เปิดประวัติ ‘เทพีนางหาบ’ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ





พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญถือเป็นพิธีโบราณที่สืบทอดกันมานาน ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นพิธีการเพื่อความเป็นศิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร

แต่เดิมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นมีมาแต่โบราณในสมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยนั้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน และมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์เรื่อยมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

กระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ทั้งนี้การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้กระทำ เต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี 2479 แล้วก็ว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน

สำหรับวันพืชมงคล สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนในทุกปีคือ “เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทอง” ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องผ่านการคัดเลือกและฝึกฝนอย่างหนัก เนื่องจากตำแหน่งเทพีนางหาบนั้น มีหน้าที่แบกคาบหามกระบุงที่ใส่เมล็ดข้าวที่หนักกว่า 10 กิโลกรัม ให้พระยาแรกนาโปรยเมล็ดข้าวลงยังลานแรกนา รวมถึงผู้ที่จะมาเป็นเทพีคู่หาบนั้น ยังต้องฝึกฝนท่ายืน ท่านั่ง รวมถึงการหมอบคลาน ให้ถูกต้องตามแบบฉบับราชประเพณีโบราณดั้งเดิมมากที่สุดก่อนวันพิธีอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2503 ช่วงที่คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชประเพณีวันพืชมงคลขึ้นใหม่ หลังว่างเว้นไปนานกว่า 23 ปี ในระยะแรกนั้น พระยาแรกนาคือ อธิบดีกรมการข้าว เทพีทั้ง 4 จึงได้มาจากคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาพระยาแรกนา เปลี่ยนมาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงคัดเลือกเทพีทั้ง 4 จากข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทน

ส่วนการคัดเลือกเทพีคู่หาบทองและเทพีคู่หาบเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่ใครคิด เนื่องจากกรรมการจะพิจารณาทั้งรูปสมบัติ คือ ความเป็นกุลสตรี การแสดงมรรยาทตามประเพณี เนื่องจากเทพีคู่หาบ จะต้องเข้าพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และต้องมีสุขภาพแข็งแรง รูปร่างต้องใกล้เคียงกันทั้ง 4 คน โดยผู้ที่ได้รับตำแหน่งเป็นเทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองนั้น ถือได้ว่าเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูงในการร่วมในราชพิธีที่สำคัญของชนชาวไทย

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเทพีคู่หาบเงิน

  • เป็นโสด
  • ไม่จำกัดอายุ
  • มีตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว

ซึ่งผู้ที่เป็นเทพีคู่หาบเงินในปีนี้จะเลื่อนเป็นเทพีคู่หาบทองในปีถัดไป แต่ละปีจึงคัดเฉพาะเทพีคู่หาบเงินโดยที่ไม่มีการเลือก “สำรอง” เผื่อไว้ ดังนั้นตำแหน่งเทพีทั้งคู่หาบเงินและคู่หาบทอง จะต้องดูแลรักษาตนเองทั้งทางร่างกายและรูปลักษณ์เป็นอย่างดี

ขั้นตอนการคัดเลือกเทพีคู่หาบ

  1. ทำหนังสือคัดเลือกเทพีฯ ไปที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะมีรายละเอียดการคัดเลือก รวมทั้งรายชื่อของประธานการคัดเลือก 1 คนและคณะกรรมการการคัดเลือก 8 คน ส่วนใหญ่คณะกรรมการการคัดเลือกคือ ผู้ที่เคยทำหน้าที่เทพีคู่หาบและเจ้าหน้าที่ของกองกลาง คือเลขาฯและผู้ช่วยเลขาฯ
  2. แจ้งให้เจ้าตัวทราบว่าได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ
  3. ส่งหนังสือไปยังอธิบดีกรมประมงซึ่งทำหน้าที่ประธานการคัดเลือก เพื่อหาวันในการคัดเลือก
  4. หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกข้าราชการหญิง  แล้วส่งรายชื่อและประวัติของข้าราชการเหล่านั้น เพื่อเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งเทพีคู่หาบเงิน
  5. พูดคุยทำความเข้าใจต่อผู้ได้รับการคัดเลือกต่อบทบาท และหน้าที่ในการเป็นเทพีนางหาบ
  6. ทดสอบพละกำลังในการเดินหาบกระบุงข้าว และความสวยงามอ่อนช้อยในการถอนสายบัว โดยใช้เวลาคัดเลือกประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  7. หลังคณะกรรมการมีมติคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงิน พวกเธอและเทพีคู่หาบทอง 2 คน ก็จะต้องฝึกซ้อมทุกวันเป็นเวลานาน 3 เดือน โดยจะมีรุ่นพี่ที่เคยทำหน้าที่นี้มาแล้วเป็นครูผู้ฝึกซ้อม คอยควบคุมดูแล

รายชื่อเทพีนางหาบในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2562 ได้แก่

  • เทพีคู่หาบทอง
  1. น.ส.กันยารัตน์ นาคกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  2. น.ส. ดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการกรมวิชาการเกษตร
  • เทพีคู่หาบเงิน
  1. น.ส.ณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร
  2. น.ส.อาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการกรมส่งเสริมการเกษตร

หลังได้รับคัดเลือกเป็นเทพีนางหาบ ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการฝึกซ้อมการแบกคานหาม ซึ่งแต่ละกระบุงมีเมล็ดข้าวหนักข้างละ 5 กิโลกรัม เทพีจึงต้องแบกคานหามหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม ท่ามกลางทุกสภาพอากาศให้ได้ตลอดพระราชพิธี รวมถึงต้องเรียนรู้หลักการปฏิบัติตัวในการเข้าพระราชพิธีด้วย

ภารกิจหลังได้รับการคัดเลือกเป็นเทพีนางหาบ

  • ก่อนฝึกหาบทุกครั้งต้องวอร์มร่างกาย ยืดเส้นยืดสายทุกครั้ง เพื่อป้องกันกร้ามเนื้ออักเสบ
  • ดูแลใบหน้าเส้นผมและผิวพรรณให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา
  • กินมังสวิรัติ 15 วันก่อนถึงวันพระราชพิธี ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของเหล่าเทพีนางหาบที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เพื่อให้คงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม
  • เตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย

กำหนดการ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2562

เมื่อมาถึงวันพิธีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา พร้อมด้วยเทพีขึ้นรถยนต์หลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชยไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เมื่อเดินทางมาถึงจะได้ตั้งกระบวนแห่อิสริยยศ แล้วเดินกระบวนแห่อิสริยยศไปส่งที่โรงพิธีพราหมณ์พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญแล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อมเมื่อพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่งผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา

จากนั้นในเวลาประมาณ 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19 – 08.49 น. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา จะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา

เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถ จับหางไถแล้วไถดะไปโดยทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวพนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าว ลงในดิน เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค

เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์ เสร็จแล้วจะได้ เบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่างๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคม แล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธีไปยังแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน พระยาแรกนาได้เข้ากราบถวายบังคมพระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน เพื่อปลูกไว้ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีต่อไปเมื่อพระยาแรกนาหว่านข้าวเสร็จแล้ว เข้าไปกราบถวายบังคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพระราชพิธี

อ่านเพิ่มเติม : พระเจ้าอยู่หัว-พระราชินี เสด็จฯ พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

อ่านเพิ่มเติม : ผลเสี่ยงทาย‘พระโค’ กิน ‘ข้าว-น้ำ-หญ้า’ น้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ พอควร(ชมคลิป)

กรมการข้าว จัดเตรียมกระบุงข้าว หรือคู่หาบเงิน – คู่หาบทอง สำหรับให้เทพีนางหาบใช้หว่านในวันพระราชพิธีฯ

ในปี 2562 กรมการข้าวมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว 1,206 กิโลกรัม สำหรับใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยได้จัดเตรียมกระบุงข้าว หรือที่เรียกว่า คู่หาบเงิน – คู่หาบทอง สำหรับให้เทพีใช้หว่านในวันพระราชพิธีฯ ซึ่งกระบุงข้าว ประกอบด้วย ไม้ไผ่สีสุกนำมาจักเป็นเส้น แล้วหลาวให้ได้ขนาดเดียวกัน นำมาจักสานเป็นกระบุงข้าว จำนวน 8 ใบ ทำการพ่นสีเงิน 4 ใบ และพ่นสีทอง 4 ใบ สำหรับใช้กับเทพีคู่หาบเงิน 2 ชุด และคู่หาบทอง 2 ชุด ในส่วนไม้คาน จะแกะสลักด้วยไม้สักทอง

โดยส่วนหัวไม้คานจะแกะสลักเป็นรูปหัวพญานาค ส่วนหางไม้คานจะแกะสลักเป็นหางพญานาค ตัวไม้คานจะใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีจำนวน 8 ข้อ ความยาวประมาณ 110 เซนติเมตร  โดยแต่ละข้อจะมีความหมายว่า ข้อที่ 1 คาน – ข้อที่ 2 แคน – ข้อที่ 3 ยาก – ข้อที่ 4 แค้น – ข้อที่ 5 มั่ง – ข้อที่ 6 มี – ข้อที่ 7 สี – ข้อที่ 8 สุก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่อาชีพเกษตรกร

นอกจากนี้ สาแหรกซึ่งทำจากหวายหอม ที่มีความสมบูรณ์ของลำต้นที่สม่ำเสมอ นำมาสานเป็นหัวสาแหรกรูปหัวแหวนพิรอด ซึ่งแสดงถึงการนำพาพืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญเติบโตสมบูรณ์รอดปลอดภัยในปีนั้นๆ ในส่วนไม้ค้างคาน จะทำด้วยไม้สักทองแกะสลักตกแต่งด้วยสีเงินและสีทอง สำหรับใช้ค้ำไม้คานและกระบุงข้าวคู่หาบเงิน – คู่หาบทองให้สง่างาม และไม้รองกันกระบุง เป็นไม้ที่ใช้รองเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุในกระบุงข้าวให้มีปริมาณข้าวแต่ละข้างน้อยลง ไม่หนักจนเกินไป ทำให้เทพีสามารถหาบข้าวได้นาน

การแต่งกายของเทพีนางหาบในวันพิธี

ในวันพิธีฯ เทพีนางหาบจะต้องนุ่งจีบหน้านาง ผ้าเยียรบับ หรือผ้าไหมไทย ทอยกดอก ลายสีทอง สวมเสื้อไหมไทย รัดรูปแขนยาว ส่วนเครื่องประดับ คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปัก ทองแล่ง ประดับอาภรณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้รับพระราชทานและสวมถุงเท้าสีเนื้อ และสวมร้องเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน

ทั้งนี้เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองจะได้รับชุดแต่งกายที่สวมใส่ในวันพิธีฯ และโล่เป็นสิ่งตอบแทนในการทำหน้าที่อันทรงเกียรติ

หน้าที่ของเทพีนางหาบ ในระหว่างพิธี

เทพีนางหาบจะต้องควบคุมจังหวะการเดิน เพื่อส่งข้าวให้พระยาแรกนา โดยจะเดินสลับขึ้นลงระหว่างกัน เพื่อให้น้ำหนักข้าวในกระบุงเหลือปริมาณเท่า ๆ กัน และจะมีวิธีส่งสัญญาณให้กับพระยาแรกนา ด้วยการยกกระบุงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้พระยาแรกนาหยิบข้าวจากกระบุงนั้นไปโปรยลงดิน

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีฯ

สำหรับเทพีคู่หาบเงิน หลังเสร็จสิ้นพิธี จะยังคงต้องดำรงตำแหน่งเทพีคู่หาบทองในปีต่อไป จะยังต้องคงคุณสมบัติต่าง ๆ ของการเป็นเทพีนางหาบต่อไปอีก 1 ปี ส่วนสตรีที่เคยทำหน้าที่คู่หาบทองในพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะเป็นซ้ำอีกไม่ได้ไม่ว่าในปีใด และหลังจากพ้นหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว จะสามารถมีครอบครัว หรือแต่งงานได้อย่างอิสระ ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่ได้รับโอกาสทำหน้าที่เทพีนางหาบนั้นจะอยู่ในสภาวะที่กดดันไม่น้อย เพราะต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และรูปลักษณ์ที่สวยงาม แต่หน้าที่ดังกล่าวก็ถือได้ว่า เป็นเกียรติสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต ในการร่วมราชพิธีที่สำคัญของชนชาวไทย ทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชน โดยเทพีนางหาบนั้น เปรียบได้กับดอกไม้งามในวันพืชมงคลก็ว่าได้

ข่าวจาก : Mthai, moac

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: