เปิดชีวิต “ผกก.กบ” ตชด.ปิดทองหลังพระ นายร้อยตำรวจคนแรกจบ”ซีล” เคยเกเร เรียนซ้ำชั้น ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย





ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ พ.ต.อ.รังสรรค์ เนตรเกื้อกิจ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือที่ในวงการตำรวจเรียกขานว่า “ผู้กำกับกบ” นายตำรวจวัย 45 ปีที่เส้นทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โลดโผนโจนทะยานสุดๆ

ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา พ.ต.อ.รังสรรค์ อาจจะไม่ใช่นายตำรวจคนดัง ทำงานท่ามกลางแสงแฟลช หลายคนบอกว่า เขาคือผู้ปิดทองหลังพระ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาคือผู้เสริมเขี้ยวเล็บให้ข้าราชการตำรวจไทย อาทิ การส่งกำลังทางอากาศ, การกระโดดร่มขั้นสูง, การต่อต้านการก่อการร้าย และอีกมากมาย

พ.ต.อ.รังสรรค์ เริ่มต้นบอกเล่ากับทีมข่าวอย่างไม่เหนียมอายว่า ผมมาจากครอบครัวที่มีพ่อเป็นข้าราชการทหารบกชั้นประทวน (ต่อมาสอบเลื่อนขั้นเป็นสัญญาบัตร) ส่วนแม่เป็นแม่ค้าขายผักในตลาด ไม่ได้ร่ำรวย มีเงินทองกองโตแต่อย่างใด



“ผมเป็นลูกชายคนเดียวในบรรดาพี่น้อง 3 คน พ่อแม่คาดหวังอยากให้เป็นทหารตำรวจ สมัยสอบเข้ามัธยมปลาย ท่านพาไปสอบเข้าตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม(บ้านเกิด) แต่ก็สอบเข้าไม่ได้เลย เพราะที่ผ่านมาผมเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ทำให้พ่อต้องถูกครูฝ่ายปกครองเชิญไปที่โรงเรียนตลอด จนสุดท้าย ผมก็ได้เข้าโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ไกลจากบ้านมากๆ”

“เวลานั้น ความฝันของผมคือ การได้เป็นนักเรียนนายร้อย แต่ผลการเรียนของผมมันย่ำแย่มาก ผมสอบตกหลายวิชา โง่จนอับอายเพื่อน ไม่อยากอยู่โรงเรียนนี้แล้ว ผมจึงตัดสินใจบอกพ่อกับแม่ว่า ขอย้ายโรงเรียน และผมรู้ดีว่า การย้ายโรงเรียนต้องเรียนซ้ำชั้น 1 ปี ซึ่ง ณ เวลานั้น ผมมองว่า การสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารต้องใช้ความรู้ไม่เกิน ม.4 ผมตัดสินใจเรียนซ้ำชั้น 1 ปี และสัญญากับพ่อแม่ว่า ถ้ายอมให้ผมย้ายโรงเรียน และให้ผมเรียนซ้ำชั้นอีกปี ผมจะสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้แน่นอน



“พอย้ายไปโรงเรียนใหม่ ผมสอบได้ที่ 1 ตลอด เพราะผมเรียนมาหมดแล้วไง(หัวเราะ) บวกกับเรียนพิเศษด้วย จากนั้น ผมก็ไปสอบโรงเรียนเตรียมทหาร และผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่หวัง ผมสอบติด ผมจำได้เลยว่า ตอนนั้นพ่อกับแม่ผมดีใจมาก เอาหนังกลางแปลงมาฉาย 2 วัน 2 คืน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเงินมีทองอะไรมากนัก” พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี

“ความสำเร็จในครั้งนั้น เป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีเลยนะครับว่า ความเก่ง ความฉลาด อานุภาพไม่เท่าความพยายาม” พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกเล่าจากประสบการณ์





กระทั่ง จบการศึกษาได้เป็นนายร้อยตำรวจอย่างที่ฝัน (นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 35 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 51) หมวดหนุ่มๆ หน้าใหม่อย่าง รังสรรค์ ก็ตัดสินใจเลือกมาประจำอยู่ที่ตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด.



ณ เวลานั้น การเป็นตำรวจ ตชด.ไม่ใช่จุดหมายที่นายร้อยตำรวจฝันใฝ่ และเป็นหน่วยนอกสายตาที่ไม่มีใครอยากจะเยื้องย่างเข้าไป แต่ พ.ต.อ.รังสรรค์ กลับให้เหตุผลถึงการตัดสินใจของเขาในเรื่องนี้ว่า “ผมเลือกที่จะมาอยู่ที่นี่ เพราะอยากอยู่ที่นี่ ผมเลือกที่จะไม่ไปจากที่นี่ เพราะที่นี่เป็นสิ่งที่ผมรัก หากวันหนึ่งเรารักสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็คงไม่อยากพรากจากมัน”

“ผมอยู่ที่นี่มา 20 กว่าปี ไม่ต้องบรรยายด้วยคำพูด แต่ขอให้พิสูจน์ด้วยการกระทำ ถามว่า ผมมีโอกาสย้ายไปอยู่ภูธร, นครบาล, ทางหลวง ได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ผมไม่ไป” สายตาของ พ.ต.อ.รังสรรค์ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น





พ.ต.อ.รังสรรค์ ยังเล่าถึงเรื่องราวชีวิตอันโลดโผนของเขาให้ทีมข่าวฟังอีกว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นผู้กอง(ยศร้อยตำรวจเอก) ผมตัดสินใจไปเรียนหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบ (SEAL) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ข้าราชการทหารหลายคนใฝ่ฝันอยากได้เครื่องหมายอันทรงเกียรตินี้มาประดับหน้าอก เพราะหลักสูตรนี้มีการฝึกค่อนข้างหนัก โหด และยากลำบากอย่างมาก ดั่งกับคำนิยามที่ว่า สอนให้เป็นคนเหนือคน



“ผมเป็นนายร้อยตำรวจคนแรกของโรงเรียนนายร้อยที่จบหลักสูตรมนุษย์กบ เพราะ ณ เวลานั้น นายร้อยตำรวจยังไม่ได้สนใจที่จะไปเรียนหลักสูตรนี้ แต่จะมุ่งไปที่งานสอบสวน สืบสวน ปราบปราม อาชญากรรม แต่ผมชอบลุยๆ และอยากฝึกทักษะด้านอื่นๆ เพิ่มเติม จึงตัดสินใจไปเรียนหลักสูตรมนุษย์กบ”



ผมต้องอดทน ต่อสู้กับใจ พยายามเอาชนะความเหนื่อยยากและความทรมาน จนสามารถเรียบจบหลักสูตร และได้เครื่องหมายที่ขึ้นชื่อว่า หฤโหดที่สุดมาประดับหน้าอก” พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกเล่าถึงช่วงชีวิตที่สามารถผันผ่านเหตุการณ์หนักหนาที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ



เมื่อการฝึกหลักสูตรมนุษย์กบเสร็จสิ้น ผู้กองรังสรรค์ที่ยังหนุ่มแน่นก็กลับมาทำงานที่หน่วยเช่นเดิม กระทั่งจุดเปลี่ยนผ่านในชีวิตเกิดขึ้น “สมัยที่ผมมาอยู่ที่ ตชด.ได้ปีแรกๆ ณ เวลานั้นมีการส่งตำรวจตระเวนชายแดนไปเป็นทหารเสือพระราชินี ซึ่งผมเป็น 1 ในผู้ที่ได้รับโอกาสตรงนั้น และเมื่อได้เข้าไปทำงาน จึงทำให้ผมรู้สึกว่า แม้ตำรวจตชด.จะเป็นหน่วยงานที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือสนใจ แต่อย่างน้อยก็เป็นหน่วยที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกเล่าอย่างภาคภูมิ

เมื่อถึงเวลาที่ ร.ต.อ.รังสรรค์(ตำแหน่ง ณ เวลานั้น) ต้องกลับมาทำงานที่หน่วยต้นสังกัดอย่าง ตชด. แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น…



“พอผมกลับมาทำงานที่หน่วย ตอนนั้นผมอายุสามสิบต้นๆ ชีวิตราชการกำลังไปได้สวย แต่ผมก็ได้พบว่า ผมป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ซึ่งความรู้สึกของผมตอนนั้น คือ นี่คือช่วงสุดท้ายของชีวิต




“ในช่วงที่ผมนอนรักษาตัวอยู่ ชีวิตมันสิ้นหวัง เหมือนนอนนับคืนนับวันที่จะหมดลมหายใจ ผู้หญิงที่คบหากันมานานไม่ได้ทอดทิ้งไปไหน เธอก็พร้อมที่จะแต่งงานกับผม โดยที่ไม่กลัวว่าผมอาจจะใช้ชีวิตคู่กับเธอได้ไม่นาน ความรู้สึกตอนนั้นของผมสับสน และวกวนอยู่กับความเศร้า”




“แต่อยู่มาวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ของพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ก็นำแจกันดอกไม้มาเยี่ยมผม และพระองค์ท่านก็ยังรับผมไปเป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์ โดยที่ผมรักษาตัวอยู่ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ”





“เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า แม้ตำรวจตชด.จะทำงานแบบไม่ได้มีลาภยศสรรเสริญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็ยังมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของผม กระทั่งปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้น ผมหายป่วยจากมะเร็ง และด้วยเหตุผลที่มาที่ไปเหล่านี้ ผมจึงเลือกอยู่ที่นี่ ทำงานที่นี่ ใช้ชีวิตที่นี่ เพราะที่นี่เป็นหน่วยที่ให้ชีวิตใหม่กับผม จนผมมีวันนี้ วันที่ผมฝึกลูกศิษย์ลูกหาออกไป ทำงานรับใช้ชาติ รับผิดชอบต่อประชาชน” พ.ต.อ.รังสรรค์ ทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกจากหัวใจ

ข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: