วิกฤตผู้ประกอบการ! ผลกระทบห้าม นทท.ค้างคืนสิมิลัน จำใจต้องให้คนงานออกยกบริษัท ขนาดผู้ว่าฯพังงาส่งหนังสือร้องขอผู้เกี่ยวข้องยังไม่เป็นผล!





 

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศห้ามค้างคืนในเกาะสิมิลัน ซึ่งออกประกาศเมื่อวันที่ 8 ต.ค.61 ที่ผ่านมานั้น

อ่านเพิ่มเติม : ราชกิจจาฯออกประกาศห้ามค้างคืนเกาะสิมิลัน

ล่าสุด (11 ต.ค.61) เฟซบุ๊ก Torphong Wongsathienchai ซึ่งเป็น 1 ในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ก็ได้ออกมาระบายถึงความเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า..

 

 

ผมมีความเศร้าใจ จำเป็นต้องขอให้พนักงานลาออก ในเบื้องต้นจำนวนประมาณ 120 คน ทั้งตำแหน่งกัปตัน เด็กเรือ ไกด์ แม่บ้าน พนักงานท่าเรือ พนักงานครัว ด้วยความเจ็บปวดใจ เสียใจและไม่มีทางเลือกอื่น เท่าที่ได้คุยกับบริษัทอื่นๆ ก็กำลังประสบวิกฤติและมีความจำเป็นต้องทำเช่นเดียวกันหลายสิบแห่ง

ในสถานการบ้านเมืองที่การท่องเที่ยวถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายทำลายทรัพยากร จึงถูกปิด จำกัด และมีมาตรการแบบฉุกละหุกก่อนจะเปิดฤดูท่องเที่ยวเพียงไม่กี่วัน

เรายอมรับในการตัดสินใจนั้นของผู้มีอำนาจ แม้จะพยายามขอความเห็นใจ แต่ก็ไม่สามารถมีทางออกร่วมกันได้ เราได้เพียงเข้าไปนั่งฟังการประชุม ความเห็นแทบจะไม่ได้ถูกรับฟัง เราเห็นด้วยกับการจำกัดจำนวนคน แต่แบบมีแผน ค่อยเป็นค่อยไป ลดไปเลยปีละ 20 percent ตลอดสามปีข้างหน้า ยกเลิกค้างคืนก็เห็นด้วย แต่มาตรการตอนนี้หนักหนาสาหัสมาก 
การจำกัดที่สิมิลัน ให้โควต้า 35 คน และถ้าโชคดีจองตั๋วได้ ก็ไม่ให้ออกเรือได้เกิน 70 คน และถ้าโชคดีได้ตั๋วมาเพิ่มเกิน 2 ลำ ก็ห้ามใช้เรือของบริษัทนั้นๆ ให้ไปเช่าจากบริษัทอื่น เส้นทางอื่นก็เกิดความไม่แน่นอนในหลายประการ จึงจำเป็นต้องปลดพนักงานที่เหลือออก และจะหางานต่อที่ไหน ต้องย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดไปทำอะไร ยังน่าเป็นห่วง ส่วนผมก็มีหน้าที่ไปคุยต่อกับธนาคารครับ

3 ปีก่อนสิมิลัน มีบริษัทเพียงสิบกว่าแห่ง เราเคยเสนอให้มีการจำกัดแต่ไม่เกิดขึ้น สามปีต่อมากลายเป็น 53 บริษัท และอนุญาติเพิ่มอีกจากนี้จำนวนมาก

อุทยานแถลงวันนี้ว่า มีบริษัทที่เดินเรือจริงๆ เพียง30 บริษัท อีกประมาณ 20 กว่าบริษัท ไม่ได้ดำเนินการเอง หรือเป็นเรือเช่า อาจมาให้บริการช่วงเทศกาลระยะเวลาสั้นๆแล้วลงทะเบียนไว้ ก็ได้สิทธิ์และโควต้าเท่ากับบริษัทที่ทำมาเป็นสิบปีง ทำงานทะเลเป็นงานหลัก

แม้เราจะมีเรือนับ 10 ลำก็ได้สิทธิ์เท่ากับบริษัทขาจรที่มีเรือลำเดียว อุทยานแจกโควต้าให้แม้จะไม่ได้ทำจริงๆ แค่เอาเรือมาให้เช่าแต่ช่วงตรุษจีนก็ยังได้เท่าเรา ส่วนพวกเราได้แต่นั่งทำใจ บริษัทที่พวกเราสงสัยว่าเป็นนอมินีต่างชาติ อุทยานบอกเราว่าไม่ใช่หน้าที่และไม่สามารถช่วยได้

ผลกระทบต่อชาวบ้านที่ตามมาจะมากมายมหาศาล ลูกโซ่วงกว้างเกินกว่าจะคาดคิดครับ ภูเก็ต พังงา กระบี่กระทบเป็นวงกว้าง สิมิลันก็เปิดแค่ครึ่งปี แค่นี้ก็หนักพอแล้ว

หลายคนบอกว่า นี่เป็นข่าวดีของเกาะต่างๆ ผมเห็นว่าไม่ใช่ข่าวดีสำหรับสิ่งแวดล้อมนะครับ เพราะนักท่องเที่ยวย้ายที่ ผลกระทบก็ไปตกอีกที่ จากอดีตจนถึงในปัจจุบัน ยังไม่เห็นแผนการใดๆของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม ยกมาตรฐานเรือ ไม่มีการแข่งขันให้ทำท่องเที่ยวคุณภาพสูงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ทำ CSR ได้โควต้าเยอะ ก็ว่าไป

ปิดตาชัยก็มากระทบสิมิลัน วันนี้สิมิลันลำบากและหน่วยงานนั้นๆก็เป็นผู้เซ็นใบอนุญาติให้เข้ามาเองทั้งสิ้น โดยมิได้ตระหนักถึงการเติบโตจนเกินขีดในรอบหลายปี และยังแถลงภูมิใจผลงานการเก็บเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ และผมก็ยินดีที่อุทยานจะได้เงินไปจัดการบริหารแบ่งให้อุทยานอื่นๆที่ขาดแคลน

เกาะทั้งหลาย หม้อข้าวแห่งนี้เรารักและดูแลอย่างยิ่ง ใครที่เคยมาจะเห็นว่าทีมงานบรีฟ ใส่ใจ และถ่ายทอดให้หวงแหนทะเลมากแค่ไหน เที่ยวยังไงไม่ขัดใจปะการังเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องฟัง มีทั้งภาษาไทย จีน ฝรั่ง รัสเซียเราทำจริงจังมาก อยากให้ร่วมมือแบบไหน อยากให้ทำอะไร เราพร้อมร่วมมือ เราพร้อมสนับสนุน แต่ผมก็เข้าใจเพราะสุดท้าย ต่างหน้าที่กัน กรมก็จำเป็นต้องทำ

พนักงานจำนวนมากอยู่ด้วยกันมานานจนเหมือนครอบครัว เค้าถามผมว่าครอบครัวเค้าจะอยู่ยังไง สามีเป็นกัปตันก็ตกงานแล้ว ตัวเองเป็นไกด์ก็ตกงาน เพิ่งมีลูกอายุ 3 เดือน อีกคนกำลังท้องอยู่ ตกงานทั้งคู่

และมีอีกหลายครอบครัว ผมน้ำตาไหล ขอโทษทุกคนจริงๆครับ รวมถึงน้องมอแกนจากเกาะสุรินทร์หลายสิบชีวิตที่ตกงาน ถามเราว่า ลูกเมียผมจะทำยังไงครับ ชาวมอแกนพานักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชมปะการัง แต่ตอนนี้เค้าไม่มีงานแล้วครับ ท่านผู้ว่าพังงาเห็นความเดือดร้อนและได้กรุณาทำหนังคือคัดค้านไปแล้วแต่ไม่เป็นผล เราหมดที่พึ่ง

จะโทษการท่องเที่ยวทั้งหมดไม่ได้ เพราะอำนาจการจัดการบริหารนั้น ใครคือผู้บังคับใช้และดูแลครับ สุดท้าย การท่องเที่ยวเป็นแพะรับบาปถูกตราหน้าเป็นผู้ร้าย แล้วผู้รับผิดชอบนั้น ละเลยหรือทำอะไรอยู่ ปิดแล้วเป็นฮีโร่ แล้วระหว่างทางหลายปีที่ผ่านมา เราได้ใช้การจัดการดีแค่ไหนครับ ในพื้นที่จะทราบดี 

ประชารัฐยังเป็นเพียงฝัน การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ประชาชน จังหวัด และกรมที่เกี่ยวข้องยังเลือนลาง น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม จับมือหาทางออกและเดินไปด้วยกันเพราะสุดท้าย เราต้องตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และเก็บรักษาให้ลูกหลาน แต่จะดีอย่างยิ่ง ถ้าเราสามารถใช้และรักษา เป็นตัวอย่างให้ลูกหลานได้ดูว่าการใช้ยั่งยืนคือแบบไหน นักวิชาการ กรม จังหวัดครับ ผมเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศดีขึ้น ทรัพยากรดีขึ้น แต่วันนี้ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือคนครับ ผมก็ได้แต่ภาวนาว่าคนเหล่านี้ จะดำรงชีพ มีงาน อยู่ได้และมีชีวิตที่ดีไปส่งต่อให้ลูกหลานครับ

ทุกคนที่ท่องเที่ยว ต้องช่วยกันดูแลทะเล เป็นหูเป็นตา ไม่ให้อาหารปลา เจอขยะลอยก็เก็บขึ้นมา ไม่เก็บเปลือกหอย ถ้าเราทุกคนใส่ใจ ทะเลของเรา ประเทศของเราจะดีขึ้น เริ่มที่ตัวเรา ที่นี่คือบ้านของพวกเราทุกคน

ความหวังของเราริบหลี่ มีเพียงไม่กี่คนในประเทศนี้ที่จะช่วยได้ครับ แต่เสียงของพี่น้องทุกท่านที่เอาใจเป็นกลางและเชื่อว่าท่องเที่ยวกับอนุรักษ์ไปด้วยกันได้ จะเห็นใจช่วยส่งต่อและสื่อสาร ให้ผู้มีอำนาจลงมาช่วยจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ
#ท่องเที่ยวกับอนุรักษ์ไปด้วยกันได้

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: