กองสลากฯ ย้ำคละเลขได้ผล ทุกแผงมีขายใบ80บาท เร่งใช้แอพฯสแกน-ทำระบบแจกแต้มคนขาย





กองสลากฯ ขอเวลาประเมินผลพิมพ์คละเลข 2-2-1 ใช้เวลา 3 เดือน เบื้องต้นมั่นใจได้ผลดี พบขายใบเดี่ยว 80 บาท-ใบคู่ 160 บาท ในทุกแผง เร่งใช้แอพฯ สแกนผู้ค้าทั่วประเทศ ทำระบบแจกแต้มผู้ขาย ได้สิทธิรับสลากจำหน่ายก่อน

พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานสลากฯอยู่ระหว่างประเมินผลมาตรการพิมพ์สลากจำหน่ายผู้ค้าแบบคละเลขในสูตร 2-2-1 เพื่อแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 3 เดือน คือตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 พ.ค. ก่อนจะนำผลมาตรการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นจากการพิมพ์แบบคละเลข พบว่าทุกแผงยังมีสลากแบบใบเดี่ยวขายในราคา 80 บาทและสลากรวมชุดแบบ 2 ใบขายที่ราคา 160 บาท สะท้อนว่ามาตรการที่ออกมาได้ผลในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังไม่สามารถควบคุมราคาไว้ที่ 80 บาทต่อใบ 100% ในทุกแผงได้ ซึ่งปัญหามาจากการที่มีผู้ค้าไปรับซื้อสลากต่อ ทั้งที่เป็นการซื้อจากกลุ่มที่ได้รับสิทธิจอง-ซื้อ และกลุ่มโควตา ทำให้ราคาต้นทุนสลากที่ออกไปจากสำนักงานที่ 70.40 บาทต่อใบเพิ่มขึ้น เมื่อถูกนำไปขายต่อราคาจึงปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ซื้อหากพบว่าเป็นเลขที่ต้องการก็ยินยอมที่จะจ่าย แม้ว่าจะเป็นสลากที่ขายเกินราคาก็ตาม

“ผมไม่เคยพูดว่ามาตรการขายแบบคละเลขไม่ได้ผล ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผลมาตรการ ซึ่งจากการลงสำรวจแผงขายสลาก ก็พบว่ามีสลากแบบใบเดียวขายที่ 80 บาท และแบบชุด 2 ใบที่สลากจัดให้ขายในราคา 160 บาททุกแผง อย่างเช่น ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ราคาสลากบางแผงก็ลงมาต่ำกว่า 80 บาทต่อใบด้วยซ้ำ จากก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้พิมพ์แบบคละเลข ราคาสลากใบเดี่ยวขายกัน 100 บาท” พ.ต.อ.บุญส่ง กล่าว

พ.ต.อ.บุญส่ง กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานสลากฯ อยู่ระหว่างพัฒนาแอพลิเคชั่น คาดว่าจะพร้อมใช้ในเดือนมิ.ย.นี้ เบื้องต้น แอพพลิเคชั่นจะสามารถระบุตัวผู้ค้าสลากในทุกจุดได้ ให้ผู้ซื้อสามารถตามตัวคล้ายกับ ระบบจีพีเอส และตรวจสอบได้ทันทีว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่ หากขายเกินราคา ผู้ซื้อก็สามารถสแกนแอพลิเคชั่น เพื่อแจ้งข้อมูลมายังสำนักงานสลากฯได้ ในฝั่งของผู้ค้าก็สามารถบันทึกข้อมูลได้ว่า มียอดจำหน่ายสลากเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง

จากนั้นในระยะต่อไป สำนักงานสลากฯ จะแบ่งผู้ค้าสลากออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มใช้สิทธิซื้อ-จอง 2. กลุ่มโควตา 3. กลุ่มที่ไม่ได้สิทธิแต่มีการขายจริง โดยนำข้อมูลการบันทึกซื้อขาย และการแจ้งขายเกินราคา มาใช้พิจารณาสิทธิการให้สลากไปจำหน่าย เช่น กลุ่มที่ไม่ได้สิทธิอะไรเลย และมีการขายจริง เป็นหลักแหล่ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิซื้อ-จอง สลากได้ ก็จะได้รับสิทธิในการกระจายสลากเป็นลำดับแรกๆ ขณะที่กลุ่มที่ มีโควตา หรือได้รับสิทธิ-ซื้อจองอยู่เดิม หากตรวจสอบพบว่าในแต่ละงวด ไม่มียอดการจำหน่ายให้ประชาชนเลย หรือ ถูกแจ้งขายเกินราคา ก็จะถูกตัดสิทธิมาให้ผู้ค้าตัวจริงแทน

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: