ขั้นตอนเลือกนายกฯ ส.ส.-ส.ว. 750 คนต้องออกเสียงโดยเปิดเผย





จากกรณีความพยายามของพรรคการเมืองในการจับขั้วตั้งรัฐบาลโดยต่างฝ่ายต่างพยายามรวมเสียงให้เกิน 250 เสียง ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไว้เป็นเบื้องต้น

แม้จะยังห่างจากเกณฑ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 376 เสียง ที่เกิดจาก ส.ส. 500 เสียง รวมกับ ส.ว. 250 เสียง (ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ) แต่การที่ฝ่ายใดได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนเกิน 250 เสียงจะเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการทำงานของรัฐบาลต่อไป จึงมีการคาดการณ์กันว่า อาจจะมีความพยายามดึงเสียงจากทั้ง 2 ฝ่ายในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การโหวตเลือกนายกฯ กติกากำหนดให้ทำโดยเปิดเผย รู้ว่า ส.ส.และ ส.ว.คนไหนลงคะแนนให้ใคร

สำหรับขั้นตอนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ข้อบังคับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ใน หมวด 5 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

เริ่มจาก 1.ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส.โหวตจะต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกที่มีอยู่ (25 คน หากมี ส.ส.เต็มสภา 500 คน) นั่นเท่ากับว่า ขณะนี้เหลือตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียง 7 คน ที่มาจากพรรคที่ได้ ส.ส.อย่างน้อย  25 คน คือ

  

  

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เพื่อไทย) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย) นายชัยเกษม นิติสิริ (เพื่อไทย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย)

2. การเสนอชื่อผู้ใดเข้าสู่การโหวตจะต้องมีเสียง ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ ส.ส.ที่มีอยู่ (50 คน จาก 500 คน)

3. การออกเสียงลงคะแนนพิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้กระทําเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิกตามลําดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล โดยการกล่าว “เห็นชอบ” “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง”

4.มติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (376 จาก 750 คน) หากคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ออกเสียงลงคะแนนชื่อคนต่อไป

5.ทั้งนี้หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับฉบับปี 2550 คือ ฉบับปัจจุบันไม่กำหนดเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ ขณะที่ฉบับปี 2550 กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับเดิมผู้โหวตเลือกนายกฯ คือ ส.ส. เท่านั้น ไม่มี ส.ว. 250 คน มาร่วมโหวตด้วยเหมือนในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้

คำถามเสริมคือ ระหว่างเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่ได้และไม่มีเวลากำหนดไว้ซึ่งอาจจะกินเวลา หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ใครจะบริหารประเทศ คำตอบ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.จะยังทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ โดยยังมีอำนาจเต็ม และมีอำนาจมาตรา 44 จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน

ข่าวจาก : workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: