สิงคโปร์เตรียมยกเลิกใช้ข้อสอบวัดผล ชี้ ‘การเรียนรู้ไม่ใช่การแข่งขัน’





 

"สิงคโปร์" ประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาในอันดับต้นๆ ของโลก มีแผนเตรียมยุติข้อสอบวัดผลในสถานศึกษา โดยจะหันไปมุ่งเน้นวัดผลการเรียนจากการบ้านที่คุณครูให้ การอภิปรายหน้าชั้น และการทดสอบในห้องเรียนแทน

โดยในปี 2561 การให้คะแนนและการออกเกรดเพื่อประเมินประสิทธิภาพนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1-2 จะถูกยกเลิกไป ขณะที่นักเรียนชั้น ป.3 จนถึงระดับมัธยม จะมีสภาพแวดล้อมในการเรียนที่มีการแข่งขันน้อยลง คือการให้คะแนนสำหรับวิชาต่างๆ จะถูกปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มใกล้ที่สุด หมายความว่าจะไม่มีการให้คะแนนที่มีจุดทศนิยมตามมา

“การเรียนรู้ไม่ใช่การแข่งขัน” นี่คือคำพูดของนายออง เย่ คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างผลการเรียนของนักเรียนด้วยกัน และต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เกิดความสนใจกับพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ระเบียนแสดงผลการเรียนของนักเรียนระดับประถมและมัธยม จะไม่มีการระบุว่านักเรียนสอบได้ที่เท่าไหร่ของชั้นเรียน ในขณะที่การคำนวนค่าเฉลี่ยรายวิชาและเกรดเฉลี่ยรวมจะหายไป รวมทั้งจะไม่มีการแสดงผลคะแนนที่ขีดเส้นใต้ หรือเน้น หรือบันทึกผลการสอบผ่าน-ไม่ผ่านในช่วงปลายปี

แนวทางการศึกษารูปแบบใหม่ของสิงคโปร์ ตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ทาง OECD จะทำการประเมินระบบการศึกษาทั่วโลกเป็นประจำทุกๆ 3 ปี โดยการทดสอบได้ทำการเปรียบเทียบความสามารถทางวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี ซึ่งสิงคโปร์ ได้กำหนดมาตรฐานความสำเร็จในการสอบ PISA ด้วยคะแนนเฉลี่ย 1,655 คะแนนใน 3 วิชาหลัก ครองอันดับ 1 ของโลก เมื่อปี 2560

นอกจากนี้ใน 4 อันดับแรกประเทศที่โดดเด่นที่สุดในระบบการศึกษามาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และมาเก๊า ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของการสอบอันแข็งแกร่ง

สำหรับสิงคโปร์ การยกเลิกการสอบวัดผลในสถานศึกษานั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ซึ่งจะเดินควบคู่ไปกับนโยบายเพื่อประสิทธิภาพทางวิชาการใหม่ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางสังคมในหมู่นักเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และทักษะการตัดสินใจ

การเรียนรู้ในชั้นเรียนจะถูกปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ โดยสิงคโปร์ได้จัดเตรียมนักเรียนให้ทำงานในภาคบริการที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งทีมแนะแนวอาชีพ ไปเปลี่ยนความรู้สึกที่มีอยู่เดิมและผลักดันแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับนักเรียน นอกเหนือจากการทำงานในแวดวงธนาคาร ภาครัฐ และการแพทย์

อย่างไรก็ตาม การปรับทัศนคตินักเรียนสิงคโปร์อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ยังง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพ่อแม่ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเครียดและความรุนแรงในการสอบแข่งขัน

ข่าวจาก : workpointnews, sanook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: