ครม.อนุมัติหั่นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ0% แก้ฝุ่นพิษ






ครม.ไฟเขียวภาษีรถยนต์ลดฝุ่นพิษ หั่นภาษีรถไฟฟ้าเหลือ 0% สำหรับรถที่ผลิตในปี 2563-65 จากเดิม 2% หวังสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนจากปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่ลดลง ส่วนรถปิคอัพที่ใช้มาตรฐานยูโร 5 ใช้บี 20 ได้ ลดภาษีตามประเภทเครื่องยนต์ คาดสูญรายได้ปีละ 1,500 ล้านบาท


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีสำหรับยานพาหนะ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 – PM10) ตามที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้การแก้ปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กรมสรรพสามิตเสนอ คาดสูญเสียรายได้จากงบส่วนนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท


มาตรการที่ ครม.อนุมัติมีดังนี้ คือ 1. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามติสำหรับรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้มีอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดมลพิษและฝุ่นจากท่อไอเสีย โดยปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสิ่งเสริมให้เกิดการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรรม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม


โดยเสนอให้ลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุน จากปัจจุบันอัตราภาษี 2% ให้ลดลงเหลืออัตรา 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 จนถึง 31 ธ.ค.2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 ให้ใช้อัตราภาษี 2%ตามเดิม ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการผลิตหลังปี 2568 ให้ใช้อัตราภาษีที่ 8% ตามเดิม มาตรการนี้คาดสูญเสียรายได้ 300 ล้านบาท


2. มาตรการปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ซึ่งการใช้มาตรการภาษีเพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐาน ยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ในปัจจุบันเป็นมาตรฐาน ยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยมาตรการนี้คาดสูญเสียรายได้มากว่า 100 ล้านบาท


หากมีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร รวมทั้งรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซลไม่น้อยกว่า 20% เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ (บี 20) เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทน ในน้ำมันดีเซลส่งผลให้ปริมาณการปล่อยฝุ่น PM ลดลง อันจะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืชซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศ


โดยอัตราภาษีสรรพสามิตตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการปล่อยฝุ่น PM หรือการที่เครื่องยนต์สามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของบี20 ได้ แบ่งเป็น


1. รถยนต์กระบะ (No Cab) ที่มีการปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 กรัม (ก.)ต่อกิโลเมตร (กม.) ปรับลดอัตราภาษีจากสรรพสามิตจาก 2.5% เหลือ 2% ส่วนที่มีการปล่อยCO2 เกิน 200 ก.ต่อกม.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 4% เหลือ3%


2. รถยนต์กระบะ (Space Cab) ที่มีการปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 ก.ต่อกม. ปรับลดอัตราภาษีจากสรรพสามิตจาก 4% เหลือ 3% ส่วนที่มีการปล่อย CO2 เกิน 200 ก.ต่อกม.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 4% เหลือ3% ส่วนที่มีการปล่อยCO2 เกิน 200 ก.ต่อกม.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 6% เหลือ5%


3. รถยนต์กระบะ (Double Cab) ที่มีการปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 ก.ต่อกม. ปรับลดอัตราภาษีจากสรรพสามิตจาก 10% เหลือ 9% ส่วนที่มีการปล่อย CO2 เกิน 200 ก.ต่อกม.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 4% เหลือ3% ส่วนที่มีการปล่อยCO2 เกิน 200 ก.ต่อกม.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 13% เหลือ12%


4.รถยนต์กระบะ4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่มีการปล่อย CO2 ไม่เกิน 175 ก.ต่อกม. ปรับลดอัตราภาษีจากสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 6% สำหรับมาตรการนี้คาดสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท


นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการด้านภาษีที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้จะเกิดผลดีโดยส่งผลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่น PM ตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมาตรฐานยูโร 4 กำหนดให้ปล่อยฝุ่น PM ได้ไม่เกิน 0.025 กรัมต่อกิโลเมตร


นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การที่ ครม.เห็นชอบมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการลดมลพิษพีเอ็ม คาดว่า จะทำให้ต้นทุนทางภาษีของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในปี 2563-2565 รวมถึงผู้ผลิตรถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 ที่ปล่อยฝุ่นพีเอ็มไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลบี 20 ลดลง
โดยประเมินว่าหากรถราคาคันละ 1 ล้านบาท จะลดลงคันละ 2-3 หมื่นบาท และหากค่ายรถมีการทำโปรโมชันราคาก็จะลดลงได้อีก ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่ม


นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า รายละเอียดการลดภาษีในส่วนรถกระบะ มีดังนี้ รถกระบะแบบไม่มีแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. หากปล่อยพีเอ็มไม่เกิน 0.005% จะลดภาษีจาก 2.5% เหลือ 2% รถยนต์กระบะแบบไม่มีแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 4% เหลือ 3% รถยนต์กระบะสเปซแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 4% เหลือ 3% รถยนต์กระบะสเปซแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 6% เหลือ 5%


รถยนต์กระบะ 4 ประตูที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 10% เหลือ 9% รถยนต์กระบะ 4 ประตู ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 13% เหลือ 12% รถยนต์กระบะ 4 ประตูแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 8% เหลือ 6%


ทั้งนี้ คาดจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ให้มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นพีเอ็มตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วยิ่งขึ้น และจะลดค่าเฉลี่ยรถยนต์ที่ปล่อยฝุ่นพีเอ็มลง 5 เท่า เหลือ 100 กรัมต่อคันต่อปี และส่งผลให้รถยนต์ปล่อยฝุ่นพีเอ็มลดลงในแต่ละปีลดลง 76 ล้านกรัมต่อปี และที่สำคัญจะลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน และค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล


ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: