เจอหมายเรียกอย่าเพิ่งตกใจ! ศูนย์ทนายเผยบทความแนะ ถูกจับกุม โดนหมายเรียก ควรปฏิบัติตัวอย่างไร





ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่บทความที่ให้คำแนะนำ กรณี ถูกควบคุมตัว ถูกจับกุมหรือได้รับ หมายเรียก ซึ่งชี้แจงเหตุผลของบทความดังกล่าวว่า “แม้ว่าจะผ่านโหมดเลือกตั้งไปแล้ว แต่สวัสดิภาพของประชาชนยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด จงตระหนักให้มั่นว่าเรายังอยู่ภายใต้ยุคอำนาจนิยม รายงานชิ้นนี้แนะนำวิธีปฏิบัติจากหลากหลายสถานการณ์ หากท่านกำลังเผชิญการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม”

รายละเอียดดังนี้

หมายเรียก คือหมายที่ออกโดยพนักงานสอบสวน ไม่ต้องขอศาล เมื่อได้รับหมายเรียกควรปฏิบัติ ดังนี้

  • อ่านหมายให้ละเอียด ว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่เท่าไร เป็นหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือเป็นหมายเรียกพยาน หากท่านมีข้อสงสัยให้โทรศัพท์สอบถามตามเบอร์โทรศัพท์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในหมาย
  • ในหมายเรียกจะระบุวันที่ที่เรียกให้ท่านไปพบ หากท่านไม่สามารถไปตามหมายได้ ให้โทรศัพท์แจ้งพนักงานสอบสวนและส่งหนังสือแจ้งขอเลื่อนนัดก่อนวันที่ที่ระบุในหมาย
  • ท่านควรปรึกษาทนายความ และไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความหรือบุคคลที่ไว้ใจ
  • หากท่านได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 แล้วไม่ไปตามหมาย พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่ไปตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ท่านอาจถูกออกหมายจับได้
  • หากมีการนำตัวท่านไปแถลงข่าว ท่านมีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้
  • กรณีมีหมายเรียก พนักงานตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวท่าน

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัว ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่อาจถูกจับกุมเนื่องจากถูกออกหมายจับโดยศาล ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรืออาจถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ดังนั้นหากถูกจับกุมหรือควบคุมตัวควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
  2. ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
  3. เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
  4. เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
  5. แจ้งให้ญาติ คนที่ใกล้ชิด และทนายความให้ทราบโดยด่วน
  6. หากมีการนำตัวท่านไปแถลงข่าว ท่านมีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้

กรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้

  1. สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
  2. ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
  3. ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
  4. ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน

พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้

หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจ และเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม

  1. คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
  2. สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์, แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
  3. ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
  4. ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้า password หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
  5. ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น

กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น

  1. บุคคลซึ่งหัวหน้า คสช. แต่งตั้งหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หรือ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
  2. ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง

เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา

  1. ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
  2. อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน
  3. ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
  4. หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเองหากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
  5. โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
  6. หากเป็นการจับกุมตัว ตำรวจควบคุมตัวท่านที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ท่านมาถึงสถานีตำรวจที่ออกหมายจับ หลังจากนั้นจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาล ท่านมีสิทธิขอประกันตัวในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาลได้
  7. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น
  8. หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรต่อพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ

  1. ไม่ควรให้การใดๆกับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น
  2. หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
  3. ข้อพึงระวัง
  • เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้
  • มีสิทธิจะให้ทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนได้
  • การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล

ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: