เฮกันทั้งโลก นาซ่าส่ง “ยานอินไซต์” จอดบนดาวอังคารสำเร็จแล้ว สำรวจส่งภาพมาได้ดั่งใจ!(คลิป)





นาซาเฮลั่น เอพี รายงานว่า เมื่อ 26 พ.ย.  ทีมงานองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ที่ห้องปฏิบัติการ JPL เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ฉลองกันอย่างปลาบปลื้ม หลังควบคุมยานสำรวจอินไซต์ (InSight lander) ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ หลังเดินทางจากโลกไปนาน 6 เดือน ระยะทาง 482 ล้านกิโลเมตร นับเป็นภารกิจสำรวจอวกาศครั้งแรกที่มุ่งจะศึกษาโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์สีแดงโดยเฉพาะ

ยานสำรวจอินไซต์ลงจอดบนที่ราบเอลีเซียม แพลนิเทีย ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรดาวอังคาร ตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังถ่ายภาพภูมิประเทศรอบตัว และส่งกลับมายังโลกภายใน 30 นาทีแรกที่แตะพื้นดาวอังคาร ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้

“ไร้ตำหนิ!” นายร็อบ แมนนิง หัวหน้าทีม JPL ประกาศก้อง ก่อนกล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราหวังไว้และจินตนาการอยู่ในดวงตาของจิตใจ บางครั้งเรื่องก็เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็น”

ทีมงานนาซาลุ้นระทึกกับภารกิจนี้มาก เนื่องจากมีความยากลำบากมากมาย ทั้งสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของดาวอังคาร รวมทั้งปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ อีกทั้งบรรยากาศของดาวอังคารที่เบาบางเพียง 1% ของบรรยากาศโลกทำให้เกิดแรงเสียดทานที่จะช่วยชะลอความเร็วของยานได้น้อย ทำให้ภารกิจในอดีตล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง

บรูซ แบเนิร์ดต์ หัวหน้าทีมอินไซต์ กล่าวว่า การลงจอดที่ดาวดังคารเป็นงานยากยิ่งสำหรับการสำรวจ มันเป็นงานหิน อันตราย และมีโอกาสอันไม่น่าสบายใจว่าอาจเกิดอะไรผิดพลาดได้

ทั้งนี้ ยานอินไซต์ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่แบบเดียวกับยานฟีนิกซ์ ซึ่งเคยลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จมาแล้ว ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคารมาแล้วในปี 2550 ส่วนครั้งสุดท้ายที่นาซาส่งยานไปลงจอด คือคิวเรียสซิตี โรเวอร์ เมื่อปี 2552

สำหรับภารกิจต่อไปนี้ คือการสำรวจโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์สีแดง ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ช่วยบ่งบอกถึงสภาพชั้นหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาภายใน และมีหุ่นยนต์ตัวตุ่น คอยวัดอุณหภูมิใต้ดินของดาว โดยจะฝังตัวอยู่ลึกลงไปจากพื้นผิว 5 เมตร เพื่อให้ทราบว่าดาวอังคารยังคงมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในอยู่มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยานจะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุเพื่อวัดว่าดาวอังคารเหวี่ยงตัวรอบแกนหมุนของตนเองอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากการตรวจสอบและทดลองทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

ชมคลิป

ขอบคุณที่มาจาก :CNBC Television

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: