ถึงจะอยู่แต่ในกล่องแต่แฮปปี้ดี! เปิดสวัสดิการ-โบนัส’พนักงานเก็บเงินทางด่วน’ 1ในงานรัฐวิสาหกิจของ’คมนาคม’





 

สกู๊ปโดย : ไทยรัฐออนไลน์

ถ้าพูดถึงการทำงานในฐานะมนุษย์เงินเดือนแล้ว หลายคนคงอยากจะเข้าทำงานในรัฐวิสาหกิจ เพราะขึ้นชื่อเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน และมีสวัสดิการที่ดีในระดับหนึ่ง อาชีพ "พนักงานเก็บเงินทางด่วน" ก็เช่นกัน โดยเป็นหนึ่งอาชีพในองค์กรยักษ์ใหญ่ คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ บุกถึงตู้เก็บเงินทางด่วนด่านประชาชื่น เพื่อสัมผัสชีวิตการทำงานของพนักงานเก็บค่าผ่านทางว่า จะเป็นอย่างที่ใครๆ คิดจริงหรือไม่…?

 

 

เปิดอัตราเงินเดือน โบนัส สวัสดิการอู้ฟู่

สำหรับอัตราเงินเดือนของพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ เปิดรับวุฒิ ม.6 ขึ้นไป อัตราเงินเดือนประจำ 9,310 บาท (พนักงานเก็บเงินไม่มีลูกจ้าง เป็นพนักงานประจำทุกคน)

นอกจากจะได้รับเงินเดือนแล้ว ยังมีค่าปฏิบัติงานเป็นกะ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการชุดเครื่องแบบปีละ 2 ชุด รวมถึงสวัสดิการตามสิทธิของ กทพ. อาทิ เบิกค่ารักษาพยาบาลตัวเอง สามี พ่อแม่ และบุตร เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร ฯลฯ เป็นต้น

พนักงานจะมีการปรับอัตราเงินเดือนปีละครั้ง ส่วนค่า OT และค่ากะ จะคิดตามอัตราเงินเดือน โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยปริมาณรายได้ของแต่ละตู้ และจำนวนล่วงเวลาที่ต้องมานับเงิน ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายได้ของด่านนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังจะได้โบนัสประจำปีซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการและการประเมินของกระทรวงการคลัง 

 

 

ทำงาน 8 ชม. อยากได้วันหยุดต้องควงกะเพิ่ม!

พนักงานเก็บเงินทางด่วน จะทำงานวันละ 8 ชม. สับเปลี่ยนการเข้างานตามตารางผลัดเช้า ผลัดบ่าย และผลัดดึก โดยมีเวลาพักให้ 2 รอบ รอบละ 50 นาที เพื่อรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัว แต่สามารถควงกะได้เป็น 16 ชม. เช่น ผลัดเช้าบ่าย หรือผลัดบ่ายดึก เพื่อแลกกับวันหยุดเพิ่ม จากปกติที่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ 2 วัน

ทีมข่าวฯ ยังได้พูดคุยกับ ‘พี่นก’ น.ส.เสาวลักษณ์ วงศ์แก้ว อายุ 46 ปี พนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ 3 อายุงาน 19 ปี และ ‘พี่ไก่’ น.ส.สุพรรษา สานอินทร์จักร์ อายุ 35 ปี พนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ 3 อายุงาน 9 ปี มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานให้ฟังแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

 

 

“ขอมือเพิ่มได้มั้ย?” รับน้องวันแรก สุดตื่นเต้น

พี่นก ย้อนเล่าถึงชีวิตที่หักเหจากสาวโรงงานมาเป็นพนักงานเก็บค่าทางด่วนว่า หลังจากที่จบ ม.6 ทำงานอยู่โรงงาน และผ่านการทางพิเศษอยู่ทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งเห็นป้ายสมัครสอบก็เลยตัดสินใจลองสอบดู ส่วนเหตุผลที่มาเป็นพนักงานเก็บเงินทางด่วนก็คงเป็นเพราะที่นี่เป็นรัฐวิสาหกิจ ใครๆ ก็คงอยากเข้ามาทำงานในองค์กรนี้ และสวัสดิการก็ดี มีค่ารักษาพยาบาลพ่อ แม่ ลูก และตัวเอง รวมถึงค่าเล่าเรียนต่างๆ จนกระทั่งสอบติดบรรจุเป็นพนักงาน

“วันแรกที่มาทำงานน่ะเหรอ ตื่นเต้นมากกกกกกก (ลากเสียงยาว) รู้สึกว่ามือมันน้อยไปหมด อยากมีมือเพิ่มมากเลย ทั้งจะกรีดตังค์ ทั้งจะกดประเภทรถ แล้วเงินก็ฟูเต็มตะกร้าไปหมดเลย เจอรถเยอะด้วย ก็เลยรู้สึกว่า เราน่าจะมีมือเพิ่มนะ จะได้ทำหลายอย่างได้พร้อมๆ กัน ถามว่าทำทันมั้ย ก็ทันนะ แต่มันจะล่กๆ หน่อย (หัวเราะ) พอทำไปนานๆ เดี๋ยวมันก็ชิน” พนง.เก็บค่าผ่านทางวัย 46 เล่าอย่างอารมณ์ดี

 

 

 

ยื่นแขน รับ-ส่ง วันละ 6,000 ครั้ง!

พี่นกและพี่ไก่ บอกกับทีมข่าวฯว่า ในแต่ละวันจะมีรถที่ขับผ่านตู้ที่ทั้งคู่ประจำอยู่ ราว 2,800-3,000 คัน ในหนึ่งวันจะต้องยื่นแขนรับเงิน ทอนเงิน ส่งใบเสร็จ ถึง 6,000 ครั้ง!

“จริงๆ มันก็เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเราเหมือนกันนะ แต่พอทำไปมากๆ สะบักหลังก็เริ่มพังแล้วเหมือนกัน เพราะเราทำมาหลายปีแล้ว” สาวประสบการณ์ 19 ปี กล่าวอย่างคุ้นชิน

 

 

 

เมืองหลวง ควันและฝุ่นมากมาย พนง.เก็บเงิน เป็นโรคปอด ภูมิแพ้

ชีวิตที่ต้องทำงานอยู่กับรถยนต์ตั้งแต่ 4 ล้อ ไปจนถึงมากกว่า 10 ล้อ สิ่งที่ต้องเจอก็คือ มลภาวะ ทั้งควันรถ ฝุ่นละออง พี่นก เล่าให้ทีมข่าวฯฟังว่า ทุกๆ ปี กทพ.จะให้พนักงานตรวจสุขภาพร่างกาย และช่วงที่ทำงานก็จะสวมใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันฝุ่นละออง ควันรถ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ที่นี่จะมีปัญหาเรื่องโรคปอดอักเสบ เพราะต้องอยู่กับท้องถนนทุกวัน ถึงแม้ว่าจะใส่หน้ากากอนามัยก็อาจจะมีเล็ดลอดเข้ามาบ้าง ถึงแม้จะมีม่านอากาศให้ ก็จะช่วยได้ไม่ 100%

ส่วนพี่ไก่ สาววัย 35 ปี ซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ ดังนั้นในการทำงานทุกๆ วัน พี่ไก่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคประจำตัวกำเริบ และอาจจะส่งผลต่อการทำงานได้

 

 

 

ทิ้งทุกข์ลงตู้ ยิ้มสู้ปัญหา! เจอคนหลายประเภท สุขภาพจิตต้องแข็งแรง

ในแต่ละวัน พี่นกและพี่ไก่ จะต้องเจอผู้ใช้ทางด่วนตั้งหลายพันคน ซึ่งแต่ละคนก็มีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป ส่วนคนที่แสดงพฤติกรรมไม่ดี พวกเขาก็มีวิธีแก้ปัญหาคล้ายๆ กัน

พี่นก เผยว่า “อารมณ์ของผู้ใช้ทางแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็เปิดกระจกแง้มๆ พอให้มือสอดได้ บางคนก็แทบจะวางไว้ให้ในตู้เลย บางคนก็จอดห่างตู้ หรือบางคนมีปัญหาส่วนตัว บางคนหงุดหงิดรถติด พอมาถึงตู้ก็อยากจะระบาย ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาของเราก็คือ ต้องตั้งสติ ใจเย็นๆ ไม่ตอบโต้ หากเจออะไรที่ไม่ค่อยดี เราก็จะทิ้งเอาไว้ในตู้นั้น เวลากลับบ้านเรากลับแต่ตัว จะได้ไม่เก็บไปเครียด มาทำงานที่นี่ก็ทำให้เราใจเย็นไปเยอะเลย”

ส่วนพี่ไก่ แจงวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า “บางครั้งมีเหตุการณ์ผู้ใช้ทางอารมณ์ร้อน ก็ช่วยฝึกสมาธิให้เราใจเย็นๆ หากผู้ใช้ทางแสดงกิริยาไม่ดี เราอย่าเก็บไปคิด เพราะจะทำให้เกิดความเครียดสะสม เราจะไม่มีความสุขในการทำงาน เวลาเจอก็รับฟังก่อนและหลีกเลี่ยงที่จะตอบโต้ ยิ้มสู้ เลือกที่จะปล่อยวาง มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่อยากเก็บมาคิด และไม่อยากให้เป็นปัญหา”

 

 

ไม่จ่ายเงิน ไม่มีเงินค่าทางด่วน ขอยืมเงิน พนง.ทำได้ไหม?

ข้อมูลจากด่านประชาชื่น พบว่า ในแต่ละวัน ฝั่งขาเข้าจะมีผู้ใช้บริการไม่จ่ายค่าผ่านทางโดยเฉลี่ย 6 คัน แต่ส่วนใหญ่จะกลับมาจ่ายเงิน สำหรับสาเหตุที่ไม่จ่ายค่าผ่านทางนั้น บางคนลืม คุยโทรศัพท์จนเพลิน หรือลืมกระเป๋าสตางค์ก็มี

วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ พี่ไก่ อธิบายว่า “กรณีที่ลืม เราก็จับไมค์ที่อยู่ในตู้ ประกาศออกไปว่า ทะเบียนรถนี้ ยี่ห้อนี้ สีนี้ ไม่จ่ายค่าผ่านทาง ซึ่งถ้าเขาได้ยินแล้วเขาจอดก็ไปเก็บเงินต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้ยินแล้วขับเลยไปก็นำข้อมูลตรงนั้นไปแจ้งฝ่าด่านเก็บค่าผ่านทาง ก่อนออกหนังสือเรียกให้ผู้ใช้ทางกลับมาจ่ายค่าผ่านทาง โดยสามารถมาจ่ายค่าผ่านทางได้ที่ด่าน และไม่ต้องเสียค่าปรับด้วย

 

 

ส่วนกรณีไม่มีเงิน หรือเงินไม่พอ พบเจอบ่อย เราต้องถามให้แน่ใจก่อนว่าผู้ใช้ทางไม่มีจริงๆ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ พอเขาบอกว่าไม่มีจริงๆ ครับ เราก็ต้องบอกว่า ไม่เป็นไรค่ะ และทำตามกฎระเบียบก็คือ จดทะเบียนรถ สีรถ ยี่ห้อรถ เพื่อที่จะให้ฝ่ายดำเนินการเพื่อเรียกเก็บค่าผ่านทางย้อนหลังต่อไปเช่นกัน”

พี่ไก่ ยังบอกอีกว่า “ถ้ากรณีไม่มีเงินแล้วมายืมตังค์เรา ต้องบอกตรงนี้เลยนะว่า เราไม่มีให้ เพราะในการทำงานของเรา พนักงานจะไม่สามารถพกเงินส่วนตัวเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้”

 

 

แบงก์ปลอม ทอนเงินผิด หน้าที่อันยิ่งใหญ่ พนง.ต้องควักจ่ายเอง

เรื่องธนบัตรปลอม พี่นก เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำงาน จะถูกส่งไปฝึกอบรมกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน เพื่อสัมผัสและสังเกตธนบัตรแต่ละชนิด โดยกระดาษจะคนละแบบกัน ตรา รอยนูน แตกต่างกัน สัมผัสดูก็จะรู้ทันที

“ถามว่าเคยเจอมั้ย ก็เคยเจอแบงก์ 50 ปลอม ซึ่งพอรับเงินมาก็ทอนไปเลย มาจับอีกทีก็รู้แล้วว่าปลอม เพราะโดยปกติเราไม่ได้ส่องแบล็กไลท์อยู่แล้วเพราะมูลค่าน้อย แต่ถ้าแบงก์ที่มีมูลค่ามากก็จะส่องแบล็กไลท์ สุดท้ายเราก็ต้องควักเงินจ่ายเอง แต่ถ้าคนขับยังอยู่ก็ต้องขอให้เขาเปลี่ยนธนบัตรใบใหม่ให้

ส่วนเรื่องการทอนเงินผิดก็มีบ้าง จะบอกว่าไม่มีเลยก็คงไม่ใช่ ถ้าเกิดว่าเรารู้ตัวเราก็ต้องเติม แต่ถ้าหากไม่รู้ตัว ทอนไปแล้ว เราก็ไปตรวจสอบที่กล้องได้ ว่าทอนแบงก์ผิดไปไหม แต่ไม่บ่อยนะ นานๆ สักครั้ง” พี่นก เล่าประสบการณ์

 

 

ซิ่ง หรือ เผอเรอ ขับชนไม้กั้นทางด่วน เป็นเพราะ?

หากขึ้นทางด่วนจะเห็นไม้กั้นตรงด่านเก็บเงิน ด้วยความสงสัย ทีมข่าวฯจึงอยากจะรู้ว่าเคยมีกรณีที่ขับชนไม้กั้นบ้างหรือไม่ และเป็นเพราะอะไร

พี่นกและพี่ไก่ ตอบคำถามนี้ว่า “รถชนไม้กั้น ส่วนใหญ่เป็นช่องของอีซี่พาส คนขับมักจะคิดว่าตัวเองมีเงินในบัตรอยู่ แต่บางครั้งเงินหมดไม่ได้เติม แล้วขับมาด้วยความเร็วไม่ได้ชะลอ โดยคิดว่าไม้กั้นจะเปิดให้ ทำให้พุ่งชน ซึ่งโดยปกติเวลาที่รถชนไม้กั้นจะเด้งขึ้นอัตโนมัติ และส่วนใหญ่รถและไม้กั้นจะไม่ค่อยเสียหาย เพราะมีการหุ้มนวมที่ไม้กั้นไว้ส่วนหนึ่ง แต่หากเกิดความเสียหาย ก็ต้องแจ้งดำเนินการเรียกเก็บค่าเสียหายต่อผู้ขับรถต่อไป

น่าเอ็นดู! ประสบการณ์สุดแปลก จำไม่ลืม

พี่นก พนักงานเก็บค่าผ่านทางรุ่นใหญ่ทำหน้าที่มา 19 ปี นึกอยู่ครู่หนึ่งก่อนเล่าว่า “มีครั้งหนึ่ง พี่นั่งเก็บเงินอยู่ และวันนั้นรถติดมาก ตอนนั้นก็เอะใจแล้วว่า ทำไมรถกระบะคันนี้ถึงไม่เลื่อนรถสักที ทั้งที่คันหน้าก็เลื่อนแล้ว พี่ก็เลยลงไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เห็นว่าเป็นรถกระบะที่บรรทุกคนงานก่อสร้างมา เมื่อส่องดูกระจกก็พบว่า หลับกันหมดทั้งคัน ทั้งคนนั่งและคนขับ

พี่ก็เคาะกระจก ก๊อกๆๆๆ เรียกให้ตื่นก็ไม่ยอมตื่น พอดีได้เพื่อนพนักงานผู้ชายมาช่วยเคาะ สักพักเขาก็ตื่นขึ้นมา ทำหน้าเลิ่กลั่ก เหวอๆ เหมือนตกใจ ครั้งนั้นก็เป็นเรื่องแปลกสำหรับพี่นะ เพราะวันนั้นรถติดมาก”

ขณะที่ พี่ไก่ก็ขอเล่าประสบการณ์น่าเอ็นดูให้ฟังว่า “ช่วงเทศกาลฮาโลวีน มีผู้ใช้ทางแต่งตัว แต่งหน้าผีๆ มา พอเวลาเราเห็นเราก็ตกใจกลัวค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปทั้งที่กลัวแบบนั้นแหละ และก็เคยมีรถที่แต่งเป็นกวางเรนเดียร์ ส่วนคนขับก็แต่งตัวเป็นซานตาคลอสต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสก็น่าเอ็นดูดีค่ะ”

 

 

 

เสน่ห์ต้องมี ส่งสายตาต้องได้ แฉมุกจีบสาวบนทางด่วน

ทีมข่าวฯแย๊บถามว่า สวยๆ แบบนี้เคยมีคนมาจีบไหม?

พี่นก ยิ้มเขินๆ ก่อนตอบสั้นๆ ว่า “แหม ก็มีบ้าง สาวๆ ก็ได้อยู่นะ (หัวเราะ) เขาก็ขับรถเอาขนมมาให้บ้าง ให้เบอร์โทรกับเราบ้าง เจอกันทุกวันใช้ทางด่วนประจำ พอเจอบ่อยๆ ก็มีทั้งจีบติดบ้าง ไม่ติดบ้าง (หัวเราะ)”

ส่วนพี่ไก่ เผยว่า “โอยยยย (ลากเสียงยาว) มีอยู่แล้ว ยิ่งช่วงที่เราเข้ามาทำงานใหม่ๆ หน้าตาเรายังสดใสอยู่ไง ตอนนี้ก็ไม่ค่อยโอเคแล้ว การจีบเขาก็ถามว่า น้องมีเบอร์โทรมั้ยครับ หรือบางคนเอาเบอร์โทรฝากไว้ให้เพื่อน เพื่อฝากให้เราก็มี แต่ถามว่าเราโทรกลับมั้ย เราก็โทรกลับ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือจากนี้ เพราะเราทำงานต้องเจอผู้คนมากมาย ไม่มีปิ๊งปั๊งกัน ส่วนมากผู้ใช้ทางจะไม่ค่อยเห็นหน้าเรา เพราะใส่แมสปิดจมูกกันฝุ่นละออง แต่สายตาเราต้องยิ้ม พี่ว่าพี่ตาสวยนะ (หัวเราะ)”

ซึ้งน้ำใจผู้ใช้ทางด่วน เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ถามทุกข์สุข

ในขณะที่พนักงานเก็บเงินทางด่วนกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทีมข่าวฯสังเกตเห็นผู้ใช้ทางหลายคน ทักทาย พูดคุยกับพี่ไก่ด้วย จึงสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พี่ไก่ เล่าว่า “อันนี้แฟนคลับพี่เอง (หัวเราะ) บางทีเราก็จะเจอผู้ใช้ทางคนเดิมๆ เขาก็จะทักทายเราบ้าง ถามว่า ทานข้าวหรือยัง ผอมไปนะช่วงนี้ น้ำหนักขึ้นหรือ พอได้ยินเราก็รู้สึกดีที่เขาเป็นห่วงเรา คนเราเห็นหน้ากันไม่ถึงวินาที เขายังอุตส่าห์ทักทายเรา และเราก็ยินดีอย่างมากที่จะตอบคำถาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานของเรามากๆ เลย”

ชีวิตคนเฝ้าทางด่วน หาของกินสุดลำบาก

ถ้าพูดถึงการหาของกินของชาวด่านเก็บค่าผ่านทางนั้น สุดแสนจะลำบาก โดยส่วนใหญ่พนักงานจะเตรียมอาหารมาเอง หรือบางคนก็ทำอาหารมาจำหน่ายที่ด่าน เนื่องจากข้างบนทางด่วนไม่มีร้านอาหาร ไม่มีร้านขายของ การจะเข้าออกเพื่อไปกินข้าวค่อนข้างลำบาก

 

 

ไม่กลัวตกงาน! อนาคตคนแห่ใช้อีซี่พาส

การทางพิเศษฯ ได้เปิดระบบอีซี่พาส (Easy Pass) เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน ซึ่งหากในอนาคตข้างนอกผู้ใช้ทางหันมาใช้อีซี่พาสมากขึ้น และพนักงานเก็บค่าผ่านทางจะทำเช่นไร

สาวใหญ่ วัย 46 กล่าวว่า “บริษัทยังต้องใช้ใบเสร็จเบิกอยู่ และระบบอีซี่พาส บางคนก็ใช้ไม่ค่อยเป็น ไม่คุ้นเคย บางคันต้องถอยเข้าถอยออก ถ้ามาทางเงินสดอาจจะเร็วกว่า ก็มีส่วนที่ทำให้คนยังใช้เงินสดอยู่ และส่วนตัวก็ไม่กังวลหรือกลัวว่าอนาคตถ้ารถหันมาใช้อีซี่พาสกันทั้งประเทศแล้วจะตกงาน”

ส่วนรุ่นน้องสาว ตอบอย่างเต็มปากว่า “ไม่กลัวว่าจะตกงานเลยค่ะ เพราะอีซี่พาสเป็นทางเลือก สะดวก รวดเร็ว คนจ่ายเงินสดยังมีอยู่ เพราะยังไม่พร้อมที่จะทำ และก็ยังมีผู้ใช้ทางที่ใช้อีซี่พาสเปลี่ยนมาใช้เงินสดก็มี หากรถติดในช่องของอีซี่พาส”

จริงหรือ!? พนักงานเก็บเงินทางด่วน ไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง

ในมุมมองของผู้ใช้บริการและประชาชนคนอื่นๆ คงจะคิดว่า พนักงานเก็บเงินทางด่วน (คง) จะได้สวัสดิการพิเศษ ไม่ต้องเสียเงินค่าผ่านทาง ความจริงจะเป็นเช่นไร ไปฟังเฉลยจากพี่ธนิดา อนันต์ตระการกิจ หัวหน้าพนักงานเก็บค่าผ่านทาง

“พนักงานที่นี่เสียเงินค่าผ่านทางเท่ากับผู้ใช้บริการทุกท่านค่ะ ไม่ว่าจะผ่านทางเพื่อเข้ามาจอดรถในด่าน หรือเพื่อมาทำงานก็ตาม จะเบิกกลับก็ไม่ได้ด้วย อย่างด่านประชาชื่น เราเสีย 15 บาทเพื่อเข้ามาทำงาน แต่บางด่าน 40-60 บาท ลอยฟ้าข้างบนไม่ว่าอย่างไรก็ต้องขับรถขึ้นไปจอด ผู้ใช้บริการบางท่านไม่ทราบ คิดว่าเราได้สิทธิ์สวัสดิการ แต่ไม่ใช่นะคะ แต่อย่างด่านอโศก 4 ไม่มีที่จอดรถข้างบนด่าน พนักงานต้องจอดข้างล่าง เพื่อขึ้นบันได 70 กว่าขั้น ทุกวันเพื่อไปทำงาน” พี่ธนิดา อธิบาย

 

 

6 อันดับ ทางด่วนที่…ไม่ด่วน

ข้อมูลจากการทางพิเศษฯ เรื่องปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน ตั้งแต่เดือน ต.ค.60 ถึง มี.ค.61 มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวันสูงสุด 8 ลำดับแรก ดังนี้

1.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก 4 มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 67,132 คัน
2.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษศรีนครินทร์ มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 64,436 คัน
3.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษประชาชื่น (ขาออก) มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 62,651 คัน
4.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก 3 มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 62,429 คัน
5.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษประชาชื่น (ขาเข้า) มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 55,744 คัน
6.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดินแดง มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 53,605 คัน
7.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางนา มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 51,208 คัน
8.ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดาวคะนอง มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวัน 50,177 คัน

“ด่านที่พนักงานไม่อยากมาอยู่ ก็ด่านประชาชื่นนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) เพราะว่าดูปริมาณจราจร ทุกคนก็อยากทำงานสบาย แต่ว่าสำหรับเราไม่อยากไปอยู่ด่านอื่น เราอยู่ด่านนี้ตั้งแต่แรก เรารับสภาพการจราจรได้ เพราะว่ามันทำให้เราเข้มแข็งและแข็งแกร่งขึ้น ได้ประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น และก็ได้เม้าท์มอยกับเพื่อน เรามีความสุขตรงนี้” พี่ไก่ บอกกับทีมข่าวฯ

คิดยังไงกับที่วันนี้คนมองว่า “ทางด่วน ไม่ด่วน” อีกต่อไป

พี่ธนิดา ให้ความเห็นว่า “ผู้ใช้บริการชอบความสะดวก ใช้เวลาสั้นๆ ไม่อยากเจอรถติดก็จะมาขึ้นทางพิเศษกันเยอะ ทำให้มีผู้ใช้บริการเยอะ ทางด่วนก็อาจจะไม่ด่วน (หัวเราะ) แต่ส่วนที่ด่วนจริงๆ ก็มีเหมือนกัน”

ด้าน พี่นก กล่าวอย่างเห็นใจว่า “ก็สงสารเขานะ ทำยังไงได้ รถมันเยอะขึ้น แต่ทางมีเท่าเดิม เวลามาก็มาพร้อมกัน เวลารถติดก็เปิดกระจกมาคุยเป็นเพื่อนกันก็ได้ค่ะ ก็เคยมีบ้างที่ผู้ใช้ทางชวนคุย เช่น เหนื่อยมั้ย กินข้าวหรือยัง รถติดถึงไหน ติดอะไร เราก็จะถามเจ้าหน้าที่ข้างบนว่า รถติดอะไรเพื่อให้ผู้ใช้ทางได้เข้าใจ”

ฟังไว้ ใครอยากสมัครงาน! เปิดคุณสมบัติ พนง.เก็บค่าทางด่วน

ท้ายที่สุดนี้ พี่ๆ พนักงานเก็บค่าผ่านทางด่านประชาชื่น ยังฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะมาทำงานนี้ด้วยว่า ถ้าอยากจะทำอาชีพนี้ จะต้องใจเย็น มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อมาต่อสู้กับมลภาวะต่างๆ ที่สำคัญที่สุด ต้องมีใจรักในด้านบริการ เพราะยิ่งทำด้วยใจรักก็จะมีความสุขในการทำงาน ผู้ใช้ทางก็จะเกิดความประทับใจ ส่งผลให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พี่ๆ ทั้งสองคนยังบอกกับทีมข่าวฯด้วยว่า พวกเขาภาคภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ เพราะสำหรับเขาแล้ว ทุกอาชีพมีคุณค่าเสมอ.

พี่นก กล่าวเสริมว่า “ส่วนใหญ่ผู้ใช้ทางก็จะแบ่งปันขนม หรือข้าวให้กับพนักงาน แต่ก็เคยมีได้อั่งเปาเหมือนกัน 500-1,000 บาท เราก็รีบไหว้ขอบคุณอย่างสวยงาม (หัวเราะ)”

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: