แตกไลน์หวังคืนทุนมากขึ้น!! โรงงานยาสูบฯ มีแผนเล็งขายกัญชา กัญชง รับขึ้นภาษีบุหรี่ ต.ค.นี้





 

โรงงานยาสูบฯ จ่อ ขยายธุรกิจใหม่ “รุกตลาดยาเส้น วางแผนให้เกษตรกรปลูกกัญชาและกัญชง ทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป หลังประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตรอบใหม่ ต.ค.นี้ ทำให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น คาดคนสูบลดน้อยลง

วันที่ 23 ก.พ. นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท. กล่าวว่า ได้เตรียมขยายธุรกิจเพื่อชดเชยรายได้จากการขายยาสูบ ที่หายไปจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่จะปรับขึ้นอีกรอบในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาบุหรี่ในท้องตลาดปรับขึ้นราวร้อยละ 30-40 หรือมีราคาไม่ต่ำกว่าซองละ 93 บาท จนทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อบุหรี่น้อยลง

ทั้งนี้การชดเชยรายได้ ก็คือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นใบยาเส้นอีก 2 แบรนด์ เน้นกลุ่มตลาดราคาถูก โดยจะเริ่มวางจำหน่ายในตลาดในเดือนเมษายนนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวบุหรี่ราคาถูกซองละ 55 บาท ซึ่งถือเป็นบุหรี่ที่มีราคาถูกที่สุดของการยาสูบ เนื่องจากปรับโครงสร้างภาษีใหม่รอบแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเลิกสูบบุหรี่หันไปสูบยาเส้นแทน

นอกจากนี้ ยังวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ ทั้งยาเส้นและบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ล่าสุดได้จับมือกับกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ว่าจ้างโรงงานในเวียดนามผลิตบุหรี่ เพื่อวางจำหน่ายในเวียดนามแล้ว

ส่วนแผนระยะต่อไป จะส่งเสริมให้ชาวไร่ใบยาปลูกพืชอื่นทดแทนใบยาสูบ เบื้องต้นคาดว่าจะสนับสนุนให้เกษตรกร ปลูกกัญชงและกัญชา หากพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้รับการปลดออกจากพืชควบคุมตามกฎหมาย

เนื่องจากสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ทั้ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ สิ่งทอ และพลังงาน โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริม ในรูปแบบคอลลาเจน ซึ่งมีความต้องการสูงมากในตลาดต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายผลดำเนินงานในปี 2562 คาดว่าจะมีกำลังผลิตและจำหน่ายบุหรี่ราว 1 หมื่น 9 พันล้านมวน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

โดยมีกำไร 400-500 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีกำไร 900 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 20 เท่าตัว เมื่อเทียบกับกำไรก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะในปี 2560 การยาสูบเคยมีกำไรสูงกว่า 9 พัน 8 ร้อยล้านบาท

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: