“บิ๊กแดง” แนะดู “The Great Hack” เหมาะเป็นบทเรียนเทียบพรรคการเมืองไทยที่ใช้โซเชียล ปั่นหัวเยาวชน





“บิ๊กแดง”แนะดูหนัง The Great Hack ถอดบทเรียนใช้ “โซเชี่ยลมีเดีย”สร้างคะแนนนิยมให้นักการเมืองในสหรัฐ ใกล้เคียงกับการเมืองไทย หลังพบพรรคการเมืองสร้างกระแส ผลิตข้อมูลให้เยาวชนซึมซับ เผยบทความกึ่งวิทยานิพนธ์มี 3 ตอน เสร็จปลาย ส.ค.นี้   

30 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์  ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเขียนบทความกึ่งวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ใกล้เขียนบทความกึ่งวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้นแล้ว โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน ประเด็นหลัก คือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง คาดว่าจะจัดทำเนื้อหาเสร็จสิ้นประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ และจะได้นำมาเปิดเผยตามที่ได้ระบุไว้

แหล่งข่าว ระบุว่า ขณะนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ให้ความสนใจติดตามดูภาพยนตร์สารคดี เรื่อง The Great Hack ทาง Netflix ว่าด้วยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากโซเชียลมีเดียของบริษัท Cambridge Analytica (CA) และหาประโยชน์จากข้อมูลนั้นให้ฝ่ายการเมืองช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 โดย The Great Hack นำเสนอการสืบสวนเจาะลึกบริษัท Cambridge Analytica โดยตรง เปิดโปงวิธีการใช้ข้อมูลและวิธีการใช้โซเชียลเป็นช่องทางในการควบคุมความคิดทางการเมืองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ แนะนำให้คนใกล้ชิดได้ติดตามดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว โดยมองว่ามีความใกล้เคียงกับการเมืองของไทยเช่นกัน 

แหล่งข่าว ระบุว่า พล.อ.อภิรัชต์ ยังให้ความสนใจความคิดทางสังคม และการเมืองของเยาวชน โดยเฉพาะความนิยมต่อกระแสของนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่จะรับและซึมซับข้อมูลเหล่านั้น โดยไม่รู้ตัวและพรรคการเมืองจะใช้ประโยชน์จาก Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกจากพฤติกรรมการของคนที่ใช้เฟซบุ้ค กูเกิ้ล  ในการค้นหาสิ่งที่สนใจ โดยนำข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์หาวิธีการเข้าถึง

ทั้งนี้เป้าหมายของฝ่ายการเมืองต้องการสร้างกระแสนิยม เพื่อสนับสนุนให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจ หรือต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง จึงได้ใช้โซเชียลมีเดียในการรุกอย่างหนัก และหวังผลเปลี่ยนแปลงในระดับของความคิด และพฤติกรรม ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนที่ควรศึกษา และติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งได้ง่าย โดยทุกฝ่ายต้องรู้เท่าทัน และรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงและการเผชิญหน้าในประเทศของเรา

ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: