ไม่รู้ไม่ได้!! พนง.สายการบิน-ทนายยืนยัน พาลูกขึ้นเครื่อง ‘สูติบัตรตัวจริง’ เท่านั้น ป้องกันอาชญากรรมเด็ก!! หลังเกิดดราม่าลูกชายดาราสาวขึ้นเครื่องบินไม่ได้





 

จากกรณีที่ดาราสาว "กีต้าร์ ศิริพิชญ์" โพสต์ระบายความอึดอัดใจที่พนักงานสายการบินแห่งหนึ่งไม่อนุญาตให้ลูกชายเธอขึ้นเครื่องได้ เนื่องจากไม่มีสูติบัตรฉบับจริงมายืนยันนั้น

 

 

 

 

 

ทำให้หลายคนสงสัยว่าตกลงแล้วข้อกฎหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่ ทีมข่าว MGR Live จึงสอบถามไปยัง พนักงานภาคพื้นดินประจำสายการบินแห่งหนึ่ง ถึงเรื่องเรื่องราวที่เกิดขึ้น หากพาเด็กขึ้นเครื่องทางสายการบินจะมีการแจ้งหรือไม่ว่าต้องใช้เอกสารอะไรก่อนที่จะขึ้นเครื่อง ซึ่งได้คำตอบว่า ถ้าเป็นผู้โดยสารที่เดินทางไม่บ่อยก็จะไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นโดยหลักการแล้ว หากต้องการทราบข้อมูลก็สามารสอบถามคอลเซ็นเตอร์ของสายการบิน หรือศึกษาผ่านเว็บไซต์ของสายการบินได้

“ในเงื่อนไขของบัตรโดยสาร จะมีบอกอยู่แล้วว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง รวมถึงเว็บไซต์ของสายการบินต่างๆ ก็น่าจะมีข้อมูลในส่วนนี้บอกอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเกิดว่าต้องการทราบสามารถอ่านได้ในเงื่อนไขข้อกำหนดของสายการบินต่างๆ

เรื่องของเอกสารฉบับจริง เปรียบได้เหมือนถ้าเป็นของผู้ใหญ่ก็ต้องใช้บัตรประชาชนฉบับจริงเหมือนกัน พาสปอร์ตฉบับจริงเหมือนกัน ไม่สามารถใช้สำเนาได้ ก็ใช้ตรรกะเดียวกันคือเอกสารที่แสดงในการแสดงตัวตนเพื่อขึ้นเครื่องต้องเป็นฉบับจริง รวมถึงสูติบัตรของเด็กด้วย

ถ้าเป็นสำเนาก็ง่ายต่อการปลอมแปลง อาจจะช่วยในเรื่องของการที่เด็กถูกลักพาตัว พาเด็กขึ้นเครื่องแต่ว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่การท่าต้องออกกฏแบบนี้มาเพื่อที่ต้องใช้ฉบับจริงเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเอง”

พนักงานสายการบินยังย้ำอีกว่า ถ้าอนุญาตให้เช็คอินผ่านไปด้วยสำเนา แต่พอถึงขั้นตรวจสอบเอกสารก่อนที่จะเข้าไปบริเวณประตูทางออกก่อนขึ้นเครื่องก็ต้องโดนเจ้าหน้าที่ว่าการตรวจอีกครั้ง ซึ่งถ้าสายการบินไม่เข้มงวด ก็จะโดนร้องเรียนทุกสายการบินว่าทำไมถึงปล่อยเด็กเข้ามาได้

กฏเหล็ก พาเด็กขึ้นเครื่องต้องรู้!!

ทั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live ยังติดต่อไปขอสัมภาษณ์ ทนายรัชพล ศิริสาคร เจ้าของเพจสายตรงกฏหมาย ถึงเรื่องกฏหมายการใช้สูติบัตรฉบับจริงกับฉบับสำเนา ซึ่งตามหลักสากลการแสดงเอกสารต้องใช้ตัวจริงเท่านั้น เพราะหากใช้ฉบับสำเนาจะถูกปลอมแปลงง่ายกว่าตัวจริง

“การตรวจสอบสูติบัตรของเด็ก เป็นหลักสากลทั่วโลก ซึ่งเป็นการตรวจสอบผู้โดยสารว่า คนที่ขึ้นเครื่องบินเป็นคนเดียวกับชื่อในบัตรโดยสารหรือไม่ เหมือนผู้ใหญ่ทั่วไป ก็ต้องแสดงพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชน จะแสดงสำเนาไม่ได้เช่นเดียวกัน

ตามหลักสากล การแสดงเอกสาร ต้องใช้ตัวจริงเท่านั้น ใช้สำเนาไม่ได้ เพราะสำเนาถูกปลอมง่ายกว่าตัวจริง เวลาผู้ใหญ่ขึ้นเครื่อง ก็ต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริง ไม่สามารถใช้สำเนาได้ เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป

ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ให้ใช้สำเนาได้ในบางกรณี เป็นดุลพินิจของสายการบินนั้นๆ เอง ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาด สายการบินและเจ้าหน้าที่นั้น ก็ต้องรับผิดชอบเอง”

โดยในการเช็คอินขึ้นเครื่อง เอกสารเป็นสิ่งที่สำคัญในการเตรียมตัวเพื่อแสดงตัวตนของเรา โดยเฉพาะเอกสารของเด็กเล็กต่อไปนี้ถ้าไม่อยากมีปัญหาในการขึ้นเครื่อง ทางทีมข่าวของเราจึงเข้าไปตรวสอบเว็บไซต์ของสายการบินภายในประเทศโดยพบว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้โดยสารที่เป็นเด็กไว้ดังนี้

ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 14 วัน แต่ไม่ถึง 7 ปี ในวันเดินทาง ใช้ใบสูติบัตรฉบับจริง หรือพาสปอร์ตในการเช็คอิน ส่วนผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี ในวันเดินทาง ใช้ใบสูติบัตรฉบับจริง หรือบัตรประชาชนเด็ก หรือพาสปอร์ตในการเช็คอิน หากผู้โดยสารอายุ 15 ปีขึ้นไป ในวันเดินทาง ใช้บัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตในการเช็คอินได้

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแบ่งประเภทของผู้โดยสารไว้อย่างชัดไว้ว่า เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 14 วัน จะไม่อนุญาตให้เดินทาง ส่วนผู้โดยสารเด็กทารก อายุตั้งแต่ 14 วัน 2 ปีในวันเดินทาง ต้องโดยสารบนตักของผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่ 1 คนต่อเด็กทารก 1 คน ในการเดินทางเท่านั้น

และเด็กอายุ 2 – 12 ปี ต้องทำการจองที่นั่งพร้อมกับผู้ใหญ่ที่เดินทางด้วยกันเท่านั้น โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุ 12 – 16 ปี สามารถทำการจองที่นั่งได้ตามปกติ ซึ่งจะมีค่าอัตราโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

ส่วนผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 12 ปี แต่ไม่ถึง 16 ปี ในวันเดินทาง สามารถเดินทางโดยลำพังได้ แต่ไม่สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกัน โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และผู้โดยสารผู้ใหญ่ มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ในวันเดินทาง สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกันได้

ข่าวจาก : MGRonline

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: