พาณิชย์เผย ข้าวเหนียว-มะนาว-หมู-พริกสดราคาพุ่ง ดันเงินเฟ้อส.ค.สูงขึ้น 0.52%





น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนส.ค. 2562 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อ เดือนส.ค. เท่ากับ 102.80 สูงขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าและชะลอตัว 0.98% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่ส่งผลกระทบยังคงเป็นกลุ่มอาหารสดที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ขณะที่สินค้าในกลุ่มพลังงานกับหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

แต่คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2562 ยังอยู่ในกรอบ 0.8-0.9% ไม่ถึง 1% แน่นอน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังคาดว่าจะโตที่ 1% จากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อนข้างทรงตัว โดยยังมีสัญญาณการชะลอตัวของความต้องการบริโภค หรือประชาชนระมัดระวังการจับจ่าย แต่ยังไม่น่ากังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นการลดลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ไม่ว่าการประกันรายได้เกษตรกร และการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะกระตุ้นให้การบริโภค ทั้งทางตรงและทางอ้อมส่งผลให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ 0.49% ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้น 0.87%

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภาพรวมของเดือนส.ค. 2562 ที่นำมาคำนวณ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ จำนวน 422 รายการ มีสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 221 รายการ โดยเฉพาะข้าวเหนียว สูงขึ้น 27.3% มะนาว สูงขึ้นกว่า 70% เนื้อหมู สูงขึ้น 10.2% และพริกสด สูงขึ้น 22% รวมถึงค่าโดยสารรถสาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง มี 112 รายการ เช่น น้ำมันพืช ตามราคาปาล์มที่ลดลง และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนสินค้าที่ทรงตัว มี 89 รายการ

“การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลง 1.7% และ 2.3% ตามลำดับ โดยหมวดอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหมวดเกษตรกรรมที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหักราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว พบว่าเงินเฟ้อในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว สอดคล้องกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งจากการใช้จ่ายในประเทศและการนำเข้า การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับความเชื่อมั่น) เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวค่อนข้างสูง รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.3 ชี้ว่านักลงทุนและผู้บริโภคยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกที่สนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาและการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐได้ผลยิ่งขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: