เกรียนคีย์บอร์ดหนาว! ออสเตรียออกกฎให้เผยตัวตนแท้จริงก่อนคอมเม้นต์





ต่อไปนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในออสเตรียต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงก่อนแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ป้องกันเกรียนคีย์บอร์ดใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรงก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น

รัฐบาลออสเตรียเสนอร่างกฎหมาย “ความระมัดระวังและความรับผิดชอบบนเว็บไซต์” กำหนดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปิดเผยชื่อนามสกุลจริงและที่อยู่ให้กับผู้ให้บริการเว็บไซต์ก่อนจะแสดงความคิดเห็นใดๆ  แต่ยังสามารถใช้ชื่อสมมติโพสต์ความคิดเห็นได้ตามเดิม โดยในกรณีที่มีการทำความผิดเกิดขึ้นผู้ให้บริการเว็บไซต์จะต้องมอบข้อมูลผู้ใช้ให้กับรัฐบาล หรือเอกชนหากเป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งจะทำให้เกรียนคีย์บอร์ดที่โจมตีหรือกลั่นแกล้งคนอื่นในโลกโซเชียลต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง 

ร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้กับเว็บไซต์ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 100,000 คน หรือมีรายได้มากกว่า 500,000 ยูโร หรือ 17.8 ล้านบาทต่อปี หรือเว็บไซต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากกว่า 50,000 ยูโร หรือ 1.78 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ยังมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมอบให้ด้วย

หากฝ่าฝืนผู้ให้บริการอาจถูกปรับสูงถึง 500,000 ยูโร หรือ 17.8 ล้านบาท หรือ 1 ล้านยูโร หรือ 35.6 ล้านบาทหากกระทำความผิดซ้ำสอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิด แต่ก็มีข้อยกเว้นให้กับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้มีรายได้จากเนื้อหาหรือโฆษณาบนเว็บไซต์ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับบริษัทเจ้าของเว็บไซต์ราว 50 แห่ง รวมทั้งเฟซบุ๊คและกูเกิล

หากรัฐสภาออสเตรียอนุมัติและผ่านความเห็นชอบจากสหภาพยุโรป กฎหมายแบนผู้ใช้ออนไลน์อวตารนี้จะมีผลบังคับภายในปี 2020

อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่ให้เห็น อาทิ การยกเว้นให้กับเว็บไซต์เล็กๆ ไม่ต้องรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้บางเว็บกลับเป็นแหล่งแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง หรือโจมตีสร้างความเข้าใจผิดในสังคม รวมทั้งเว็บไซต์ที่เคยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าปล่อยให้ใช้ถ้อยคำที่จงใจสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้รับยกเว้นด้วย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลปกป้องพวกพ้อง

นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไอทียังกังวลเรื่องการปกป้องข้อมูลผู้ใช้  เนื่องจากการเก็บข้อมูลส่วนตัวไว้จำนวนมากย่อมมีทั้งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากแฮกเกอร์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และการเปิดเผยตัวตนอาจเป็นอุปสรรคกับบางเว็บไซต์ อาทิ ชุมชนคนติดแอลกอฮอล์ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เป็นต้น

นอกจากออสเตรียแล้ว เยอรมนีก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คุมเข้มการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย โดยกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว กำหนดให้บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม กูเกิล ยูทูบ สแนปแชท ลบเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็น hate speech ผิดกฎหมาย หรือข่าวปลอมภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากผู้ใช้รายงานเรื่องดังกล่าว หากไม่ทำตามมีโทษปรับถึง 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการใช้โซเชียลของประชาชนมากที่สุดประเทศหนึ่งทีเดียว

แน่นอนว่ากฎหมายสุดเข้มของเยอรมนีย่อมตามมาด้วยความไม่พอใจของประชาชนที่มองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับที่ออสเตรีย แต่อย่าลืมว่าเมื่อมีสิทธิแล้วผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็ย่อมต้องมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของคนอื่นเช่นกัน

ข่าวจาก : posttoday

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: