อัยการปรเมศวร์ตั้งข้อสงสัย คนที่จ้องเล่นงานช่อ จะปกป้องพ่อ หรือแค่มี ‘โทสาคติ’





อัยการปรเมศวร์ ไม่หยุด! ถามต่อ ที่จ้องเล่นงานช่อ จะปกป้องพ่อ หรือแค่มี ‘โทสาคติ’ ชี้ โฆษกตำรวจก็บอกแล้วว่ากำลังสอบสวน ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ซึ่งถูกต้องที่สุด พูดกันบ่อยๆ สถาบันจะเสียหาย และ สร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้น

กลายเป็นกระแสร้อนแรงตลอดสัปดาห์ผ่านมาในสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับกรณีที่มีการแชร์ภาพของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ถ่ายรูปพร้อมกับกลุ่มเพื่อนขณะสวมชุดครุยในวันรับปริญญา เมื่อปี 2553 (เกือบ 10 ปี) ซึ่งหลังจากเกิดกรณีดังกล่าว น.ส.พรรณิการ์ ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับภาพที่เกิดขึ้นแล้ว โดยขอภัยพร้อมขอว่า อย่านำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีกันทางการเมืองอีกเลย

โดยความเห็นของเรื่องนี้ มีทั้งสองฝ่าย ทั้งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว ความคิดของคนย่อมเปลี่ยนไป และไม่อยากให้นำสถาบัน มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป เพราะบทเรียนที่ผ่านมาก็มีให้เห็นกันอยู่ กับอีกกระแสก็คือ ต้องการให้ช่อแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการยอมรับ และ ขอโทษ เลยเถิดเรียกร้องผลักออกจากพรรคอนาคตใหม่ และให้ยุติบทบาททางการเมือง ไล่ออกนอกประเทศ มีถึงขนาดเรียกร้องให้สถาบันการศึกษา ที่ช่อจบมานั้น คืนใบปริญญา ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงการเมืองและบุคคลสาธารณะ

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ก็เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ โดยตอนแรก ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ตอนเราเด็ก​เราก็คิดอย่างเด็ก​ พอเราโต​เราคิดอย่างผู้ใหญ่​ ทำไมต้องถอยหลังไปเล่นงานตอนเขาเป็นเด็กเมื่อ​ ​9​ ปี ที่แล้ว​ เพื่ออะไร?”

และล่าสุด นายปรเมศวร์ ก็ยังคงยืนยันที่จะแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ต่อไปอีก โดยโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กล่าสุด อธิบายขายความถึงกรณีนี้ลึกลงไปอีก โดยระบุว่า

ไม่ตอบโต้ใคร ไม่ตำหนิใคร แต่นักกฏหมายสายบ้านเมืองอย่างเราต้องเข้าใจ”หลักอินทรภาษ” (เรียนมาตั้งแต่ปีหนึ่ง และบางคนลืมหมดแล้ว) ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระอินทร์ที่มีต่อบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นตุลาการว่า การที่จะเป็นตุลาการที่ดีนั้นจะต้องไม่มีอคติ 4 ประการ คือ

1. ฉันทาคติ “รัก” เพราะเป็นลูก เป็นเมีย เป็นญาติ
2. โทสาคติ “โกรธ” เพราะเป็นคู่อาฆาต คู่ศัตรู เคียดแค้นแล้วจ้องจับผิดเพื่อเล่นงานกัน
3. ภยาคติ “กลัว” เพราะโจทก์เป็นผู้มีอำนาจ ถ้าไม่ตัดสินลงโทษจำเลยตามที่เขาสั่ง ก็กลัวว่าเขาจะไม่ชอบ
4. โมหาคติ “หลง” คือ “ความไม่รู้จริง” อาจทำให้ตัดสินผิด ๆ ได้

ฉะนั้น ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงบอกว่า การเป็นตุลาการที่ดี(หรือการตัดสินใครก็ตาม) จะต้องไม่มีอคติ 4 ประการนี้ และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์ โดยครองธรรมอันเป็น “จัตุรัส” คือ เป็นรูป 4 เหลี่ยมไม่พลิกไปพลิกมา ใครก็ตามถ้าตัดสินความโดยมีอคติ ก็จะทำให้ชีวิตเสื่อมถอยประดุจพระจันทร์ข้ามแรม ใครก็ตามที่ตัดสินความโดยปราศจากอคติ 4 ประการ ก็จะทำให้อิสริยยศ ลาภยศต่าง ๆ เจริญรุ่งเรืองประดุจพระจันทร์ข้างขึ้น นี่คือหลักอินทภาษที่นักกฎหมายที่ดีพึงยึดถือปฏิบัติ มิใช่หาเรื่องคนโน้นคนนี้ไปเรื่อยๆ แล้ว

เรื่องที่เกิดขึ้น ผมถามว่า “เพื่ออะไร?” คำตอบอยู่ตรงที่ว่า ถามจริง ๆ เถอะทำเพราะปกป้อง “พ่อ” หรือทำ “โทสาคติ” ถ้าทำเพราะปกป้อง”พ่อ” มันควรจะทำตั้งแรกที่เขาปรากฎตัวในสังคม มุมมองที่ต้องวิเคราะห์ตามประสาคนใช้กฏหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยและเพื่อการปรองดองของคนในสังคม โฆษกตำรวจก็บอกแล้วว่ากำลังสอบสวน ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ซึ่งถูกต้องที่สุด พูดกันบ่อยๆ สถาบันจะเสียหาย และ สร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้นนะครับ

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์, เฟซบุ๊ก นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: