กอ.รมน.เผยจำเป็นต้องแจ้งความ ม.116 “12แกนนำฝ่ายค้าน-นักวิชาการเสวนา” ไม่ทำอาจถูกฟัน ม.157 ยืนยันไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู





“กอ.รมน.” ยัน ไม่ได้กลั่นแกล้ง 12 แกนนำ-นักวิชาการ เสวนาใต้ ชี้ จนท.ทำตามกฎหมาย จำเป็นต้องแจ้งความตาม ม.116 หวั่นหากไม่ทำอาจถูกฟัน ม.157 ระบุ ไม่มองปชช.เห็นต่างเป็นศัตรู ลั่นไม่ได้สืบทอดอำนาจ คสช. แจง เพิ่มบทบาทดูแลมั่นคงมิติ

เมื่อเวลา 11.00 น. 7ต.ค.62 พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่ กอ.รมน .ภาค 4 สน. แจ้งความดำเนินคดี แกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คน ที่ได้จัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า การเสวนาดังกล่าวได้มีการพูดคุยกันซึ่งตอนหนึ่ง มีการพาดพิงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค4 สน. ที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายดำเนินคดีแจ้งข้อหากับผู้ที่เข้าร่วมเสวนาในวันนั้น

สำหรับการดำเนินคดี ยืนยันว่ามีความจำเป็นในเรื่องของการปฎิบัติงาน ถ้ามีการเพิกเฉย หรือละเว้นทางเจ้าหน้าที่ อาจจะได้รับผลกระทบผิดตามมาตรา 157 ได้ คิดว่าการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้  ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้ชี้ขาด โดยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งตนคิดว่าทุกคนคงเข้าใจตรงกัน และเคารพต่อศาล

พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการพูดถึงการปฏิรูป กอ.รมน. นั้นที่ผ่านมา ยืนยันว่ามีการปรับโครงสร้าง ที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ปี 2551 และดำเนินการใน ปี 2552 ซึ่งการดำเนินการ ในการปรับรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมิติด้านความมั่นคง ที่เกิดขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ดังนั้นการปรับโครงสร้างของ กอ.รมน. ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่ ปี 2559 – 2560 ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมิติความมั่นคง เพิ่มวงกว้างอยู่ทุกวัน สิ่งที่เราได้ทำสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการปรับโครงสร้างกอ.รมน.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ส่วนในเรื่องของการปฏิรูป ตนคิดว่าเราไม่ได้ปฏิรูปอะไรเพียงแต่เพิ่มบริบทและความเข้าใจให้ทุกส่วนงาน เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกับทางกอ.รมน.

เมื่อถามว่ามีการพูดว่าเมื่อ คสช. หมดอำนาจลงก็ถ่ายโอนอำนาจมาให้ทาง กอ.รมน.นั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ตนเองคิดว่านัยยะของการเพิ่มอำนาจ น่าจะเป็นการเพิ่มบทบาทมากกว่าที่ กอ.รมน. ต้องเข้าไปเป็นแกนกลางในการประสานงาน เพื่อขับเคลื่อนงานทุกมิติที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันกอ.รมน. ได้ดูแลทุกพื้นที่ หากพื้นที่ไหนมีปัญหาและหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบมากกว่า 2 หน่วยงาน ทางกอ.รมน. ก็จะเพิ่มบทบาทเข้าไปดูแล และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานั้นๆ

“อย่างไรก็ตามความเห็นต่างของพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย และทุกกลุ่มสามารถยอมรับได้ เพราะเรามีระบอบประชาธิปไตย เราไม่เคยมองพี่น้องประชาชนเป็นศัตรู กอ.รมน. ยอมรับกฎกติกา ทุกอย่าง ซึ่งดูได้จากที่กอ.รมน.ได้จัดโครงการสองโครงการหลักขึ้น สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจน อาทิ โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และโครงการพาคนกลับบ้าน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการที่จะมองประชาชน ที่เห็นต่างเป็นศัตรู ไม่ใช่บริบทของกอ.รมน. และเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจ กอ.รมน. มากขึ้นในมิติของความมั่นคง ตนยืนยันว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการ กอ.รมน. ทุกคนจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ในทุกโอกาส และดูแลประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน” พล.ต.ธนาธิป กล่าว

 

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแจ้งความกลับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ มทภ.4 และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ  ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่กองปราบปรามจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ กอ.รมน. และกอ.รมน.ภาค 4 สน.หรือไม่ พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า คิดว่าไม่มีผลกระทบ แต่อย่างใด ซึ่งยอมรับว่าทุกคนต้องทำงานในหน้าที่ของแต่ละคน กอ.รมน. ภาค 4 สน. ถือว่าเป็นหน่วยงานในพื้นที่ ที่เห็นว่ามีการดำเนินการพาดพิง ไปถึงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ กันในวงกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกไปปฎิบัติตามกฏหมาย เพื่อดำเนินคดี

ดังนั้นคำตัดสินใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่จะรู้ว่าใครจะผิดหรือถูกอย่างไร เป็นอำนาจของศาลที่เป็นกระบวนการตัดสินให้ชัดเจนว่าข้อมูลนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็ต้องรอฟังคำสั่งศาลต่อไป ส่วนการปฎิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตนเองคิดว่าไม่มีเฉพาะงานนี้งานเดียว เพราะการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องทำกันต่อไป

เมื่อถามว่ากกรณีนี้ กอ.รมน.ได้รับไฟเขียวจากใครหรือไม่ พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ไม่มีเพราะเป็นการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ที่มีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ หากนิ่งเฉยหรือเพิกเฉยทางเจ้าหน้าที่เองก็จะเกิดผลกระทบในฐานที่ละเลยการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157

ส่วนการไปแจ้งความนั้นมีคนพูดเพียงคนเดียว แต่ไปเหมารวมทั้งหมดนั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ต้องฟังฝ่ายกฎหมายของกอ.รมน. ภาค 4 สน. ว่าจะมีข้อมูลอย่างไร ในส่วนกอ.รมน. ซึ่งเป็นส่วนกลาง ก็ได้มีการติดตามข้อมูลต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องออกมาชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ฝ่ายกฎหมายกอ.รมน. ภาค 4 สน. ออกมาปฎิบัติ แต่รูปคดีเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล

“ผมขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะสิ่งที่ทำยึดตามกฏหมายเป็นหลัก  เนื่องจากมีการพูดพาดพิงข้อความหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ของคนหลายกลุ่ม และเป็นวงกว้าง จึงต้องดำเนินการเป็นรูปธรรมตามกรอบของกฎหมาย” โฆษกอ.รมน. กล่าว

ข่าวจาก : workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: