‘พล.อ.ประยุทธ์’ ยืนยันไม่ลาออก เผยถ้าอยู่ต่อจะไม่มาแบบนายกฯ คนนอก





 

นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ปรับ ครม.ใหม่หลัง 4 รัฐมนตรีลาออกไปเล่นการเมือง ให้รัฐมนตรีคนอื่น-รองนายกรัฐมนตรีทำงานแทน ส่วนอนาคตทางการเมืองต้องรอให้มีการทาบทามและศึกษานโยบายพรรคก่อน ขออย่าเร่งรัดให้รอช่วงรับสมัคร 4-8 ก.พ. เลย ย้ำระหว่างนี้ไม่ลาออก และจะไม่เป็นนายกฯ คนนอก

วันที่ 29 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณี  4 รัฐมนตรีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย นายอุตตม​ สาวนายน​ รมว. อุตสาหกรรม​ หัวหน้าพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค​, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์​ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค ลาออกจากตำแหน่งว่า

เมื่อช่วงเช้าทั้ง 4 คนได้มาพบเพื่อขอลาไปทำงานการเมือง ตนก็ขัดข้องไม่ได้ แม้จะเสียดายมากน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะที่ผ่านมาก็ช่วยตนทำงานมานานพอสมควร การทำงานทุกคนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายเรื่อง แต่เรามีกลไกที่ช่วยทำงานอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้ และไม่มีนโยบายปรับ ครม.ในช่วงนี้แน่นอน

สำหรับงานของ กระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรมดูแล, กระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล , กระทรวงพาณิชย์ ให้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ดูแล และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.สำนักนายกฯ อีกคนดูแล ส่วนงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น BOI,EEC ให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดูแล ทั้งนี้หากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลไม่อยู่ให้รองนายกรัฐมนตรีด้านนั้นๆ ดูแล ไม่น่ามีปัญหาในการทำงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการตัดสินใจทำงานการเมืองว่า อย่างที่บอกแล้วว่า จะต้องมีคนมาเชิญก่อนและตนต้องนำนโยบายของพรรคนั้นมาศึกษาว่ารับได้ไหม ถ้าจะร่วมงานทางการเมือง เพราะตนทำงานมา 4-5 ปี รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรทำได้หรือไม่ ตนได้ศึกษากฎหมายทุกตัว ทั้งระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ การหารายได้ รายได้-รายจ่ายของรัฐบาล ดังนั้น การตัดสินใจ ควรอยู่หรือไม่อยู่ ทำต่อหรือไม่ทำต่อ ถ้าทำต่อจะได้แค่ไหน ยังมีเวลาตัดสินใจเพราะการเสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีมีเวลาถึงวันที่ 4-8 ก.พ.จะพิจารณาในช่วงนั้นและจะรู้กันในช่วงนั้น อย่าเพิ่งเร่งรัดอะไรตนมากนักเลย

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปหารือฝ่ายกฎหมาย คือกฤษฎีกา และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้ชัดเจน ถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรี ทั้งการเยี่ยมประชาชน. การประชุม ครม.นอกสถานที่ และการพูดทุกวันศุกร์ทำได้แค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองและผิดกฎหมาย การตัดสินใจของตนต้องรอบคอบ

ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีตัดบทด้วยการดูนาฬิกาและกล่าวว่า เอาละนะอย่าเพิ่งถามอะไรเลย ต้องไปแล้ว แต่เมื่อสื่อถามต่อว่า จะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่ออก ออกแล้วใครจะทำล่ะ ก็ไม่ออก เป็นนายกฯอยู่นี่แหละ กฎหมายเขาไม่ได้ให้ออกก็ไม่ออก” ส่วนตำแหน่งหัวหน้า คสช.ก็เป็นไปตามกฎหมายที่เขียนไว้ว่าจะต้องอยู่เมื่อไร ก็นั่นล่ะอย่ามาถามซ้ำ

“ผมก็มีคำตอบของผมอยู่แล้ว จะอยู่หรือไม่อยู่ ผมมีคำตอบในใจของผมขั้นตอนแรกแล้ว ผมบอกแล้วไงผมขอดูก่อน ดูนโยบายต่างๆ ขึ้นมา ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเป้นนายกรัฐมนตรีของผมหรือเปล่า ซึ่งผมคงลาออกไม่ได้อยู่แล้วล่ะ การเป็นนายกรัฐมนตรีกับการเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าจะระมัดระวังตัวเองก็ไม่ต้องพูดอะไรเลย”

ส่วนการตัดสินใจทำงานการเมืองต่อจะต้องคุยกับคนในครอบครัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การตัดสินใจอะไรคงไม่ต้องปรึกษาครอบครัว เพราะเป็นเรื่องของตน การตัดสินใจบางอย่างไม่ได้ถาม ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ของตนอยู่แล้ว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ถ้าตัดสินใจจะอยู่ต่อ จะอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง เอาแบบนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปนายกฯ คนนอก คนใน วุ่นวายกันไปหมด ถ้าอยู่ก็จะอยู่ในบัญชีชื่อ

ข่าวจาก : workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: