ตั้งข้อหาประมาทคนขับรถสิบล้อทับเด็กเสียชีวิต





(10 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้า เด็กชายวัย 8 เดือนถูกรถบรรทุก 10 ล้อทับเสียชีวิต ภายในซอยสุขสวัสดิ์ 84 หรือซอยวัดคู่สร้าง ย่านตำบลในคลองบางปลากด เขตพื้นที่ตำรวจภูธรพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (9 พ.ค.) โดยมีนายสนาน โสภาพงษ์ อายุ 61 ปี คนขับรถยืนรอมอบตัวกับตำรวจ

นายสนามให้การว่า ขณะที่ขับรถผ่านมาในซอยเกิดเหตุ ทันใดนั้นมีเด็กที่อยู่บนรถหัดเดินได้เลื่อนไหลออกมาจากบ้านอย่างรวดเร็ว จึงพยายามหักหลบ แต่รถของเด็กยังไหลเข้าไปที่ล้อหลังด้านซ้ายของรถบรรทุก จึงถูกล้อรถทับเสียชีวิต

ขณะที่มารดาของเด็กเล่าว่า นำบุตรชายใส่ไว้ในรถหัดเดิน ระหว่างนั้นพี่สาวส่งไลน์มาจึงพูดคุยตอบโต้ลักษณะติดพัน โดยไม่ทันระวัง บุตรชายเข็นรถไปกระแทกรั้วประตู ทำให้ประตูเปิดออก ก่อนที่รถจะไหลออกไปกลางถนน ซึ่งเป็นจังหวะที่รถบรรทุก 10 ล้อวิ่งผ่านมา จึงถูกล้อทับร่างบุตรชายจนเสียชีวิต

ล่าสุด ตำรวจได้ตั้งข้อหากับนายสนามในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฏหมาย ขณะที่พ่อแม่ของเด็กเตรียมเดินทางไปรับศพบุตรชายที่สถาบันนิติเวชวันนี้ เพื่อนำศพกลับไปยังบ้านเกิดที่ จ.สุรินทร์ ทำพิธีทางศาสนา

แพทย์เตือนอันตราย “รถหัดเดิน”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า รถช่วยพยุงตัว หรือเดิมที่มักเรียกกันว่ารถหัดเดิน กลายเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ปกครองมีความเคยชินนำมาใช้กับลูก เมื่ออายุประมาณ 5-6 เดือน

จากการสำรวจเหตุผลของผู้ปกครองพบว่า ร้อยละ 50 เชื่อว่าทำให้ลูกเดินได้เร็วขึ้น และร้อยละ 40 เป็นตัวช่วยผ่อนภาระการดูแลและการอุ้มกระเตงไว้ตลอดเวลา ทำให้มีเวลาว่างไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก เพราะผลงานวิจัยระบุชัดเจนว่า รถหัดเดินส่งผลกระทบต่อกลไกการเดินของเด็กเล็ก และมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติประมาณ 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากเด็กเล็กเมื่อเวลาไถรถจะเอนตัวไปข้างหน้า ปลายเท้าจิกลงพื้นและเกร็งขามากกว่าปกติ สร้างปัญหาในอนาคตในยามที่ต้องหัดเดินด้วยตัวเอง เกิดความทรงตัวได้ไม่ดี

ผลเสียมากกว่านั้นคืออันตรายจากอุบัติเหตุ โดย 2 ใน 3 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเคยได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงชีวิต เช่น ตกจากที่สูง พลิกคว่ำ จมน้ำและถูกรถชน ดังนั้นรถหัดเดินจึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ปกครองจะซื้อมาใช้ เนื่องจากมีประโยชน์น้อย ไม่ช่วยเดินและมีอันตรายมาก ไม่คุ้มค่าต่อการใช้

พร้อมแนะว่าหากต้องดูแลเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรใช้เป็นคอกกั้น หรือรถพยุงตัวที่ไม่มีล้อและอยู่ใกล้ชิดระดับที่วงแขนเอื้อมถึง จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ปลอดภัย ทั้งนี้ อุปกรณ์ของใช้ทารกและเด็กในไทย ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีมาตรฐานควบคุม การคุ้มครองผู้บริโภคเด็กทารกจึงยังปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ออกแบบมาไร้ประโยชน์ แต่มีอันตรายและมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป จึงเสนอว่ากระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ควรควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดและจริงจัง

ข่าวจาก : ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: