เปิดประวัติม้ามืด ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่โจมตีใคร ใส่ยับนโยบายเดินหน้าประเทศรัวๆ





ทำความรู้จัก มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตเด็กร่วมโรงเรียน บิ๊กตู่ จากอดีตขุนพลเศรษฐกิจพรรคพลังประชาชน สู่แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ ฉายาม้าตีนปลายโค้งสุดท้าย ไม่โจมตีใคร เน้นมาพูดเรื่องนโยบายรัว ๆ 

  

  

นับถอยหลัง…  อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก หลังจากห่างหายไปนานกว่า 6-7 ปี หลายพรรคการเมืองเริ่มเดินหน้าลุยหาเสียงประกาศนโยบายเด็ดของพรรค ทั้งจากการลงพื้นที่และเดินสายดีเบตอย่างดุเดือด เช่นเดียวกับความเข้มข้นด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งจริงและเท็จ ต่างพรั่งพรูออกมาโจมตีกันมากมาย

แต่ทว่าในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ กลับมีพรรคหนึ่งที่มาแรงเป็นกระแส ถูกพูดถึงอย่างมาก นั่นคือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ นำทีมโดย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่เน้นหาเสียงโดยการไม่โจมตีใคร เน้นเสนอนโยบายอย่างเดียว แถมยังมีนโยบายสวนทางกับหลายพรรคใหญ่ ที่โดนใจหลาย ๆ คน เช่น สร้างคนรวยจากเศรษฐกิจใหม่, ตรึงค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหวั่นเงินเฟ้อ, ลดราคาน้ำมัน และลดค่าไฟฟ้า ทำให้ชื่อของ “ลุงมิ่ง” กลับมาเป็นกระแสและความสนใจอีกครั้ง 

  

  

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2495 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ โรงเรียนเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง จากโรงเรียนวอร์ตัน มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา 

มิ่งขวัญ เริ่มต้นการสร้างชื่อภาคธุรกิจ เป็นพนักงานฝ่ายขายของโตโยต้า ต่อมาได้ย้ายไปอยู่แผนกประชาสัมพันธ์ กระทั่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมถึงเป็นเลขานุการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย

ด้วยการเป็นนักประชาสัมพันธ์ เขาจึงใช้หลักการประชาสัมพันธ์ช่วยปั้นดารา ดันคนเข้าวงการมาแล้วหลายคน เช่น วิลลี่ แมคอินทอช, แคทลียา แมคอินทอช, จอห์นนี่ แอนโฟเน่, วรุฒ วรธรรม, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และ ดอม เหตระกูล เป็นต้น จนเขาได้รับฉายา “Image Maker”

ส่วนการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง เริ่มโดยการเข้ามาช่วยงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จากนั้นจึงได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) และเป็นผู้ปรับปรุงโมเดิร์นไนน์ พร้อมแปรรูปจากองค์การภาครัฐ เป็นบริษัทของรัฐ ภายใต้ชื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

จากนั้น ในปี 2549 หลังเกิดการรัฐประหาร มิ่งขวัญ ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะกรรมการทั้งชุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 และถูกทาบทามให้เข้ามาช่วยงานพรรคพลังประชาชน ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

อย่างไรก็ดี นายมิ่งขวัญ ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อพรรคพลังประชาชน ถูกศาลตัดสินยุบพรรค ก็ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ทว่า หลังการเลือกตั้งในรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายมิ่งขวัญก็ไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ จนสุดท้ายได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 18 ธันวาคม 2556 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองไปหลายปี

  

  

จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ชื่อของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็กลับมาสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้งในฐานะหนึ่งในผู้นำของพรรคเศรษฐกิจใหม่ และได้เข้าร่วมดีเบตกับพรรคใหญ่ ๆ หลายหน

หลังเปิดตัวใหม่ ๆ เขาไม่ได้ถูกจับตาและได้รับความสนใจมากนัก แต่จากความสามารถด้านการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ให้ประชาชนทราบลูกเดียว โดยไม่สนใจว่าใครจะโจมตีใคร ใครจะเล่นเกมการเมืองอย่างไร โดยชูนโยบายหลักที่นำเสนอคือ การนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่มาใช้หาเงินเข้าประเทศ และนโยบายลดค่าครองชีพมากกว่าการมุ่งไปที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ลดแก๊สโซฮอล์ ลดราคาน้ำมันดีเซล และลดค่าไฟฟ้า 25-30% เป็นต้น

แถมยังมีมุมน่ารักบนเวทีดีเบตในการพูดนโยบายของพรรค พร้อมแสดงป้ายขนาดเล็ก โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ นั่งด้านข้างและช่วยถือป้ายให้ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มจนถูกแชร์และได้รับฉายาว่า “ลุงมิ่ง” ทำให้เมื่อใกล้วันเลือกตั้ง 62 กระแสของ มิ่งขวัญ กลับมาแรงแซงหลายพรรคอย่างชัดเจน  

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อว่ากระแสของ “ลุงมิ่ง” ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งหรือไม่ และหลังเลือกตั้ง ทิศทางของพรรคเศรษฐกิจใหม่จะเป็นอย่างไรต่อไป

  

  

  

ขอบคุณข้อมูลจาก kapookTHE STANDARD

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: