ผลงานชิ้นสุดท้าย ‘ทูตวีรชัย’ เจรจาปลดใบเหลืองประมงไทย





ภายหลังจากข่าวการสูญเสีย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา โดยถึงแก่กรรมด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกไขสันหลัง ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ด้วยวัย 58 ปี หลายคนจำได้ถึงผลงานการเป็นหัวหน้าคณะทำงานในการสู้คดีปราสาทพระวิหาร ในศาลโลก จนได้ผลการตัดสินที่ท่านทูตเคยอธิบายว่า “ผลคำตัดสินออกมาอย่างสมดุล แต่สมดุลมาทางไทยมากกว่านิดหน่อย”
ผลงานในครั้งนั้น หลายคนยกย่องให้ทูตวีรชัยเป็นฮีโร่ของไทย แต่มีผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายที่หลายคนไม่ทราบ คือ การเป็นหัวหน้าคณะเจรจากับสหภาพยุโรปในการปลดใบเหลืองด้านการประมงของไทย

 

วันที่ 16 มี.ค. ผศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานในการเจรจาปลดใบเหลืองด้านการประมงฯ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า ผลงานสำคัญอีกเรื่องของท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ที่หลายคนไม่ทราบคือ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน้าคณะเจรจาในการปลดใบเหลือง IUU กับสหภาพยุโรป โดยมีหน้าที่เจรจากับหัวคณะทำงานฝ่ายสหภาพยุโรป และเจรจากับคณะสมาชิกรัฐสภายุโรป รวมทั้งต้องเดินสายทำความเข้าใจกับกลุ่ม NGO ต่างๆ ที่กล่าวหาเรื่อง การทำประมงของไทยผิดกฎหมายและเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จนที่สุดไทยก็ได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการทำให้ประเทศไทยขยับอันดับใน รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปส์ รีพอร์ท ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ดีขึ้นจากระดับ 2 หรือ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง ขึ้นมาอยู่ที่เทียร์ 2

 

ผศ.ธนพร เล่าต่อว่า ร่วมงานกับท่านทูตตั้งแต่ปี 2559 มีการชี้แจงต่อสหภาพยุโรปหลายครั้ง ทั้งที่กรุงบรัสเซลล์ เบลเยี่ยม และประเทศไทย  ที่ประทับใจที่สุด คือ การเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการประมงสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ท่านทูตวีรชัย ได้เตรียมเนื้อหาในการชี้แจงเป็นอย่างดี ทั้ง 2 ภาษา คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นการทำงานที่ยากมาก เพราะด้วยภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ท่านทูตก็อธิบายชี้แจงโดยแยกประเด็นให้เห็น ด้วยประสบการณ์ของท่านทำให้การชี้แจงผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้เขาเข้าใจในการทำงานของประเทศไทย และเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่สหภาพยุโรปในฐานะผู้กล่าวหา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าไปชี้แจงแบบนี้

โดยอีกส่วนที่น่าประทับใจมาก คือ การที่ท่านตอบคำถามสดจากสมาชิกรัฐสภายุโรปได้อย่างคล่องแคล่ว ชัดเจน

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ท่านทูตวีรชัย เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้ไทยปลดใบเหลืองได้สำเร็จเมื่อเดือน ม.ค. 2562 นี้ ถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นท้ายๆ ของท่าน นอกจากคดีปราสาทพระวิหารที่คนไทยจำได้เป็นอย่างดี

“สำหรับอาการป่วยของท่าน ไม่ทราบมาก่อนเลย เพราะท่านไม่เคยพูดถึงตลอดช่วงการทำงานด้วยกัน ยังคงทำงานอย่างเข้มแข็งตามปกติ จนกระทั่งมาทราบ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ การจากไปของท่านทูตถือเป็นเรื่องน่าเสียดายบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เพราะเชื่อว่าแม้จะเกษียณอายุราชการหลังจากนั้นก็ยังท่านก็ยังคงทำสิ่งต่างๆ ให้กับประเทศได้อีกมาก” ผศ.ธนพร กล่าว

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่เดินทางกลับมาหลังต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ท่านทูตวีรชัย กล่าวอย่างสุภาพกับประชาชนที่มารอต้อนรับและยกย่องให้เป็นฮีโร่ว่า

“ผมไม่ได้เป็นฮีโร่ ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ทำงานที่ตัวเองต้องทำก็แค่นั้นล่ะครับ ทำหน้าที่ของเรา”

ด้านกระทรวงการต่างประเทศ ออกจดหมายข่าวถึงการจากไปของท่านทูตวีรชัย มีเนื้อความว่า

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งว่า ได้รับทราบข่าวด้วยความเศร้าสลดใจอย่างยิ่งว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562 เวลา 00.43 น. (ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา) ที่โรงพยาบาล Johns Hopkins Medicine เมือง Baltimore มลรัฐ Maryland

เอกอัครราชทูตวีรชัยฯ เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2530 และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

เอกอัครราชทูตวีรชัยฯ เป็นนักการทูตที่มีความรู้ ความสามารถและเป็นแบบอย่างที่ดีในกระทรวงการต่างประเทศ มีผลงานที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะนักกฏหมายระหว่างประเทศและนักเจรจาในเวทีทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะหัวหน้าคณะทนายกฏหมายระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร และในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

การจากไปของเอกอัครราชทูตวีรชัยฯ นับเป็นการสูญเสียบุคลากรทางการทูตที่สำคัญของไทยที่เป็นที่นับถือในวงการระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความอาลัยยิ่งและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับภริยาและครอบครัว ณ ที่นี้ข่าวจาก : workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: