ เมื่อเกิดพายุใหญ่ขึ้น ลมพายุและสายฝนมักจะชะล้างอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถดูดซับแสงได้มากกว่าและทำให้เกิดการกระเจิงความยาวคลื่นแสงได้สม่ำเสมอกว่าอนุภาคขนาดเล็ก และเป็นที่ทำให้ท้องฟ้ามีสีหม่นหมอง นั้นออกไป … จึงทำให้ท้องฟ้ายามที่มีพายุ จะมีสีเข้มจัดขึ้น

นักอุตุนิยมวิทยา Lauren Rautenkranz ได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ เคยพบเห็นแล้วในรัฐฟลอริด้า เมื่อปี ค.ศ. 2018 ตอนที่มีพายุเฮอริเคนมิเชล โดยที่เห็นเป็นสีม่วงนี้ก็เพราะว่า ปรกติ เวลาที่แสงอาทิตย์ส่องลงมาที่โลกนั้น สีส่วนใหญ่ในสเปกตรัมของแสงทั้งหมดจะสามารถลงมาถึงพื้นโลกได้โดยไม่ถูกกีดขวาง ยกเว้นแต่พวกที่มีความยาวคลื่นสั้น อย่างสีฟ้าและสีม่วง ที่จะถูกอนุภาคในอากาศทำให้กระเจิง กระเด้งกระดอนไปทุกทิศทาง จนมาถึงตาของเรา ปรกติแล้ว ดวงตาของเราจะมีข้อจำกัดในการรับแสง จึงทำให้เห็นสีฟ้าได้ แต่ไม่ค่อยเห็นสีม่วง ซึ่งอยู่ในช่วงความยาวคลื่นที่สั้นที่สุดของแสงขาว (ถ้าเลยไปกว่านี้ ก็เป็นช่วงอัลตร้าไวโอเล็ต หรือแสงเหนือม่วง ที่ตาคนเรามองไม่เห็นเลย)

แต่ในช่วงที่มีพายุใหญ่นั้น สภาพอากาศมีความเหมาะสมพอดีกับการที่ทำให้แสงสีม่วงปรากฏขึ้น เพราะอากาศมีการอิ่มตัวยิ่งยวด (super-saturated) จุดไอน้ำกลั่น (dew point) มีค่าสูง ก้อนเมฆเคลื่อนใกล้ลงมาที่พื้นดิน และเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนต่ำลง เช่นตอนเช้าหรือตอนเย็น เราก็จะเห็นสีของท้องฟ้าที่แท้จริง ได้ชัดเจนขึ้น (คือทำให้เห็นสีม่วงที่มีอยู่แล้วนั้นได้ จากที่เมื่อก่อนมองไม่เห็นเพราะข้อจำกัดของสายตา)

และอาจารย์เจษ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ถ้าต่อไป มีปรากฏการณ์เช่นนี้อีกที่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในบ้านเราก็ตาม ก็ให้ทราบว่าเป็นผลจากการกระเจิงของแสง ด้วยความชื้นในอากาศ เมื่อเกิดพายุ นะครับ  

ขอขอบคุณที่มาจาก : Jessada Denduangboripant 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: