เปิดแนวคิด10เมืองใหญ่ทั่วโลกกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ ทำยังไงกันบ้างฝุ่นถึงหายไป





 

จากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ "เริ่มมีผลต่อสุขภาพ" ซึ่งตอนนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่เหมือนจะยังแก้ไขไม่ตรงจุด และสถานการณ์ก็วิกฤตมากขึ้น วันนี้จะพาไปดูการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ใน 10 ประเทศที่เคยประสบปัญหานี้ เขาจะแก้ปัญหายังไง ตามไปดูกันเลย

1. ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ปารีสสั่งให้งดใช้รถยนต์ในย่านศูนย์กลางเมืองช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ใช้ขนส่งสาธารณะแทน โดยให้บริการฟรีตลอดช่วงมาตรการลดมลพิษทางอากาศ กระตุ้นให้เกิดการแชร์รถยนต์และจักรยาน โดยทำโครงการให้ยืมจักรยาน อีกทั้งห้ามใช้รถยนต์ตลอดถนนฝั่งขวาของแม่น้ำแซน และห้ามใช้รถยนต์ในถนนฌ็องเซลิเซ่ เดือนละครั้ง และห้ามรถยนต์เก่าและรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขับเข้าเขตใจกลางเมืองอย่างสิ้นเชิง

 

 

2. นิวเดลี ประเทศอินเดีย

กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย สั่งห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ และรถ SUV ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ซีซี ยกเลิกการใช้รถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลกว่าหมื่นคัน นอกจากนี้ ยังทดลองนโยบายให้รถเลือกวิ่งวันคู่หรือวันคี่ และส่งเสริมการใช้รถมินิบัสออนดีมานด์แบบ Uber มากขึ้น

 

 

3. เนเธอร์แลนด์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เสนอนโยบายห้ามขายรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลภายในปี 2025 อนุญาตให้ขายเพียงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์ไฮโดรเจนเท่านั้น อาจฟังดูโหดเกินไป แต่กฎหมายใหม่ที่เสนอนี้อนุญาตให้คนที่มีรถยนต์อยู่ก่อนประกาศใช้กฎหมายสามารถใช้รถคันเดิมต่อไปได้

 

 

4. ไฟรบวร์ก ประเทศเยอรมนี

ไฟรบวร์กเป็นเมืองที่มีทางจักรยานรวมระยะทาง 500 กิโลเมตร มีขนส่งระบบรางและระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก Vauban หมู่บ้านชานเมืองแห่งหนึ่งในไฟรบวร์กห้ามไม่ให้ผู้คนจอดรถใกล้บ้านเรือน และให้เจ้าของจอดรถที่พื้นที่รอบนอกเมือง สำหรับผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช้รถยนต์จะได้รับอัตราค่าเช่าบ้านถูกกว่าคนที่มีรถ รวมถึงได้รับบริการขนส่งสาธารณะฟรี และมีจักรยานให้ใช้ฟรี

 

 

5. โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

โคเปนเฮเกนให้ความสำคัญกับจักรยานมากกว่ารถยนต์ และปัจจุบันจำนวนจักรยานมีมากกว่าจำนวนประชากรไปแล้ว แนวคิดการใช้จักรยานนี้ได้ทำเป็นการคิดมูลค่าของจักรยานเทียบกับรถยนต์ โดยการขี่จักรยาน 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.42 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การใช้รถยนต์ส่วนตัวระยะทาง 1 ไมล์ให้มูลค่าประมาณ 0.20 ดอลลาร์ นอกจากนี้ เมืองส่วนใหญ่ในเดนมาร์กทยอยหยุดใช้รถยนต์มากว่า 10 ปีแล้ว และมีแผนมุ่งจะเป็นเมือง “carbon neutral” หรือเมืองที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ภายในปี 2025

 

 

6. เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

เมืองหลวงของฟินแลนด์มีแผนจะลดรถยนต์ลงอย่างฮวบฮาบโดยการทุ่มเงินลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถสูงขึ้น สนับสนุนการใช้จักรยานและการเดิน มีการแปลงถนนวงแหวนในเมืองชั้นในเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเดิน และมีไอเดียจะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพดีมากจนไม่มีใครต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัวภายในปี 2050

 

 

7. กอริติบา ประเทศบราซิล

เมืองในตอนใต้ของประเทศบราซิลที่มีประชากร 2 ล้านคน เป็นเมืองที่มีระบบรถโดยสารขนาดใหญ่และราคาถูกที่สุดในโลก ประชากรเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไปทำงานโดยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ผลที่ได้คืออากาศที่ไม่มีมลพิษ และไม่มีปัญหารถติด

 

 

8. บังคาลอร์ ประเทศอินเดีย

อีกหนึ่งเมืองใหญ่ในประเทศอินเดีย เมืองนี้กำลังแปลงรถบัส 6,000 คันให้เป็นรถบัสใช้ก๊าซธรรมชาติ ตอนนี้เมืองบังคาลอร์สามารถลดมลพิษทางอากาศได้แล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียงไม่กี่ปี และ 1 ใน 4 ของคนที่เคยใช้รถยนต์ส่วนตัวเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะ

 

 

9. ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สำหรับการแก้ปัญหาในมหานครลอนดอนและทั่วอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือนในปี 2022 และรัฐบาลยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือว่าจะเลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในบ้าน และจำกัดการขายไม้เปียกที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย นอกจากนั้น จะออกมาตรการกำหนดให้ใช้วิธีทำเกษตรที่ปล่อยก๊าซแอมโมเนียลดลง โดยรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนการลงทุนเทคโนโลยีที่จำกัดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียได้

 

 

10. มาดริด ประเทศสเปน

รัฐบาลสเปนเพิ่งออกมาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศย่านใจกลางกรุงมาดริด เมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา และกระตุ้นให้ประชาชนใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตใจกลางเมืองได้ต้องผ่านการตรวจวัดการปล่อยไอเสียรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุม

 

ข้อมูลจาก : kaijeaw.net

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: