ผมทำอะไรผิด? ย้อนปม ‘ไอติมไผ่ทอง’ พ่อยกโรงงานให้ลูกชาย แม่ยึดไม่ได้-ไล่ฟ้อง ทุกวันนี้ยังตัดแม่ตัดลูกกัน!





 

เรื่องดราม่า แชร์สนั่นเรื่องไอศกรีม ระหว่างไผ่ทองไอสครีม กับ ไผ่ทองไอศครีม ว่าชื่อไหนโลโก้ไหนของจริง บานปลายกลายเป็นศึกในบ้าน จบลงที่แม่วัย 82 ปี ฟ้องเลือดในอก ลูกชายรอเจอกันที่ศาล

เรื่องนี้เข้มข้นยิ่งกว่าละคร หลังจากฝ่ายลูก ๆ ที่อยู่กับแม่ ที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ไผ่ทองไอสครีม” ออกมาแชร์ข้อความภาพในเฟซบุ๊ก ย้ำว่าระวังแบรนด์ปลอมทำเลียนแบบ และนางสาวรตา ชัยผาติกุล ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว เปิดเผยว่า พี่ชายได้ทำแข่งกับธุรกิจครอบคร้ว และต้นปีที่ผ่านมาคุณแม่น้ายเฮียง แซ่ซี ได้ฟ้องพี่ชายคนนี้แล้ว

 

 

ล่าสุด นายบุญชัย ชัยผาติกุล วัย 54 ปีในฐานะลูกคนที่ 6 ของครอบครัวนี้ เปิดใจกับ ไทยรัฐออนไลน์ อย่างหมดเปลือกยืนยันว่า เป็นลูกที่สืบสานธุรกิจจากพ่อ หลังจากปี 2526 พ่อแบ่งมรดกให้ลูกชาย 2 คนของครอบครัว จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน ที่เป็นหญิง 6 คน

“พี่ชายคนโตได้เลือกก่อนว่าจะเอาทรัพย์สินใด ตอนนั้นพี่ชายไม่เลือกธุรกิจไอติม ที่เป็นงานหนักมาก และยังเป็นโรงงานแค่บ้านเช่า อยู่แถวย่านเจริญรัถ เมื่อพี่ชายเลือกทรัพย์สินอื่นไปแล้ว พ่อถามผมว่าจะเอาโรงงานไอติมไหม ถ้าไม่เอา ก็จะปิดโรงงาน ตอนนั้นผมอายุ 17-18 ปี ผมไม่คิดว่าปกติลูกชายคนรองๆ ลงมาจะได้อะไร เพราะปกติครอบครัวคนจีนจะถือว่าลูกชายคนโตสำคัญที่สุด แต่ผมก็รับ และก็เริ่มทำงานที่โรงงาน ตอนนั้นทำงานตั้งแต่ตี 4 ถึงเที่ยงคืน เหนื่อยมาก”

 

 

เวลาผ่านไปกิจการรุ่งเรือง ขยายกิจการ จนมาซื้อตึกทำโรงงานที่สะพานขาว ซึ่งเป็นที่อยู่ของ “ไผ่ทองไอศครีม” ในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อของพี่สาว 2 คนเป็นเจ้าของไปก่อน จนนายบุญชัยบรรลุนิติภาวะ ได้ทำธุรกรรมซื้อคืน จึงมีชื่อเป็นเจ้าของโรงงานไผ่ทองไอศครีม ตั้งแต่ปี 2530 จนปี 2538 แม่มายึดกิจการ ยึดกุญแจ นั่งโต๊ะคุมโรงงาน และให้โอนคืนให้แม่ แน่นอนว่านายบุญชัยไม่ยอม

“ชื่อโรงงานเป็นชื่อผม กิจการของผม คุณแม่ก็มา ยึดกุญแจ นั่งเฝ้า ผมก็พยายามคิดว่าทำอะไรผิด ก็กราบขอโทษ โดยไม่รู้ว่าผิดอะไร แต่เมื่อแม่มายึด ผมก็ต้องไปทำมาหากินอย่างอื่น ตลอดเวลาพยายามให้โอนชื่อโรงงานให้แม่ แต่ผมไม่โอน คิดว่ากิจการก็เอาไปแล้ว ทำไมต้องยึดบ้าน พอแม่บอกให้โอนมา ผมก็ยอมรับว่าพูดแรงออกไป ว่า รอผมตายก่อน นับตั้งแต่วันนั้น เลยไม่คุยกัน เพราะการพูดคำว่าตายสำหรับคนจีนถือว่าแรงมาก” นายบุญชัยย้อนเหตุการณ์ในวันที่สัมพันธ์แม่ลูกขาดสะบั้นลง

สุดท้าย นายบุญชัย เล่าว่า เมื่อยึดโรงงานไม่ได้ แม่และพี่ ๆ จึงย้ายเครื่องจักร ไปเปิดที่อื่น ส่วนตัวเองก็กลับมาที่โรงงานเก่าปลายปี 2541 และพยายามหาทุนมาฟื้นโรงงานทำต่อ จนเปิดใหม่ได้อีกที เมื่อปี 2543 ที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไร และเมื่อปลายปี 2559 พี่ชายคนโตยังนัดไปคุยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่สยามพารากอน เพื่อหาทางปรองดองกันคุยกันจบด้วยดี ทั้งเรื่องการฟื้นสัมพันธ์ครอบครัว สัญญาว่าจะนัดกินข้าวกันเดือนละครั้ง หรือแม้แต่ในแง่ธุรกิจ สัญญาที่จะไม่แข่งขันเอง ไม่เล่นสงครามราคากันเอง แต่สุดท้ายการคุยกันวันนั้นไม่มีอะไรสานต่อ จนต้นปี 2561 ก็ได้รับคำฟ้อง ที่แม่ฟ้องผม เรียกค่าเสียหาย ที่นำแบรนด์ไผ่ทองไปใช้

“เป็นเรื่องเศร้าใจที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวแบบนี้ และในฐานะที่ถูกแม่ฟ้อง ก็ถือว่าวิกฤตินี้ เป็นโอกาสดี ที่เข้าสู่กระบวนรอศาลตัดสิน ซึ่งดีกว่าการจบลงด้วยการใช้กำลัง ทำร้ายกัน ไม่เช่นนั้นรุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ ไปจะขัดแย้งกันไม่จบ” นายบุญชัยกล่าวในที่สุด

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: