ก.ค.ศ.หารือด่วน บรรจุครูคืนถิ่น 2 ต.ค. “ธุรการ-ภารโรง” 5หมื่นรายอ่วม โดนปรับเป็น”จ้างเหมา”





เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งชะลอการบรรจุและแต่งตั้งนักศึกษาทุนโครงการการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2562 จำนวน 2,681คน ทำให้ครูจากโครงการดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน เพราะมีการเตรียมพร้อมมาถึง 2 ปี ขณะที่โรงเรียนเองก็รอครูเพื่อไปสอนนั้น อัตราที่สพฐ. จะบรรจุเป็นอัตราเกษียณฯ ปี 2562 ซึ่งสพฐ. ได้เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ขอรับจัดสรรคืนอัตราเกษียณฯ เพื่อบรรจุให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ค.ศ. จึงทำให้ไม่สามารถใช้อัตราว่างดังกล่าวได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา สพฐ.จึงชะลอการบรรจุแต่งตั้งครูในโครงการดังกล่าวไปก่อน จนกว่าก.ค.ศ. จะมีมติคืนอัตรา
“สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด อีกทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในฐานะประธาน ก.ค.ศ. เองก็มีความห่วงใย และได้กำหนดให้มีการประชุมก.ค.ศ. วันที่ 2 ตุลาคม หากก.ค.ศ. มีมติคืนอัตราเกษียณแล้ว จะเร่งบรรจุและแต่งตั้งนักศึกษาทุนครูคืนถิ่น เป็นครูผู้ช่วยโดยเร็ว คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้” นายพีระกล่าว

ด้านนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สภาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการแห่งประเทศไทยและเครือข่ายนักการภารโรง ออกแถลงการณ์ กรณีเกิดความโกลาหล กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยสำนักงบประมาณไม่จัดสรรงบสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวในทุกตำแหน่งกว่า 50,000 คน และได้ให้สพฐ. ปรับวิธีการจ้างจากเดิมตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เป็นตำแหน่งจ้างเหมาบริการ ซึ่งทางสภาพันธ์ เรียกร้องให้กำหนดกรอบอัตรากำลังที่ได้รับผลกระทบ เป็นพนักงานราชการ โดยจะมีการนัดรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ศธ. และทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 ตุลาคมนี้นั้น ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้สพฐ. ได้จัดทำคำของบประมาณ เป็นลูกจ้างชั่วคราวตามปกติ แต่ทางสำนักงบประมาณได้จัดสรรมาเป็นงบจ้างเหมา ซึ่งเข้าใจว่า ธุรการและภารโรงได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับเงินสมทบประกันสังคม โดยการจัดสรรงบดังกล่าว เป็นการดำเนินการของสำนักงบประมาณ ซึ่งในส่วนของสพฐ. เบื้องต้นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดสรรงบ

“สพฐ.จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางแก้ไข เข้าใจว่า ทุกคนได้รับความเดือดร้อน สพฐ.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องรอความชัดเจนก่อน รวมถึงต้องรอดูนโยบายของเลขาธิการกพฐ. คนใหม่ ที่จะมาแทนนายสุเทพ ชิตยวงษ์ อดีตเลขาธิการกพฐ. ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร” นายสนิทกล่าว

 

 

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: