สรรพสามิตจ่อเสนอครม.พิจารณาเก็บภาษีความเค็ม ตามรอยภาษีความหวาน เพื่อยกระดับสุขภาพประชาชน(มีคลิป)





 

สรรพสามิต จ่อชงครม.อนุมัติแพกเกจภาษีใหม่ เน้นยกระดับคุณภาพชีวิต เล็งเก็บภาษีสินค้าที่ให้ความเค็มมี เกลือ-โซเดียม เป็นส่วนประกอบ ยึดหลักการเดียวกับ น้ำตาล เปิดโอกาสผู้ประกอบการปรับตัว 5 ปี พร้อมหนุนอุตสาหกรรม เอส-เคิร์ฟ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่

กรมสรรพสามิต เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแพกเกจการจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่ที่ถูกจัดอยู่ในพิกัดภาษีสินค้าสรรพสามิตและปรับปรุงสินค้าเดิมที่มีอยู่ โดยแพกเกจภาษีใหม่จะเน้นทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมลงทุนใหม่ หรือ new s-curve ซึ่งแพกเกจภาษีใหม่จะเสนอที่ประชุมครม.ภายในเดือนธ.ค.นี้

 

 

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวถึงกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแพคเกจภาษีใหม่ โดยจะเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็มด้วย ว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ายังคงเป็นข้อเสนอ ยังไม่เห็นหน้าตาออกมาเป็นรูปธรรมว่า จะมีการเก็บในอัตราเท่าไรอย่างไร แต่คาดว่าคงจะได้ตัวอย่างจากภาษีน้ำตาล ซึ่งหากมีการออกกฎหมายเก็บภาษีความเค็มจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะไปมุ่งเป้าสินค้าอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง หากไม่อยากเสียภาษีมากก็ต้องปรับสูตรลดความเค็มลง ซึ่งการกินเค็มน้อยจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีความเค็มอาจมีผลกระทบต่อประชาชนบ้างเล็กน้อย เพราะหากปรับสูตรรสชาติทันทีเลย คนที่ยังกินรสชาติเค็มอาจจะไม่ชิน ซึ่งการปรับสูตรลดความเค็มจะต้องปรับให้ลดลงไม่เกิน 10% ซึ่งลิ้นของผู้บริโภคจะจับไม่ได้ว่าความเค็มเปลี่ยน โดยต้องค่อยๆ ลดความเค็มลงไป แต่ข้อดีคือหากปรับก็เป็นการปรับทุกบริษัท เป็นการไปลดความเค็มหรือลดเกลือตั้งแต่ต้นทาง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก แต่คนที่อยากกินเค็มก็มีสิทธิไปเติมเอง ดังนั้น นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การรณรงค์ลดบริโภคเค็ม เพราะทุกวันนี้คนก็ยังติดการกินเค็มอยู่

“ขณะนี้คนไทยกินเค็มหรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยเมื่อ 8 ปีก่อนคนไทยบริโภคเกลือมากถึง 4 พันมิลลิกรัมต่อวัน เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า คือ 2 พันมิลลิกรัมต่อวัน แต่จากการสำรวจล่าสุดมีข้อมูลว่าคนเริ่มบริโภคเกลือลดลงเหลือประมาณ 3,500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงต้องเดินหน้ารณรงค์ลดบริโภคเค็มลงอีก ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้คนในสังคมตื่นตัวมากขึ้น เห็นได้จากสินค้าต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวทำสูตรลดเค็มกันมากขึ้น เช่น น้ำปลาลดโซเดียม ซีอิ๊วลดโซเดียม เป็นต้น เพราะคนต้องการสินค้าทางเลือกสุขภาพมากขึ้น การมีภาษีความเค็มออกมาเครือข่ายก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งหากทางสรรพสามิตเห็นว่ามีผลดีก็ควรเร่งขับเคลื่อน” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ข่าวจาก : เรื่องเล่าเช้านี้, ประชาชาติธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: