ข้อมูลไม่ตรงกัน!! เวรเปล รพ.พระราม2 ยันสาวถูกราดน้ำกรดมีสติไม่ทรุด-แท็กซี่ที่มารับสาวน้ำกรดโต้ขายกไม่ขึ้น นั่งนิ่งก่อนตาย(มีคลิป)





 

จากกรณี วันที่ 9 พ.ย. 61 นางช่อลัดดา ทาระวัน ผู้เสียชีวิต ถูกสามีใหม่ราดน้ำกรดใส่ ก่อนหลบหนี ด.ญ.เตเต้ ลูกสาววัย 12 ปี รีบพาแม่ส่งโรงพยาบาลพระราม2 กลับถูกปฏิเสธไม่รักษาให้ สุดท้ายแม่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิต ญาติร้องขอความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลพระราม 2

 


นพ.พีระ คณานุวัฒน์ ศัลยแพทย์ทั่วไป และที่ปรึกษาประจำ รพ.พระราม 2

 

วันที่ 12 พ.ย. 61 นพ.พีระ คณานุวัฒน์ ศัลยแพทย์ทั่วไป และที่ปรึกษาประจำ รพ.พระราม 2 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพระราม 2 มีแพทย์เวรในช่วงดึกอยู่ประจำ 2 คน ที่ห้องฉุกเฉิน 1 คน และห้อง ICU 1 คน ซึ่งในวันเกิดเหตุแพทย์ที่อยู่ห้องฉุกเฉินอยู่ภายในห้องพัก จึงไม่ได้ออกมารับคนไข้ แต่มีพยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน เป็นผู้รับ นางช่อลัดดา โดยเหตุการณ์ขณะนั้นเร่งรีบมาก เนื่องจากคนไข้วิ่งเข้ามา พลางร้องว่า ”ช่วยด้วย ๆ แสบร้อนไปหมด”

สภาพคนไข้ขณะนั้น มีคราบยาสีฟันเต็มแขนและใบหน้า บุรุษพยาบาลจึงให้นางช่อลัดดา ไปล้างคราบยาสีฟันที่อ่างล้างหน้า ขณะนั้นคนไข้สามารถลุกขึ้นจากเตียงเดินไปล้างด้วยตนเองอย่างคนปกติ และลักษณะของบาดแผลเป็นแค่รอยแดงเท่านั้นไม่มีลักษณะผุผอง จึงประเมินว่า ผิวหนังดังกล่าวเป็นแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวก เป็นการประเมินเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง

 


จุดที่ผู้ตายเข้ามาล้างคราบยาสีฟัน

 

นพ.พีระ กล่าวอีกว่า คนไข้บอกกับบุรุษพยาบาลว่า “โดนน้ำร้อนสาด” หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ล้างแผล และพันผ้าปิดแผล เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้น ก็วัดชีพจร วัดการหายใจ พบว่า ในเกณฑ์ปกติทั้งหมด บุรุษพยาบาลจึงได้โทรศัพท์หาตนว่า จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล ตนรับทราบเรื่องและให้รับนางช่อลัดดาเป็นผู้ป่วยใน จากนั้นบุรุษพยาบาลเล่าว่า คนไข้ประสงค์ที่จะไป รพ.บางมด เนื่องจากมีสิทธิประกันสังคม แต่ขณะที่มานั้น แท็กซี่เห็นว่า คนไข้ดิ้น และร้องตลอดทาง จึงพาส่งโรงพยาบาลพระราม 2 ที่ใกล้กว่าก่อน

จากนั้น รพ.พระราม 2 จึงประสานกับ รพ.บางมด ว่าจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และโทรศัพท์สอบถามยัง พยาบาลตรวจการ ของโรงพยาบาลบางมด แต่ไม่มีใครรับสาย โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที กระทั่งนางช่อลัดดา บอกว่า ประสงค์จะเดินทางไปเอง บุรุษพยาบาลจึงเรียกเวรเปลที่จะไปส่ง เมื่อไปส่งก็มีบุรุษพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล พร้อมกับ พนักงานเวรเปลที่ไปส่ง ขึ้นรถ ซึ่งยืนยันว่า นางช่อลัดดา ยังสามารถโต้ตอบและพูดคุยได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีไล่ให้ไปรักษาที่อื่นและให้เงิน 40 บาท นั้น ตนยอมรับว่ามีการให้เงินจริง เนื่องจากผู้ช่วยพยาบาล พบว่าลูกของนางช่อลัดดามีเงินติดตัวเพียง 50 บาท ผู้ช่วยพยาบาลคาดว่าเงินอาจไม่พอค่ารถ จึงให้เพิ่มอีก 40 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการไล่ แต่เป็นการให้เงินเนื่องจากความสงสาร

ถามว่าทางโรงพยาบาลผิดหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าผิดบางส่วน คือ บุรุษพยาบาลไม่เรียกหมอมาตรวจดูอาการ แต่บุรุษพยาบาลคนดังกล่าวโทรศัพท์หาตน และให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลแต่ผู้ป่วยไม่ยอม นอกจากนี้ บุรุษพยาบาลยังไม่ได้ ให้นางช่อลัดดา เซ็นเอกสารไม่ขอรักษาที่โรงพยาบาล เพราะขณะนั้น มือของนางช่อลัดดา สั่นจนไม่สามารถเขียนหนังสือได้ จึงไม่ได้ลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานเอาไว้

ทั้งนี้ นพ.พีระ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดเรียบร้อยแล้ว เห็นพฤติการณ์นางช่อลัดดา วิ่งทั่วโรงพยาบาล เหมือนไม่รู้ว่าห้องฉุกเฉินอยู่ทางไหน และเข้าโรงพยาบาล ในเวลา 05.30 น. ออกจากโรงพยาบาล 06.04 น. ซึ่งได้ให้ข้อมูลทั้งหมด กับพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยกับสื่อมวลชนได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของคนไข้ แต่หากครอบครัว ต้องการขอดูกล้องวงจรปิดตนก็ยินดี

 


นายเอ (นามสมมติ) พนักงานเวรเปลผู้ขนย้ายตัวนางช่อลัดดา

 

จากนั้น นายเอ (นามสมมติ) พนักงานเวรเปลผู้ขนย้ายตัวนางช่อลัดดา กล่าวว่า วันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินประสานมาที่แผนกเวรเปล ให้ขึ้นมารับผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉิน เพราะว่าคนไข้ต้องการจะไปรักษาตัวต่อที่ รพ.บางมด ตนจึงขึ้นไปกับเพื่อนอีกคน จากนั้นตนจึงเข็นนางช่อลัดดา ลงลิฟต์ มา เมื่อลงมาถึงชั้นใต้ดินก็ได้เปลี่ยน จากรถนอนมาเป็นรถเข็น เพื่อสะดวกต่อการขึ้นรถแท็กซี่ ขณะนั้นตนถามนางช่อลัดดา ว่า “ไหวไหม” นางช่อลัดดาตอบกลับมาว่า “ไหว” และตนยืนยันว่า ขณะนั้นคนไข้ยังมีสติอยู่ เพราะหากไม่มีสติ จะตอบคำถามที่ตนถามได้อย่างไร หลังจากนั้นนางช่อลัดดา จึงลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง โดนมีตนประคองอยู่ข้าง ๆ

นายเอ กล่าวอีกว่า ขณะนั้นคนไข้สามารถเดินได้ ตนแค่ประคองเฉย ๆ และไม่มีอาการทรุดไปนั่งกับพื้นตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน ซึ่งลูกก็ยืนอีกฝั่งข้างแท็กซี่ จากนั้นตนพยุงนางช่อลัดดาไปนั่งที่เบาะหลัง พบว่าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวตามปกติ รวมถึงมีสติร้องเจ็บแผลและบอกว่าอยากไปที่ รพ.บางมด จะไปรักษาที่นั้น

 


นายสงัด ดัชธุยาวัตร คนขับแท็กซี่

 

ต่อมา ที่ สน.ท่าข้าม นายสงัด ดัชธุยาวัตร คนขับแท็กซี่พาผู้เสียหายไปส่งโรงพยาบาลบางมด เปิดเผยว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 06.00 น. ตนขับรถแท็กซี่ สีเหลือง อยู่บนถนนพระราม 2 จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ออกมาเรียกตน บริเวณหน้าโรงพยาบาลพระราม 2 ให้เข้าไปรับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลบางมด เมื่อเจอกับนางช่อลัดดาครั้งแรก ตนเห็นว่าคนไข้แทบจะไม่ไหวแล้ว มีอาการหมดแรงโดยนั่งรถเข็นมีเจ้าหน้าที่และพยาบาล ออกมาส่งขึ้นรถของตน พร้อมกับลูก ซึ่งตนยืนยันว่าตอนที่ตนเข้าไปรับผู้ป่วยยังมีสติดี ยังพูดคุยโต้ตอบได้

นายสงัด เปิดเผยว่า ขณะที่อุ้มนางช่อลัดดาขึ้นรถ ขาของผู้ป่วยทรุดลงไป เจ้าหน้าที่ต้องรีบประคองแล้วนำมาใส่ที่เบาะหลัง และเมื่อผู้ป่วยขึ้นมาบนรถ ก็ได้นอนอยู่เบาะหลัง ตลอดทางลูกสาวได้เรียก “แม่ แม่ แม่” ตลอดทาง แต่ผู้ป่วยไม่พูดไม่ร้อง ดูเหมือนไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด แต่เมื่อตนเองได้ขับรถมาถึงที่โรงพยาบาลบางมด พยาบาลได้มารับตัว และยกขานางช่อลัดดา ออกมาจากรถแท็กซี่ ตอนที่จะลงหมอบอกว่า “ไหวไหม “ ตัวนางช่อลัดดาเองก็บอกว่า “ไม่ไหว” ยังตอบโต้ กับพยาบาลที่มารับตัวได้

ทั้งนี้ นายสงัด บอกว่า สภาพของนางช่อลัดดา คือ พันแขนทั้ง 2 ข้าง และมีผ้าก๊อตพันหน้าเอาไว้ บาดแผลไม่มีเลือด ไม่มีอาการผุผองแต่อย่างใด แต่ระหว่างที่อยู่บนรถก็ไม่พูดเลยสักคำ มาพูดตอนที่หมอ ถามที่โรงพยาบาลบางมดเท่านั้น และตนใช้เวลาขับรถ จาก รพ.พระราม 2 ไป รพ.บางมด ในเวลาไม่ถึง 10 นาที อย่างไรก็ตาม นางช่อลัดดาไม่ได้ตายในรถตนเองอย่างแน่นอน เนื่องจากยังสามารถโต้ตอบกับพยาบาลที่ รพ.บางมดได้ ทั้งเมื่อทราบข่าวตนเองรู้สึกตนใจและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 


นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ พร้อมครอบครัวผู้เสียชีวิต เดินทางไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยื่นหนังสือ

 

และในวันเดียวกัน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเดินทางไปกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โดยยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายกแพทย์สภา นายกสภาการพยาบาล เพื่อเอาผิดกับผู้บริหาร รพ.พระราม 2 และแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในขณะเกิดเหตุ รวมถึงมีการดำเนินคดีกับพยาบาลในขณะเกิดเหตุอีกด้วย

ข่าวจาก : อัมรินทร์ทีวี

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: