“เจ้าสัวธนินท์” ปลุกรัฐเลิกกินบุญเก่า ต้องตื่นตัว “EEC” ไม่เช่นนั้นนักลงทุนหนี ยืนยัน “ซีพี” ไม่ได้ผูกขาด แค่กล้าทำก่อน





“เจ้าสัวธนินท์” อ่านเศรษฐโลกส่องฝีมือบริหารเศรษฐกิจไทยใกล้ค่ำ-กำลังถดถอย ปลุกรัฐบาลต้องตื่น อย่ามัวกินบุญเก่า ถ้า “อีอีซี” ไม่เกิด นักลงทุนย้ายหนีไปตลาดใหม่ แนะดูแลสินค้าเกษตร ต้องให้ราคาดี เจียดเงิน 10% ปล่อยกู้ธุรกิจรายกลาง-เล็ก เดินหน้าสร้างโอกาสจากวิกฤตจีน-อเมริกา ย้ำ “ไฮสปีด” เรื่องยิ่งใหญ่ของชาติ ตอบโจทย์ธุรกิจยุคต่อเชื่อมรวดเร็ว ยัน ซี.พี.ไม่ได้ผูกขาดแต่กล้าทำก่อน-ทำเรื่องยาก เผยแนวคิด “ผู้นำ” ที่ดีต้องยึดผลประโยชน์องค์กรเป็นอันดับแรก

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ให้สัมภาษณ์กับนายสรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” ตอบคำถามและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ในวาระเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน โดยแนะนักธุรกิจที่เจอกับวิกฤตว่า ในทุกวิกฤตจะมีโอกาสตามมา

เจอวิกฤตอย่าท้อ-อย่าตาย

“หากเจอวิกฤต มืดที่สุด อย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา ถ้าผ่านไปได้ พอฟื้นจากวิกฤต สังคม เศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงจะเอื้อให้ทำธุรกิจต่อ ทุกอย่างจะถูกหมด แต่ตอนอยู่ในวิกฤตต้องอย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ จึงจะมีโอกาสได้คืน เพราะมีประสบการณ์มีความรู้แล้ว เสียค่าเล่าเรียนแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็จะตามมาด้วยวิกฤต อันนี้คู่กัน”

เศรษฐกิจไทยใกล้ค่ำ

เมื่อถามว่า ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาไหน นายธนินท์ตอบว่า “คิดว่ากำลังบ่ายสามสี่โมง ผมว่าถ้าเมืองไทยทำเป็น เป็นโอกาสอย่างยิ่ง แต่รู้สึกว่าเมืองไทยยังทำไม่เป็น ความจริงแล้ว ปัญหาอเมริกากับจีนเป็นโอกาสของเมืองไทยอย่างยิ่ง ธุรกิจจะย้ายฐานจากจีน มาเมืองไทยดีที่สุด แต่ถ้าไทยไม่ฉวยโอกาส เขาก็จะไปเวียดนาม อินโดนีเซีย โอกาสนี้ก็หายไป กว่าจะดึงกลับมาก็หลายสิบปี”

พร้อมขยายความเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้เรากำลังถดถอยอยู่ เราต้องไปวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของเราพื้นฐานจริง ๆ 70% คือ ลงทุนจากญี่ปุ่น แต่ภาคเกษตร คือน้ำมันบนดินเป็นสมบัติของชาติ เพียงแต่ประไทยยังละเลยความสำคัญของสินค้าเกษตร ทั้งที่จริง ๆ แล้วสินค้าเกษตรมีมากมายเหลือเกิน”

“สินค้าเกษตรเป็นของไทยจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราได้ 80% อย่างอื่นเราไปซื้อมาประกอบแล้วไปขาย แต่เกษตรเป็นของเรา เกิดจากแผ่นดินไทย เราต้องปกป้อง ต้องให้ราคาดี เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ รัฐบาลก็ต้องทำให้คนรายได้สูงขึ้น รัฐบาลมีเงินเยอะ และมีการไปซื้อพันธบัตรของอเมริกา ควรใช้เงิน 10% ของการไปซื้อพันธบัตรมาปล่อยกู้ให้ธุรกิจรายกลาง-ย่อย-จิ๋ว ไปลงทุนซื้อเครื่องจักร โดยให้ผ่อนระยะยาว”

ซี.พี.เสี่ยงได้ แต่ล้มละลายไม่ทำ

ส่วนวิธีการบริหารความเสี่ยงสไตล์ ซี.พี. นายธนินท์มองว่า “การทำธุรกิจไม่มีอะไรไม่เสี่ยง นักธุรกิจต้องเสี่ยง ไม่มีสูตรสำเร็จรูป ทำไปก็แก้ไป แต่เป้าหมายต้องชัด คิดหาวิธีหลีกเลี่ยง ธุรกิจ ซี.พี.ถ้าเสี่ยง 30 : 70 ผมเสี่ยง แต่ถ้าโครงการใหญ่มากขนาดที่มีโอกาสทำให้ ซี.พี.ล้มละลาย แม้ว่าเสี่ยงแค่ 10 ก็ไม่ทำ อย่าเล่นอะไรที่เกินตัว เพราะถ้าเสี่ยงแล้วมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ยิ่งทำใหญ่ยิ่งเสี่ยงสูง ถ้าทำใหญ่เกินความสามารถจะล้มละลายได้ อย่าเข้าใจผิดว่า บริษัทใหญ่ไม่ล้มละลาย ฉะนั้น นโยบายของเครือ ซี.พี. คือ เสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ให้ล้มละลาย อะไรเสี่ยงเกินตัวจะไม่ทำ”

อีอีซีไม่เกิด-นักลงทุนย้ายหนี

สำหรับกรณีรถไฟความเร็วสูง นายธนินท์ให้ความเห็นต่อเนื่องจากการบริหารความเสี่ยงว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูง เสี่ยงแต่มีโอกาสสำเร็จ ถ้ารัฐบาลเข้าใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจแท้ ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เขาตั้งชื่อพีพีพี คือ รัฐร่วมกับเอกชน และเอาจุดเด่นของเอกชนกับรัฐบาลบวกกันแล้วมาลบจุดอ่อนของรัฐบาล เวลานี้มีพีพีพีเกิดขึ้น แต่ทีโออาร์เขียนแล้วไม่ใช่ รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตกัน ล่มก็ต้องล่มด้วยกัน ไม่ใช่เอกชนเสี่ยง แต่รัฐบาลไม่เสี่ยง เรื่องนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ”

นายธนินท์เชื่อว่า ธุรกิจยุคต่อไปนี้ต้องการความรวดเร็ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้คนอยู่ระยองใช้เวลา 45 นาที เชื่อมกับกรุงเทพฯ ขณะที่จีนมีรถไฟความเร็วสูงหลายหมื่นกิโลเมตร “แต่เรายังมัวชักช้าอยู่ และไม่ได้มองความสำคัญ ถ้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่เกิด คือ เรากำลังถดถอย นักลงทุนจะย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนาม และอินโดนีเซียแทน ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะค่อย ๆ ร่อยหรอลง ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, รถยนต์ อิ่มตัวแล้ว และเทรนด์เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลยังมองไม่เห็น บริษัทที่ผลิตในไทย เขาจะย้ายไปผลิตประเทศอื่น 10-20 ปี เขาก็ไม่ลงทุนเพิ่ม เราก็กินของเก่าไป เขาก็ไปลงทุนที่ตลาดใหม่”

อย่าหลับชิงโอกาสวิกฤตการค้า

ขณะที่กำลังซื้อในอินโดนีเซีย 300 ล้านคน เวียดนาม 100 ล้านคน เศรษฐกิจยังเติบโตอยู่

“ผมว่ารัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญ ถ้าไทยยังไม่เร่งออกมาตรการดี ๆ จูงใจให้เขาไม่ย้ายฐาน นักลงทุนต่างชาติจะหนีไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็เริ่มย้ายฐาน วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะดึงธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์มาลงทุน ยิ่งอเมริกากับจีนมีปัญหากัน ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีมากของไทย ทำไมเรายังนอนหลับอยู่ เขาจะย้ายไปเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เยอะมาก”

ประสบการณ์แก้วิกฤตต้มยำกุ้ง

ประธานอาวุโสเครือ ซี.พี.ถอดบทเรียนช่วงวิกฤตที่สุดของ ซี.พี. ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยยอมรับว่าช่วงนั้นรู้สึกมืดแปดด้าน และคิดไม่ถึงว่าจะวิกฤตจะรุนแรงและบานปลาย แต่มั่นใจว่าธุรกิจเดิมของ ซี.พี. คือ ธุรกิจเกษตร จะไม่ล้มละลาย ทั้งได้ข้อคิดว่าจะรักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ อันไหนสำคัญต้องรักษาไว้ และต้องเป็นธุรกิจที่สำคัญ และดีด้วยจึงจะขายได้ และเตือนว่า เวลาจะทำอะไรต้องทำที่โลกยอมรับ เป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้น ถ้าเจอวิกฤตแล้ว ให้ฟรีเขาก็ยังไม่เอา

“ตอนนั้นธุรกิจใหม่ คือ โทรศัพท์ แม็คโคร โลตัส เซเว่นฯ ขายโลตัสก่อน เพราะคนเห็นว่าตัวนี้ดีมาก บริษัทอังกฤษที่มาซื้อยังพูดว่า คุณทำได้เหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ขายราคาเท่าไหร่ เขาก็ไม่ต่อรองเลย ซี.พี.เหลือไว้แค่ 25% ขายโลตัสแล้วไปคืนหนี้ อันที่สองขายแม็คโคร ต้องคืนหนี้ให้หมด ถ้าไม่คืนหนี้ให้หมด ซี.พี.จะล้มละลาย เครดิตทั่วโลกที่สร้างไว้จะหายหมด ถ้าตอนนั้นขายโทรศัพท์อันเดียวจบเลย ไม่ต้องขายแม็คโครกับโลตัส แต่ตอนนั้นโทรศัพท์ดีมาก

บริษัทถูกจัดอยู่ในอันดับ 50 ของโลก อันดับ 11 ของเอเชีย เรือเจอพายุแล้วเราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือลำนั้นให้อยู่รอดก่อน แล้วเราค่อยหาคืนกลับมา ประสบการณ์บอกเราว่า ถ้าจะรักษาไว้ทุกอย่าง สุดท้ายก็จะล้มทั้งหมด”

ทำ 2 เรื่องอาหารกาย-สมอง

นอกจากนี้ การทำธุรกิจจะทำทุกเรื่องไม่ได้ ซี.พี.ทำ 2 เรื่อง อาหารสมองกับอาหารอิ่มท้องคู่กันกับมนุษย์ แต่อาหารอิ่มท้องสำคัญกว่า ถ้าต้องเลือก ต้องเอาชีวิตไว้ก่อน นอกเหนือจากนี้เราไม่ทำ อย่างค้าปลีกก็ต่อเนื่องกับอาหาร ธุรกิจของ ซี.พี.เป็นธุรกิจต่อเนื่องกัน ต่อไปนี้ธุรกิจทุกเรื่องต้องต่อเนื่อง เวลาจะขยายธุรกิจถ้าเก่งตรงนี้แล้วขยายไปข้างบนข้างล่างได้หมด เป็นอินทิเกรตมากขึ้น ยุค 4.0 ทุกธุรกิจจะต่อเนื่องกัน เอื้อกันมากขึ้น อย่างรถยนต์มีชิ้นส่วนสี่ห้าพันชิ้นส่วน ต้องมาผนึกกำลังอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย การขนส่ง ในโลกยุค 4.0 จะเป็นอย่างนี้

ปั้นผู้นำ-ต้องทำงานเป็นทีม

นายธนินท์กล่าวว่า ปัจจุบัน ซี.พี.มีพนักงานทั่วโลกกว่า 300,000 คน ต้องมีหัวหน้าทีมและผนึกกำลังกัน ช่วยเหลือกัน สิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาคน คือ ให้เขาลงมือทำ ให้อำนาจ ให้เขาคิดเองทำเอง เราเพียงให้ข้อเสนอแนะ อย่าไปชี้นำ ถ้าทำผิดเสียหาย ให้โอกาสทำต่อ เพราะถือว่าทำผิดเป็นค่าเล่าเรียน ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสแสดง คนก็ไม่รู้ว่าเขามีความสามารถแค่ไหน ตามด้วยเกียรติคือให้ตำแหน่ง และข้อสาม คือ เงิน

แต่สิ่งสำคัญ “ผู้นำ” ต้องเอาผลประโยชน์ตัวเองอยู่ที่สาม ผลประโยชน์ที่หนึ่งคือบริษัท คิดถึงองค์กรเป็นอันดับแรก บริษัทไม่มีวิญญาณ ผู้นำต้องใส่จิตวิญญาณให้กับบริษัท ถ้าผู้นำเห็นแก่ตัว บริษัทล้มละลายแน่ แม้เป็นธุรกิจส่วนตัวก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริษัท ตามด้วยพนักงาน เพราะถ้าไม่มีพนักงานช่วยทำ คุณทำคนเดียวไม่สำเร็จ สตาร์ตอัพก็เหมือนกัน

วันนี้ ซี.พี.กำลังทำให้เหมือนกับสตาร์ตอัพ แต่กดดันน้อยกว่าสตาร์ตอัพตรงที่ถ้าทำขาดทุน บริษัทจ่ายให้ แต่ต้องรู้กำไรขาดทุนทุกวัน เรื่องใหม่ต้องให้คนใหม่ทำ ลูกวัวไม่กลัวเสือ เพราะเราให้อำนาจเขาแล้ว ให้โอกาสแล้ว ให้ทุนไปทำแล้ว สำคัญคือต้องให้เขารู้กำไรขาดทุน

ปั้นผู้นำ-ต้องทำงานเป็นทีม

นายธนินท์กล่าวว่า ปัจจุบัน ซี.พี.มีพนักงานทั่วโลกกว่า 300,000 คน ต้องมีหัวหน้าทีมและผนึกกำลังกัน ช่วยเหลือกัน สิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาคน คือ ให้เขาลงมือทำ ให้อำนาจ ให้เขาคิดเองทำเอง เราเพียงให้ข้อเสนอแนะ อย่าไปชี้นำ ถ้าทำผิดเสียหาย ให้โอกาสทำต่อ เพราะถือว่าทำผิดเป็นค่าเล่าเรียน ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสแสดง คนก็ไม่รู้ว่าเขามีความสามารถแค่ไหน ตามด้วยเกียรติคือให้ตำแหน่ง และข้อสาม คือ เงิน

แต่สิ่งสำคัญ “ผู้นำ” ต้องเอาผลประโยชน์ตัวเองอยู่ที่สาม ผลประโยชน์ที่หนึ่งคือบริษัท คิดถึงองค์กรเป็นอันดับแรก บริษัทไม่มีวิญญาณ ผู้นำต้องใส่จิตวิญญาณให้กับบริษัท ถ้าผู้นำเห็นแก่ตัว บริษัทล้มละลายแน่ แม้เป็นธุรกิจส่วนตัวก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริษัท ตามด้วยพนักงาน เพราะถ้าไม่มีพนักงานช่วยทำ คุณทำคนเดียวไม่สำเร็จ สตาร์ตอัพก็เหมือนกัน

วันนี้ ซี.พี.กำลังทำให้เหมือนกับสตาร์ตอัพ แต่กดดันน้อยกว่าสตาร์ตอัพตรงที่ถ้าทำขาดทุน บริษัทจ่ายให้ แต่ต้องรู้กำไรขาดทุนทุกวัน เรื่องใหม่ต้องให้คนใหม่ทำ ลูกวัวไม่กลัวเสือ เพราะเราให้อำนาจเขาแล้ว ให้โอกาสแล้ว ให้ทุนไปทำแล้ว สำคัญคือต้องให้เขารู้กำไรขาดทุน

ใช้เวลาเขียนหนังสือนาน 8 ปี

นายธนินท์กล่าวว่า ที่ใช้เวลาถึง 8 ปีในการเขียนหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เพื่อดูว่าในระหว่างนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีอะไรที่ดีกว่าไหม และเป็นประโยชน์กับคนอ่าน ทั้งที่ในชีวิตไม่เคยคิดว่าจะทำหนังสือ แต่อ่านหนังสือของแจ็ก เวลช์ แล้วประทับใจที่เขาเปลี่ยนแปลง และได้ฟังคนเก่ง ๆ อย่างแจ็ก หม่า อาลีบาบา ซึ่งยกเป็นอาจารย์ ผมเจอแจ็ก หม่า ตอนเขากำลังทำอาลีบาบา ได้ฟังเขาพูดแล้ว แต่ไม่กล้าลงทุนกับเขา เพราะยังฟังไม่เข้าใจ ทั้งที่ไปเรียนอีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ต เข้าคอร์สที่ฮ่องกง ไปหาซอฟต์แบงก์ด้วย รู้ว่าเทรนด์มันจะมา แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่มีรูปแบบให้เราเห็นว่าเป็นยังไง

กำไรหลายร้อยเท่า แต่ไม่กล้า มองไม่ชัด คิดไม่ออกว่าจะสำเร็จได้ยังไง เพราะมันไม่มีทางเดิน แต่เชื่อว่าเขาเห็น เรามองไม่เห็น แจ็ก หม่า มองเห็นภูเขาเป็นทองทั้งภูเขา แต่เราเห็นแต่ต้นไม้กับหินกับดิน เลยไม่กล้า
ลงทุน

คล้ายเคสเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ฝรั่งมองไม่เห็น แต่ผมมองเห็น ผมเห็นฝรั่งทำสำเร็จแล้วคิดว่า ถ้าเอามาทำที่เมืองไทยจะสำเร็จแน่นอน แต่ฝรั่งบอกว่า เมืองไทยยังไม่พร้อม เพราะรายได้คนไทยน้อยกว่าอเมริกาสิบกว่าเท่า ไม่คุ้ม ยังไม่ถึงเวลาที่จะลงทุน แต่เขาลืมคิดว่าค่าต้นทุนเราถูกกว่าเขาสิบเท่า คิดแล้วมันก็เจ๊ากัน

ไม่ได้ผูกขาดแค่สำเร็จก่อน

นายธนินท์เล่าว่า “อะไรที่เป็นไปไม่ได้  ถ้าผมทำสำเร็จ คนอื่นก็จะไม่ได้ทำ เพราะผมทำแต่ผู้เดียว เหมือนกับผมเลือกของที่ยาก คนฉลาดไม่เอาหรอกครับ คนฉลาดชอบอะไรที่ง่ายและสำเร็จได้ง่าย แต่ผมไม่ใช่ ผมต้องดูว่ายากที่สุดแล้วมีอนาคตไหม ถ้ายาก แต่ไม่มีอนาคต ผมก็ไม่เอา แต่ถ้ายากแล้วมีอนาคต ธุรกิจจะยิ่งใหญ่ ผมจะเข้าไป”

เหตุที่เลือกทำของยากที่สุดเพราะคนเก่งจะได้ไม่มา เนื่องจากคนเก่งคนฉลาดจะเห็นว่ามันไม่มีทางสำเร็จหรอก ให้เขาทำไปเถอะ ไม่เป็นไร ล้มละลายแน่ ซึ่งถือเป็นการเห็นโอกาสก่อน และลงมือทำก่อน แต่ถึงกระนั้นก็ยอมรับว่าซีพีเจอปัญหาเหมือนกัน

“มันเหมือนต่อยมวย ขึ้นเวทีมีคนเดียวเท่านั้น สะดุดขาล้มไปนับ 10 ตื่นขึ้นมาก็เป็นแชมป์เพราะไม่มีคู่ต่อย ถ้าเราสำเร็จเมื่อไร คนขึ้นมาตามก็สายไปแล้ว ซีพีถึงถูกมองว่าผูกขาด พวกคุณต้องเข้าใจ เราผูกขาดที่ไหน แต่เราทำก่อน”

“ตอนเราสำเร็จ ค่อยมาตามช่วงนั้น เราก็ผูกขาดไปแล้ว แต่ไม่มีใครให้เราผูกขาดนะ รัฐบาลไม่ให้ กฎหมายไม่ให้ผูกขาด”

เรื่องความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องบวกเฮง บวกโอกาส บางคนโอกาสมาเร็ว บางคนมาช้า สำหรับผมเจอโอกาสมาเร็ว แล้วก็ทุ่มเท สู้ผ่านวิกฤตปัญหา ยิ่งผ่านวิกฤตก็ยิ่งเก่ง ถ้าคนเก่งเท่ากันแล้วคนหนึ่งเจอวิกฤตและอีกคนไม่เคยเจอ คนที่ผ่านวิกฤตจะเก่งกว่ามาก

“ไปทำงานเหมือนไปเที่ยว”

ด้วยวัย 80 ปี แต่ยังทำงาน นายธนินท์อธิบายว่า ถือว่าการไปทำงานเป็นการไปเที่ยว ต้องอย่าคิดว่าไปทำงาน ให้คิดว่าเป็นเรื่องเล่นเกม คิดว่าไปเที่ยว ไปสนุก คือ ถ้าไปเที่ยวจริง ๆ มันไม่เกิดอะไร แต่ถ้ามาทำงาน
แล้วคิดว่าไปเที่ยวจะเกิดผลประโยชน์ และถ้าเจอปัญหาให้คิดว่า เป็นอาหารสมอง

“เรื่องอุปสรรคและปัญหาถือเป็นอาหาร 3 มื้อของนักธุรกิจ ผมไปออฟฟิศเป็นความสุข ผมว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลง ปัญหามาแน่นอน อะไรที่เรากลุ้มใจก็ให้คนอื่นไปกลุ้มใจแทน เดี๋ยวนี้งานส่วนใหญ่มีคนเก่งทำอยู่แล้ว อย่างของผมบริษัทใหญ่ก็มี ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และทรู ซึ่งทรูกำลังจะแซงซีพี ออลล์แล้ว เรามีคนรับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนผมทำเรื่องใหม่ เรื่องใช้เงิน การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เงิน คือ ศูนย์ผู้นำ ผมบอกเพื่อนร่วมงานว่าเราลงทุนเหมือนโรงงาน โรงงานเห็นโปรดักต์ ส่วนศูนย์ผู้นำไม่เห็นเป็นตัว แต่ได้สร้างคนเก่ง สร้างผู้นำเก่ง ซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ ธุรกิจยุค 4.0 กำลังเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ บริษัทใหญ่ล้มละลายได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง สตาร์ตอัพจะขึ้นมาแซงเป็นผู้ใหญ่แทน อย่างอาลีบาบา 18 ปี แซงบริษัท 100 ปี” นายธนินท์กล่าว

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: