เปิดภูมิหลังมหาเศรษฐี “เจริญ สิริวัฒนภักดี” จบแค่ ป.4 ครอบครัวขายหอยทอด สู่ความรวยติดอันดับโลก





ใครจะไปเชื่อว่าประเทศเล็กๆ ของเรา จะมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจติดอันดับโลก โดยเจ้าของธุรกิจชาวไทย 6 ราย ถูกจัดให้รวยขั้นมหาเศรษฐี รวมอยู่ใน 500 คนของโลก  “Bloomberg Billionaires Index” สหรัฐอเมริกา ปี 2019   มี คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีทรัพย์สมบัติ ติดอันดับที่ 310 ด้วยทรัพย์สินมูลค่ารวม 5.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.60 แสนล้านบาทไทย

นายกองเอกเจริญ สิริวัฒนภักดี (กองอาสารักษาดินแดน) ประกอบธุรกิจหลายแขนง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ถึงแม้ว่าจะถูกล้มแชมป์อันดับ 1 ของประเทศไทย โดยคุณนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ไปเมื่อปีก่อน แต่ชื่อเสียงและความเติบโตในการทำธุรกิจระดับโลกไม่ได้ลดน้อยถอยลง ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ย้อนประวัติความเป็นมากว่าจะมีวันนี้ของ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี 

จบ ป.4 เกิดจากครอบครัว “ขายหอยทอด”

คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 นามสกุลเดิมคือ ศรีสมบูรณานนท์ ชื่อจีน คือ โซวเคียกเม้ง หรือเรียกว่า เม้ง เป็นคนจีนแต้จิ๋ว เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายติ่งเลี้ยง แซ่โซว และนางเซียงเต็ง แซ่แต้ มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน

ครอบครัวของคุณเจริญ มีอาชีพขายหอยทอด อยู่ในซอยติดกับโรงเรียนเผยอิง ย่านจักรวรรดิ เค้าถูกอบรมแบบคนจีนสมัยก่อน ท้ายที่สุด คุณเจริญ เรียนจบเพียงชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเผยอิง โดยคุณเจริญเป็นคนมีหัวการค้าตั้งแต่เด็กๆ เอาของมาขายในโรงเรียนเป็นประจำ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่เอ็นดูของผู้ใหญ่ เมื่ออายุได้ 11 ขวบ จึงเลิกเรียนหนังสือ ไปรับจ้างเข็นรถสินค้าและขายของตามฟุตปาท และใช้ชีวิตด้วยความคิด ประหยัดอดออม จวบจนมีโอกาสได้ย่างก้าวเข้าไปสู่แวดวงธุรกิจใหญ่โต 

ประกอบธุรกิจมากมายขยายอาณาจักรระดับโลก 

คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ประธานกรรมการบริษัท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของบริษัทเบียร์ช้าง และ บริษัทในเครือ สมาชิกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อดีตอุปนายกอาวุโส ในสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนั้นยังเข้าเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เจ้าของกิจการ โรงแรม พลาซ่า แอททินี่ ในกรุงเทพมหานคร และในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ย้อนไป เมื่อปี พ.ศ. 2504 คุณเจริญ ได้เป็นลูกจ้างของชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยคนหนึ่ง ในบริษัท “ย่งฮะเส็ง” และห้างหุ้นส่วนจำกัด “แพนอินเตอร์” ที่จัดส่งสินค้าให้ “โรงงานสุราบางยี่ขัน” นำมาสู่การรู้จักกับ “นายจุล กาญจนลักษณ์” ผู้เชี่ยวชาญการปรุงรสสุรา “แม่โขง” เข้าสู่วงการธุรกิจสุราด้วยการชวนของ “เถลิง เหล่าจินดา” แห่งกลุ่มสุราทิพย์ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นปรปักษ์กับตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นเจ้าพ่อในวงการนี้มายาวนาน

ในปี พ.ศ. 2525 “เถลิง เหล่าจินดา” ตัดสินใจวางมือ จากนั้นคุณเจริญ ขยับนั่งเก้าอี้บริหารงานเต็ม และสามารถเอาชนะกลุ่มเตชะไพบูลย์ โดยเข้ายึดครองกลุ่มสุรามหาราษฎร อย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2530 ในขณะเดียวกันนั้น พ่อตาของคุณเจริญ (นายกึ้งจู แซ่จิว) ก็เข้ายึดกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจจากตระกูลเตชะไพบูลย์อีกสายหนึ่ง ต่อมาคุณเจริญและพ่อตา ซึ่งมีสองขาทางธุรกิจที่หนุนเนื่องกัน (ธุรกิจสุราและการเงิน) กำลังเริ่มเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2530 เขาก็เข้ายึดครองกิจการการเงิน ทั้งธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไว้ ทั้งๆ ที่ธุรกิจการธนาคารสำหรับสังคมไทย ถูกปิดสำหรับคนนอกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากจุดนี้จึงถือว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างอาณาจักรที่มั่นคงและโหมโรงการขยายตัวอย่างเชี่ยวกรากในเวลาจากนั้นมา  

เส้นทางการเติบโต 

  • ปี 2518 บริษัท ธารน้ำทิพย์ ผู้ผลิต ธาราวิสกี้ ของ พงส์ สารสิน และ ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ประสบภาวะขาดทุนและประกาศขาย กลุ่มเจ้าสัวเถลิงและคุณเจริญจึงเข้าซื้อกิจการ ซึ่งก็คือบริษัท แสงโสม ในปัจจุบัน
  • ปี 2529 คุณเจริญ ที่ได้กลายเป็นเจ้าสัวไปแล้ว ได้เข้าสู่ธุรกิจธนาคารและการเงิน ด้วยความช่วยเหลือของพ่อตา เข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารมหานคร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มหาธนกิจ ซื้อหุ้นในบริษัท อาคเนย์ประกันภัย และอีกหลายกิจการ
  • ปี 2537 ซื้อกิจการกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล ที่มีโรงแรมในเครือจำนวนมากจาก นายอากร ฮุนตระกูล และจากนั้นเจ้าสัวเจริญก็ขยายธุรกิจอย่างไม่เคยหยุดยั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีทายาท 5 คน พร้อมสานต่อ คือ นางอาทินันท์ พีชานนท์, นางวัลลภา ไตรโสรัส, นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, นางสาวฐาปนี สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี
  • ปี 2549 การเทคโอเวอร์ โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ของ ตัน ภาสกรนที
  • ปี 2550 หุ้นยูนิเวนเจอร์ (UV)
  • ปี 2551 ตึกเนชั่น
  • ปี 2553 บริษัทเสริมสุข
  • ปี 2559 สร้างความฮือฮาวงการธุรกิจไทย กว้านซื้อหุ้นบิ๊กซี จากกลุ่มบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของฝรั่งเศส
  • ปี 2555 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นนายกองเอก

ส่วนผลิตภัณฑ์ภายใต้กิจการของเจ้าสัวเจริญ ที่พบเห็นกันบ่อยเป็นประจำประกอบด้วย โออิชิ (ทั้งร้านอาหาร และเครื่องดื่ม), เบียร์ช้าง, สุราแสงโสม, Blend285, แรงเยอร์, est และกลุ่มธุรกิจสื่ออย่าง อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง รวมถึงแลนด์มาร์กดังริมเจ้าพระยาอย่างเอเชียทีค ล้วนแล้วแต่เป็นของเจ้าสัวที่ชื่อว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสิ้น.

อดทน เสียสละ เงียบ ร่าเริง

คุณเจริญ มักจะท่องไว้เสมอ 4 คำในใจ  คือ “อดทน เสียสละ เงียบ ร่าเริง” เพราะความอดทน ก็คือทำให้สำเร็จ การเสียสละทำให้พ้นภัย การนิ่งเงียบทำให้มีสติ สติทำให้เกิดปัญญา ร่าเริงทำให้สุขภาพดี พร้อมมองโลกในทางบวก ถ้าจะกล่าวโดยคร่าวๆ 4 คำนี้ หมายความตรงตัวก็คือตั้งใจทำงานไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร ไม่ต้องไปสร้างเรื่องราวอะไรให้มันวุ่นวาย ถ้าเกิดมีเรื่องอะไรก็หยวนๆ ทั้ง 4 คำนี้จึงเป็นการสะท้อนกลับสู่ตัวคุณเจริญเอง 

สอนลูกให้ซึมซับ จดจำ เรียนรู้วิธีคิด

หลักยึดในการทำงานที่ส่งต่อสู่ลูกชาย ให้พร้อมเติบโตมาเป็นนักบริหารสืบทอด โดยการให้ลูกอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมด้วยผู้ใหญ่ นักธุรกิจ เพื่อให้ฟัง ซึมซับ จดจำ เรียนรู้วิธีคิด  

“การเที่ยวเล่นซนก็มีบ้างตามประสาวัยรุ่น แน่นอนอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ เคยไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนคุณพ่อ คุณพ่อถามว่าจะไปไหน ผมบอกไปชะอำ คุณพ่อบอกว่า งั้นดีเลย มีคุณลุงปัญญา คุณลุงสวน ท่านก็เฮฮาดีนะ แต่ผมไปกับเพื่อนผมด้วยนะ เพียงแต่ว่าไปไหนก็มีผู้ใหญ่ไปด้วย ตั้งแต่เด็กๆ มาผมก็เป็นคนค่อนข้างจริงจัง อาจจะโตกว่าวัย อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆ ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อ เวลาว่างก็ออกไปข้างนอกกับคุณพ่อ ได้ไปเจอะเจอนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน ได้เก็บรายละเอียด บางทีเราฟังตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจ” เป็นคำพูดของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี 

“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เคยบอกไว้ด้วยว่า ตอนอายุประมาณสัก 12-13 ปี ม.ต้น ส่วนใหญ่ก็เที่ยวเล่น คุณพ่อก็บอกให้ไปด้วยกัน ผมจำได้ว่ามีวันหนึ่งนั่งรถนานมากไปกระทุ่มแบน ไปหาคุณปู่เฉลียว (อยู่วิทยา) คุณพ่อก็คุยงาน ผมก็ไม่ได้จับประเด็นได้ว่ามันเป็นส่วนสำคัญในช่วงชีวิตอย่างไร ตอนที่ผู้ใหญ่นั่งคุยกัน ผมก็ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องนะ เพราะว่าไปเดินเล่น ชอบไปเดินเล่นดูอะไรข้างนอก ปู่เฉลียวก็บอกว่า “อ้าวหลาน มากินน้ำ” จำได้ว่าตอนนั้นได้กินสปอนเซอร์ อร่อยมากเลย แล้วคุณพ่อก็ได้เข้ามาลงทุนในโรงงานสุรากระทิงแดงที่กระทุ่มแบน สมุทรสาคร และที่นั่นก็เป็นหน้าที่แรกของผมตอนที่เข้ามาทำงานไทยเบฟ คือทำงานที่โรงงานสุรากระทิงแดง”

“เคยมีคำถามว่าทำไมจบมาถึงมาทำงานครอบครัว ไม่อยากไปทำอย่างอื่นบ้างเหรอ ผมว่ามันเป็นความผูกพัน เป็นความเรียบง่ายที่แทบจะไม่ต้องตอบ เพราะว่าจบกลับมาก็มาทำโดยหน้าที่ มาให้คุณพ่อคุณแม่ใช้งานให้คุ้ม”

แนวคิดสร้างฐานะร่ำรวย 

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า คุณเจริญ เรียนจบชั้น ป.4 ทำงานตั้งแต่เด็กด้วยอาชีพขายของ ขณะที่อายุ 11 ปี มีอาชีพเข็นของและหาบของขาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ได้มาทำงานในบริษัทจำหน่ายสุรา มีโอกาสได้รู้จักกับ จุล กาญจนลักษณ์ เจ้าของธุรกิจสุรา “แม่โขง” ภายหลังได้ทำธุรกิจสุราร่วมกับ เถลิง เหล่าจินดา ใช้ชื่อ “สุราทิพย์” ขายดิบขายดี จนกระทั่งมีทรัพย์สินพอเข้าเทคโอเวอร์บริษัทสุรามหาราษฎร ซึ่ง ณ ขณะนั้นถือว่าเป็นบริษัทสุรารายใหญ่ได้สำเร็จ  

เมื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจสุราและโซดาแล้ว มองเห็นลู่ทางในธุรกิจเบียร์ จึงร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตเบียร์จากต้นตำรับเยอรมนีอย่าง “คาร์ลสเบอร์ก” ก่อตั้งบริษัท เบียร์ไทย(1991) จำกัด โดยผลิตเบียร์ออกจำหน่าย ในตอนหลังเมื่อเริ่มเข้าใจกรรมวิธีการผลิตเบียร์แล้ว ได้ก่อตั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจขึ้นมาพร้อมปรับปรุงสูตรเบียร์ที่ให้มีรสชาติเข้ากับคนไทย สร้างโลโก้รูปช้างหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีน้ำพุพุ่งขึ้น ใช้ชื่อว่า “เบียร์ช้าง”

ด้วยการตลาดเชิงรุก ผลิตเบียร์ต้นทุนต่ำ รสชาติดี ขายเบียร์พ่วง “เหมา 4 ขวด 100 บาท” รวมทั้งสโลแกน “คนไทยหันหน้าเข้าหากัน” ออกตีตลาดแข่งกับเบียร์สิงห์ ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ มีส่วนแบ่งการตลาดของเบียร์ที่มากกว่า จนเบียร์สิงห์เกือบเจ๊ง เนื่องจากต้นทุนผลิตเบียร์สูงกว่า ไม่สามารถลดราคาแข่งตามเบียร์ช้างได้ จนในที่สุดเบียร์สิงห์แก้ทางด้วยการออกเบียร์เกรดเดียวกับเบียร์ช้าง ใช้ชื่อว่า “ลีโอ” ออกมาเน้นดึงลูกค้ากลุ่มเดิมคืนมา และเบียร์สิงห์กลายเป็นเจ้าแห่งเบียร์ตามเดิม ซึ่งกลุ่มลูกค้าเบียร์ส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน และแรงงานต่างด้าว เมื่อธุรกิจเบียร์ในเมืองไทยเริ่มอิ่มตัว ได้โกอินเตอร์ด้วยการส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ การเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้กับ “เอฟเวอร์ตัน” ทีมฟุตบอลชั้นนำของอังกฤษ เป็นการลงทุนที่ได้ผล ชาวต่างชาติเริ่มรู้จักเบียร์ช้างมากขึ้น ทำให้ยอดขายเบียร์ช้างแซงเบียร์สิงห์โดยปริยาย

เจ้าพ่อเทคโอเวอร์

ภายหลังจากประสบความสำเร็จเป็นเจ้าแห่งธุรกิจแอลกอฮอล์แล้ว ยังได้เทคโอเวอร์บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โลจิสติกส์ อีกด้วย เมื่อสร้างรายได้มหาศาลก็อยากให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหลายๆ เท่า จึงได้ผลักดันบริษัทไทยเบฟเวอเรจเข้าตลาดหุ้นไทยในปี พ.ศ. 2548 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มองว่า ธุรกิจแอลกอฮอล์ไม่ควรนำเข้าตลาดหุ้น เป็นการสนับสนุนให้คนไทยผิดศีลมากขึ้น

เป็นอันว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ บริษัทไทยเบฟเวอเรจก็เลยขอเข้าตลาดหุ้นที่สิงคโปร์แทน ภายหลังก็เลยซื้อแบนด์โออิชิของ คุณตัน ภาสกรนที ซะเลย ได้หุ้นโออิชิในตลาดหุ้นไทยไป พร้อมกับกลายเป็นเจ้าแห่งชาเขียว และร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นอีกด้วย เรียกว่าเป็น เจ้าพ่อแห่งการเทคโอเวอร์ตัวจริง

**เพราะการที่เขามีหัวการค้าตั้งแต่เด็ก ความขยันอดทน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มธุรกิจให้มีความเหนียวแน่น นำมาซึ่งความสำเร็จในธุรกิจการค้าขายที่มีสาขาที่หลายประเภท สำคัญที่สุดคือ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังเป็นนักธุรกิจที่ขวนขวายไม่หยุดอยู่กับที่ พัฒนาธุรกิจ อย่าต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: