ผู้หญิงชนบทในปากีสถาน เริ่มเย็บผ้าอนามัยใช้กัน หลังจนท.เอ็นจีโอเข้าไปให้ความรู้ เพราะเคยมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับประจำเดือน-ไม่รู้จักผ้าอนามัย





 เอเอฟพี รายงานเรื่องราวเจาะลึกสังคมสตรีชนบทของหมู่บ้านในปากีสถาน ผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ไม่รู้จักผ้าอนามัย และคิดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้าม เมื่อเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเข้าไปให้ความรู้ด้านสุขอนามัย จึงเริ่มมีการผลิตผ้าอนามัย จากการเย็บผ้าด้วยมือ

กรณีนี้เกิดที่หมู่บ้านบูนี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ใกล้กับพรมแดนอัฟกานิสถาน ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามในชุมชนที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง

 

 

เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลท้องถิ่นระบุว่า ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงในหมู่บ้านบูนีไม่รู้จักผ้าอนามัย ขณะที่ผู้หญิงปากีสถาน น้อยกว่า 1 ใน 5 ใช้ผ้าอนามัย วิธีที่ผู้หญิงในชนบททำคือจะใช้เศษผ้ามาซับประจำเดือนโดยเชื่อว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรกและมีข้อห้ามมากมายว่าในช่วงมีประจำเดือนจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านสุขอนามัย

ฮัจรา บิบี วัย 35 ปี เป็นผู้หญิง 1 ใน 80 คนที่ได้รับการอบรมจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร อกา ข่าน รูรัล ซับพอร์ต โปรแกรม ร่วมกับยูนิเซฟ ทำให้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับสุขอนามัยของสตรีและฝึกเย็บผ้าอนามัยทำจากฝ้าย และผ้า

“ฉันเป็นผู้รับมือกับวิกฤตนี้ ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงในหมู่บ้านบูนีไม่รู้จักผ้าอนามัย” ฮาบีบี กล่าวถึงที่มาของการผลิตผ้าอนามัย แผ่นหนึ่งใช้เวลาเย็บประมาณ 20 นาที ขายได้ 20 รูปี หรือ 4 บาท เท่านั้น ซึ่งเธอยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากสามีพิการและรายได้น้อย

เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าตอนแรกมีคนมาถามกันเยอะว่าทำไปทำไม บางคนถึงกับประณามด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ สาวๆ ในหมู่บ้านเปิดปากพูดกันเรื่องประจำเดือนกันได้แล้ว

ส่วนเจ้าหน้าที่ อกา ข่าน รูรัล ซับพอร์ต โปรแกรม เผยว่าก่อนหน้านี้ ผู้หญิงในหมู่บ้านบูนีใช้เศษผ้าซับประจำเดือน แต่ด้วยความเชื่อว่าการมีประจำเดือนเป็นเหมือนความอับอายและไม่ตากผ้าซับประจำเดือน ทำให้อับชื้นและเกิดแบคทีเรีย

ด้านแพทย์หญิงวัสซัฟ ซาเอ็ด คาคัคเฮล ให้ข้อมูลว่า ผู้หญิงในบ้านเดียวกันจะแบ่งกันใช้เศษผ้าซับประจำเดือนอันเดียวกันทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างยิ่ง อีกทั้ง ผู้หญิงหลายคนถูกสั่งสอนมาว่าห้ามซักในช่วงมีประจำเดือน

จากการสำรวจของยูนิเซฟเมื่อปี 2560 พบว่าผู้หญิงปากีสถานครึ่งหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประจำเดือนก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากไม่มีการมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษาในโรงเรียนและไม่ค่อยพูดคุยเรื่องนี้กันเท่าไร แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศที่มีความเชื่อเก่าๆ เช่น วัยรุ่นสาวคนหนึ่งถูกสอนว่าการมีประจำเดือน เกิดจากการเป็นมะเร็งหรือป่วยหนักทำให้มีเลือดออก

แต่โมฮัมหมัด ไฮดาร์ อุลมุลค์ ผู้อำนวยการสาธารณสุขแขวงจิตราล ยืนยันว่าควบคุมปัญหานี้ได้แล้วด้วยการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปให้ความรู้กับหญิงสาว

ส่วนที่นครการาจี เมืองธุรกิจชองปากีสถานซึ่งมีพลเมืองประมาณ 20 ล้านคนน่าจะมีความคิดเปิดกว้างมากกว่าประชากรในเมืองอื่นๆ ของประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงและผู้หญิงชาวกรุงหาซื้อผ้าอนามัยได้ง่าย แม้มีราคาแพง แต่ผู้หญิงหลายคนกระอักกระอ่วนที่จะออกไปซื้อผ้าอนามัยเองและขอให้สามีไปซื้อให้แทน หรือบางคนไปซื้อตอนดึกและบางคนซื้อจากเพื่อนบ้าน

ร้านที่มีผ้าอนามัยขายก็จะห่อด้วยกระดาษทึบ แทนที่จะใส่ถุงใสเหมือนกับสินค้าอื่นๆ เพราะถือว่าประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้ามและมีเรื่องราวลึกลับมากมาย

 

 

 

หลังจากมีความผลักดันให้มีการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนมา 20 ปี ในที่สุด ปากีสถานก็มีการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนเอกชนหลายแห่งในแคว้นสินธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากนักเรียนหญิงมักจะขาดเรียนในช่วงวันนั้นของเดือน

ยูนิเซฟสำรวจพบว่าผู้หญิงร้อยละ 27 ขาดเรียนหรือหยุดงานเนื่องจากปวดประจำเดือนหรือกังวลว่าประจำเดือนจะเปื้อนเสื้อผ้า

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์, สำนักข่าว เอเอฟพี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: