ปูนบำเหน็จ 8 ขั้น “น.ต.ณฤพล” ครูฝึกนักบิน เลื่อนยศเป็น “พล.อ.ท.”





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับศพครูการบิน L-39 ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตลอด 7 วัน ขณะกองทัพอากาศ จัดพิธีรับศพสมเกียรติ ผบ.ทอ. ยกย่องวีรกรรมนักบินเสียสละ บังคับเครื่องไม่ให้ลงพื้นที่ชุมชน ปูนบำเหน็จพิเศษ 8 ขั้น เลื่อนยศเป็น “พล.อ.ท.”

วันนี้ (12 ก.ค.2562) พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีรับศพ น.ต.ณฤพล เลิศกุศล หัวหน้าฝ่ายการข่าว ฝูงบิน 411 กองบิน 41 ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน จากเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 (L-39) ประสบอุบัติเหตุขณะทำการฝึกบินสกัดกั้นในการควบคุม บริเวณพื้นที่บ้านป่าแดด จ.เชียงใหม่ โดยกองทัพอากาศ ได้จัดเครื่องบิน C-130 เคลื่อนศพจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ มายังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พร้อมจัดกองทหารเกียรติยศประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ ก่อนที่จะนำร่างไปบำเพ็ญกุศล ที่ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัว และญาติของผู้เสียชีวิต พร้อมกล่าวยกย่องวีรกรรม หลีกเลี่ยงนำเครื่องตกบ้านเรือนประชาชน ทำให้สละอากาศยานไม่ทัน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตลอด 7 วันทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศได้สั่งการให้คณะกรรมการตรวจสอบอากาศยานอุบัติเหตุกองทัพอากาศเข้าพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูล และตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว

อีกทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้านสิทธิกำลังพล มอบให้แก่ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ดังนี้ ได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษ 8 ขั้น ได้รับพระราชทานยศ เป็น พล.อ.ท. และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก ต.ช. เงินบำนาญพิเศษรายเดือน ประมาณ 33,304 บาทต่อเดือน และเงินสงเคราะห์ข้าราชการเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเงินสงเคราะห์อื่นๆ ประมาณ 3.4 ล้านบาท

ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวอีกว่า ยังต้องรอการตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ เบื้องต้นทราบเพียงเครื่องยนต์ดับ แล้วร่อนลง พยายามนำเครื่องกลับที่ตั้ง ซึ่งเป็นวิสัยของนักบินที่จะไม่ทิ้งเครื่องง่ายๆ

สาเหตุของการเครื่องดับนั้นมีอยู่หลายปัจจัยอย่างด่วนสรุปไม่ได้ ส่วนการสละเครื่องบินด้วยการดีดตัว ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเครื่องบินนั้นว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนและต้องสัมพันธ์กับความเร็วความสูง ซึ่งปกติจะต้องโดดร่มก่อนระยะสูง 2,000 ฟุต

แต่กรณีนี้ นักบินที่ 1 ซึ่งอยู่ด้านหน้า โดดร่มเป็นคนแรก โดยครูฝึก ซึ่งเป็นนักบินที่ 2 และนั่งอยู่ด้านหลังเสียสละให้ นักบินที่1 ทำการโดดร่มก่อน ทั้งที่ปกติคนที่นั่งด้านหลังจะต้องโดดร่มก่อน เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้นักบินที่ 1 เริ่มโดดร่มที่ความสูง 1,700 ฟุต ซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะความสูงในพื้นที่เชียงใหม่ ก็ประมาณ 1,000 ฟุตแล้ว เหลือเพียง 700 ฟุต ส่วนนักบินที่ 2 ยังไม่ทราบคงต้องตรวจสอบต่อไป ซึ่งจริงๆ คงเขาคงจะพยายาม บังคับเครื่องไม่ให้กระทบบ้านเรือนประชาชน ไม่อย่างนั้น เขาก็โดดไปนานแล้ว เขารู้อยู่แก่ใจดี

ข่าวจาก ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: