พปชร.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญจำหน่ายคดี27ส.ส.ถือหุ้นสื่อ อ้างอนาคตใหม่ยื่นผิดรูปแบบ





“พปชร.”มาเหนือเมฆ ยื่นศาลรธน.จำหน่ายคดี 27 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ อ้างอนาคตใหม่ทำผิดรูปแบบ เป็นหนังสือ ทั้งที่ต้องเป็นคำร้อง พร้อมขอไต่สวน 2 ครั้ง ก่อนรับพิจารณาและสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ให้โอกาสผู้ถูกร้องนำหลักฐานเข้าสู้เหมือน “ธนาธร”

วันนี้(20 มิ.ย.) นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาจำหน่ายคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 66 คน ขอให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ทั้ง27 คนของพรรคพปชร.ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ และขอให้ศาลไต่สวนว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอและมีมูลที่จะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ และหากศาลสั่งรับให้ไต่สวนว่าควรที่ศาลจะสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยให้โอกาส ส.ส.ผู้ถูกร้องมีแสดงพยานหลักฐาน

นายทศพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบสำนวนพบว่า 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นเรื่องนี้ต่อประธานสภาฯและประธานนำส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญมีการทำเป็นหนังสือ จึงไม่ถูกต้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (5) และมาตรา 41 ว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง ต้องกระทำเป็นคำร้อง จึงเห็นว่าเมื่อการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็สมควรว่าศาลจะจำหน่ายคดี

นายทศพล กล่าวอีกว่า แต่ถ้าหากศาลเห็นว่า เรื่องดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ก็ขอให้ศาลมีการไต่สวน 2 ครั้ง  โดยครั้งแรกเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ เพราะเรื่องนี้เป็นการยื่นมาโดยไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมพยานหลักฐาน มีเพียงเอกสาร ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทของ 27 ส.ส.พรรคพปชร.ไม่เหมือนกัน โดยที่ทั้ง 27 คนไม่ได้มีโอกาสชี้แจง แต่อยู่ๆ ก็มีคนเอาเอกสารมาแล้วบอกว่าผิด ซึ่งต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. ที่ถูกร้อง ซึ่งผ่านการชี้แจงโต้แย้ง และหอบเอกสารมาเป็นลัง

กรณีดังกล่าวประชาชนไม่เข้าใจคิดว่าเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกัน เพราะกรณีของ 27 ส.ส.ไม่ได้ผ่านกระบวนสืบสวนสอบสวน รวบรวม พยานหลักฐาน และการชี้แจงไม่มีเลย จึงต้องขอโอกาสในการชี้แจง และถ้าหากศาลไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ให้ไต่สวนอีกเพื่อให้พิจารณา ควรจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ที่ทางพรรคขอเช่นนี้ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 พึ่งออกมาใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัด ต่างจากที่ผ่านมาที่ใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัด ว่าอะไรที่ยื่นเป็นคำร้อง และอะไรยื่นเป็นหนังสือ เมื่อการยื่นเรื่องมันผิดแล้วมีการพิจารณาไป คำวินิจฉัยก็จะผิด

ดังนั้นในเมื่อกระบวนการผิดก็ต้องทำให้มันถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย  และการขอไต่สวนก็เป็นการที่เราขอโอกาสพิจารณาคดีเหมือนของนายธนาธร เท่านั้นเอง”

นายทศพล ยังเชื่อว่า คำร้องที่ทางพรรคพปชร.ยื่นจะมีผลเฉพาะตัวกับ 27 ส.ส.เท่านั้น ไม่ได้มีผลไปเอื้อให้กับ ส.ส.รายอื่นที่ถูกร้องด้วยแต่ไม่ได้ยื่นคำขอไต่สวนหรือคุ้มครอง เว้นแต่ในประเด็นข้อกฎหมาย ถ้าศาลบอกว่าผิด ก็จะผิดไปทั้งหมด

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: