อัพเดทชีวิต’ครูน้อย’ปัจจุบัน! ตัดพ้อชีวิต คิดสั้นกินยาเบื่อหนู คนรอบตัวหนีหน้า หนี้สินเยอะไม่รู้จะสู้ยังไงไหว





 

เมื่อวันครูใกล้เข้ามาถึง…หลายคนคงนึกถึงครูในดวงใจที่เคารพนับถือมิเคยเสื่อมคลาย หลายคนนึกถึงครูผู้มากพระคุณต่อลูกศิษย์ลูกหา แต่หลายคนอาจจะลืมเลือนครูคนหนึ่งออกไปจากความทรงจำ ดั่งเช่นครูคนนี้ที่ถูกลืม “ครูน้อย” หรือนวลน้อย ทิมกุล ผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กยากจน “บ้านครูน้อย” (ปิดตัวไปแล้ว 3 ปี)

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ครูน้อย” เรือจ้างผู้ใจบุญที่ครั้งหนึ่งคนทั้งประเทศรู้จัก และพูดถึงเรื่องราวชีวิตของเธอมากที่สุด วันนี้เธอโรยรา อ่อนล้า นั่งวีลแชร์ ดวงตาเต็มไปด้วยความเศร้าหมองและอิดโรยอย่างที่สุด

“ตอนนี้ความเป็นอยู่ของครูค่อนข้างลำบาก เป็นแผลใต้เท้า เลือดไม่พอเลี้ยงสมอง ไม่มีเงิน แต่ยังโชคดีที่ครูได้รับอาหารจากวัดมาประทังชีวิตอยู่บ้าง” ครูน้อย พูดถึงชีวิตของเธอไม่ยาวนัก แต่รับรู้ได้ถึงความยากลำบากขีดสุด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเด็กๆ ที่ครูน้อยเคยช่วยเหลืออุปการะ ครูน้อยตอบว่า “เราไม่คาดหวังเลยนะ ไม่คาดหวังให้เด็กๆ เหล่านี้กลับมาทดแทนพระคุณ เราไม่คาดหวังในสิ่งเหล่านี้เลย เพราะเด็กๆ ลูกศิษย์ลูกหา เพิ่งจบการศึกษากันไป เขายังไม่แข็งแรงพอที่จะมาโอบอุ้มครูได้ แต่ก็ยังมีบางคนที่แวะเวียนมาหาในวันสำคัญบ้าง”

ส่วนลูกชายแท้ๆ 2 คนนั้น ครูน้อย กล่าวถึงพวกเขาว่า “ลูกสองคนจบปริญญา อายุ 30 กว่า มีครอบครัวกันไปหมดแล้ว เขามีงานทำมั่นคง(เงียบไปชั่วครู่) แต่แม่ทิ้งภาระไว้ให้ลูกๆ ทั้งสองคนมากเหลือเกิน(เสียงสั่น) ครูก่อหนี้ก่อสินเอาไว้มากมาย จนลูกๆ ต้องมาตามชดใช้ไม่จบไม่สิ้น”

ลูกคนโตต้องมาใช้หนี้ที่แม่ไปกู้มาจากหลายๆ ที่ ลูกคนเล็กต้องรับภาระส่งค่าบ้านที่แม่เอาไปจำนองไว้ ทุกอย่างมันเกิดจากการทำงานของครูทั้งนั้น ครูสงสารเขาทั้งสองคนมาก(เสียงสั่น) ลูกแท้ๆ ที่ไม่เคยได้มีชีวิตสุขสบาย เขาต้องมาเก็บหอมรอมริบ กระเบียดกระเสียรมาใช้หนี้ให้แม่ เขาควรมีชีวิตที่เป็นของเขา เขาควรมีความสุขอย่างที่มันควรจะเป็น แต่นี่ไม่ใช่” ครูน้อยพยายามกลั้นน้ำตาอย่างที่สุด

“เชื่อไหม ตอนที่ยังไม่ปิดบ้าน ในทุกๆ คืนก่อนครูจะหลับ ครูจะคิดอยู่ในหัวว่า พรุ่งนี้เงินที่เรามีจะพอให้พวกเด็กๆ เอาไปโรงเรียนมั้ย พรุ่งนี้จะทำอะไรให้เด็กๆ กิน ถ้าดูแล้วว่า เงินไม่พอแน่ๆ เช้ามาครูต้องเอาข้าวของในบ้านออกไปเร่ขาย ครูทำงานจนลืมลูกลืมเต้า ครูทุ่มเทให้กับคนอื่น จนชีวิตลูกต้องมาเป็นแบบนี้(ร้องไห้) แล้วสังคมยังมามองเขาว่า แม่ของเขาเอาเงินมาทุ่มเทให้เขา ทั้งๆ ที่ความจริงลูกๆ ของครูเขาไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ(ร้องไห้)”

“ดูสิชีวิตครู ทุ่มเทให้กับคนอื่นมาโดยตลอด แบ่งปันให้กับทุกคนมาตลอด แต่สังคมกลับมองว่า ครูนำเงินที่ได้มาจากการบริจาคไปปรนเปรอลูก ครูเสียใจมาก เพราะข่าวผิดๆ ข่าวไม่จริง ทำให้ครูถูกทิ้งร้างจากสังคม ถ้าครูนำเงินไปใช้แบบนั้นจริงๆ ชีวิตครู ชีวิตลูกๆ จะต้องมาลำบากลำบนแบบนี้มั้ย ครูน้อย ตัดพ้อ

“ในช่วงที่ผ่าน เคยมีคนที่เขาไม่หวังดีไปบอกนักข่าวว่า ครูซื้อที่ดิน 70-80 ไร่ ถอยรถป้ายแดงให้ลูก มาดูให้เห็นกับตากันได้เลยว่า ทุกวันนี้ครอบครัวเราเป็นอย่างไร ลูกชายต้องใช้รถแฟนเขา เพราะไม่มีเป็นของตัวเอง บ้านที่อยู่ตอนนี้ก็ติดจำนองเสียด้วยซ้ำ ครูทุ่มเทกับสิ่งที่ทำมามาก ครูแบ่งปันมามากมาย พอมาวันนี้ วันที่ทุกอย่างลงเอยแบบนี้ ครูเลยเสียใจมาก เสียใจที่สุด(เสียงสั่น)”

ความเศร้าเสียใจเกาะกุมทั้งหัวใจของครูน้อย จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด “ไม่นานมานี้ ครูยอมรับเลยว่า ครูคิดสั้น เพราะหลังจากปิดบ้าน ครูมีหนี้สินเยอะมาก ครูมีความคิดที่ไม่อยากจะสู้แล้ว ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว ครูผูกคอฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จ”

“ครูเกิดความรู้สึกถูกทอดทิ้งจากสังคม คนที่เคยเอื้ออาศัยต่อกัน มาวันนี้กลับหนีหน้า ไม่รู้จักไม่ทักทาย ครูจึงตัดสินใจกินยาฆ่าหนู แต่ก็ไม่สำเร็จ และหาทางตายด้วยวิธีการอื่นๆ มาโดยตลอด แต่ก็ไม่บรรลุผล(เธอไม่ระบุว่า รอดจากการฆ่าตัวตายได้อย่างไร) จะเป็นเพราะบุญหรือกรรมก็ไม่รู้ที่ทำให้ครูยังอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้”

ภายหลังจากที่ครูน้อยประกาศปิดบ้าน ประชาชนที่รู้จักครูน้อยต่างคาดหวังว่า ครูน้อยจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่เลย “ลูกทั้งสองคนยังคิดว่า แม่จะได้พักผ่อน ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขาอีกแล้ว แต่คนเป็นแม่คนนี้ก็ได้แต่บอกกับลูกว่า ถึงแม้ว่าแม่จะปิดบ้าน แต่การปิดบ้านไม่ได้ปิดหัวใจแม่ไปด้วย แม่ยังมีภาระที่จะต้องช่วยเหลือคนอยู่”

ปัจจุบัน ครูน้อยได้รับเงินจากลูกชายทั้ง 2 คน เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาทต่อสัปดาห์(ใช้กินใช้อยู่กับสามี) แต่ครูน้อยก็ยังคงแบ่งปันเงินจำนวนนี้ให้กับเด็กพิการ และเด็กที่มีปัญหาทางสมองอีก 2 คน จนทำให้เธอและสามี มีเงินเหลือกินเหลือใช้ วันละไม่เกิน 100 บาท

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: