คนแรกในประเทศไทย!! “จบ กศน.สอบติดหมอ” เปิดใจ “น้องวิทย์” กับความพยายามไม่แพ้โชคชะตา!





จากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย พ่อแม่ไม่ได้เรียนสูง ประกอบอาชีพแพปลาใน จ.ระนอง ออกจากบ้านตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ กลับมาอีกทีก็มืดค่ำ ฝากคำสอนให้ลูกๆ ดูแลตัวเอง “น้องวิทย์” หรือ นายวรวิทย์ คงบางปอ หนุ่มวัย 23 ปี ว่าที่คุณหมอจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้เปิดอกเล่าเรื่องราวชีวิตสุดพลิกผัน ก่อนฝ่าฟันปัญหามากมาย จนสามารถสอบติดหมอได้อย่างที่ตั้งใจถามว่าความฝันตอนเด็กๆ อยากจะเป็นอะไร น้องวิทย์ หัวเราะลั่น ก่อนตอบตรงๆ ว่า “ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นอะไร ก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ มากกว่าครับ เพราะปกติผมไม่เล่นเกม ไม่เล่นกีฬา แต่ชอบดูการ์ตูนมากกว่า กลับมาถึงบ้านก็มาดูการ์ตูน” น้องวิทย์ เริ่มเล่าย้อนไปในวัยเด็กว่า…ช่วงที่เรียน ม.3 พ่อให้สอบนายร้อย จึงต้องไปติวหลังเลิกเรียนทุกวัน ทั้งที่ไม่อยากเป็นทหาร แต่เพราะไม่อยากขัดใจพ่อ  “ให้ผมไปเรียนก็ไปได้ แต่ไม่ชอบการฝึกร่างกาย ไม่เล่นกีฬา ไม่เตะบอล เลิกเรียนก็ไปอยู่บ้านเพื่อนแทน ซึ่งอาทิตย์หนึ่งเรียนแค่ 1-2 วันเท่านั้น พอไปสอบนายร้อยก็สอบไม่ติด พอขึ้น ม.4 ก็อัดความรู้ ม.ต้นที่จะใช้สอบนายร้อยอย่างเดียว เพราะอายุยังไม่เกิน 17 ปี สอบได้อีกครั้ง สุดท้ายก็สอบไม่ติดอีก” น้องวิทย์ เล่าเรื่องราวหลังจากที่จบ ม.4 ต่อว่า ด้วยความที่สนิทกับคุณครูที่ไปเรียนพิเศษ โดยครูได้ย้ายเป็นครูในระบบที่กรุงเทพฯ จึงชวนลูกศิษย์หลายคนมาเรียนที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน พอไปเรียน ม.5 ได้ครึ่งเทอม ครูมีเหตุให้ต้องย้ายกลับไปที่ระนอง ครั้นจะอยู่ต่อก็ไม่มีญาติ จึงย้ายกลับระนองด้วยกันทั้งหมด “ช่วงนั้นผมกลับมาตอนกลางเทอม ก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับเข้าเรียน ช่วงเทอม 2 ก็เลยว่าง ผมเลยได้มีโอกาสไปช่วยคุณครูทำงานสังคมต่างๆ ทั้งช่วยเหลือเด็กกำพร้า ช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้สึกชอบงานช่วยเหลือสังคมตรงนี้มากครับ” สุดพีค! โรงเรียนเก่าไม่รับ ถูกไล่ให้ไปเรียน กศน.

น้องวิทย์ เล่าต่อว่า หลังจากจบปีการศึกษาจึงได้นำเอกสารไปสมัครเรียนที่โรงเรียนเดิม แต่ว่าโรงเรียนปฏิเสธรับเข้าเรียน โดยให้เหตุผลว่า หน่วยกิตขาดไป 1 ตัว นั่นก็คือ วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งตอนที่เรียนจบ ม.4 ยังไม่มีวิชานี้ ขณะที่ เพื่อนที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ขาดหลายหน่วยกิตแต่โรงเรียนก็รับ

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดกับผมประโยคหนึ่ง ซึ่งผมจำได้ขึ้นใจเลยว่า ‘ถ้าไม่รู้จะไปไหนก็ไปเรียนกศน.ไม่เห็นเป็นไรเลย’ ตอนนั้นพี่สาวผมร้องไห้เลย เหมือนผมไม่มีที่ไปแล้ว เพราะว่าในระนองเป็นจังหวัดเล็กๆ มีโรงเรียนประจำจังหวัด เฉพาะในเมือง แค่ 2 โรงเรียน ซึ่งอีกโรงเรียนไปถามมาแล้วต้องตามเก็บอีก 20 หน่วยกิต มันไม่ไหว ในเมื่ออาจารย์พูดแบบนี้ ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียนกศน.” เกเร ไม่ชอบเรียน…ทัศนคติของเด็กในระบบ ต่อ กศน.?

เมื่อถามถึงทัศนคติ กศน.ในตอนนั้น น้องวิทย์ กล่าวว่า “ตอนนั้น เราเห็นเพื่อนส่วนใหญ่ที่ออกไปตอนม.ต้น หรือไม่เรียนแล้วก็ไปเรียนที่ กศน. หรืออย่างหลายคนที่เกเรๆ หน่อยก็ไปเรียนที่นั่น บางคนก็ออกไปทำงาน และเรียนเพื่อเอาวุฒิ ก็เลยเกิดทัศนคติในแง่ลบกับที่นี่

แต่ตอนนั้น ในเมื่ออาจารย์พูดแบบนั้น ผมก็รู้สึกว่า ‘ได้ ในเมื่อท้าทายให้ไปเรียนกศน.’ ซึ่งตอนนั้นไปสมัครแม่ก็ไม่รู้ ไม่ได้บอกใคร แต่หลังจากไปสมัครเสร็จกลับมาบอกแม่ แม่ก็ตกใจลมจับ จากที่ผิดหวังไม่ได้เรียน ม.5 กลายเป็นว่าต้องไปเรียนกศน. แม่ก็เครียดร้องไห้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ” เมื่อถามว่า การเรียนในระบบ กับ กศน. แตกต่างกันอย่างไรนั้น น้องวิทย์ แจกแจงให้ฟังว่า แตกต่างกันอย่างมาก จากที่เด็กม.ปลาย จะเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปจนถึง 4 โมงเย็น อัดวิชาความรู้แน่น มีกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ขณะที่ กศน.เรียนเพียงสัปดาห์ละครั้ง ไปส่งรายงาน แต่ไม่ได้มีการเลกเชอร์ นั่งสอน ฟังบรรยาย ไม่มีไกด์ว่าจะต้องเรียนอะไร แค่ไหนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ไม่มีอาจารย์หรือรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำ แต่จะมีข้อดีคือทำให้มีเวลาเยอะขึ้น

ความพยายาม ไม่เคยแพ้โชคชะตา

หนุ่มใต้ ย้อนถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า ทั้งเครียด ทั้งกดดัน ถ้าเป็นเด็กไม่สนใจเรียนแล้วมาเรียนกศน.อาจจะไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อก่อนอยู่ห้องกลางๆ เพื่อนจบไปได้เรียนห้องดีๆ ขณะที่ ตัวเองต้องมาอยู่ที่นี่ ซึ่งหากเรียนในระบบต่อให้แอดมิชชั่นไม่ติดก็มีมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ไปต่อ แต่ กศน.ยังไม่ได้เปิดรับทุกมหาวิทยาลัย

“ผมรู้สึกแย่ที่ทำให้แม่เสียใจ มันทำให้ผมคิดว่า ทำยังไงก็ได้ให้เอาตัวเองออกไปจากสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ ให้พ้นจากคำดูถูก ให้พ้นจากความเสียใจของพ่อแม่ แม้จะไม่มีใครเชื่อว่า เราจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องทำให้เขาเห็น ออกไปจากตรงนี้ให้ได้”

เพ้อเจ้อ? เด็ก กศน. อยากเป็นหมอ

ดังนั้น การเริ่มต้นครั้งนี้ หากอยากจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะต้องเรียนความรู้เนื้อหาทั้งหมดของ ม.4-ม.6 ที่เพื่อนในระบบเรียนกัน 3 ปี แต่ต้องเรียนให้จบภายใน 1 ปี เพื่อเตรียมตัวสอบอีกครึ่งปี

น้องวิทย์ เผยว่า “ตอนนั้นเลือกไว้ 2 ทางคือ นิติศาสตร์ กับ หมอ เหมือนเลือกได้เลยนะ (หัวเราะ) มันดูเพ้อมากๆ เลยที่เด็ก กศน.คนหนึ่ง มานั่งคิดว่า จะสอบนิติศาสตร์ หรือ หมอ ดี ถ้าในสายตาคนอื่นคงมองว่าเพ้อเจ้อ แต่ตอนตัดสินใจมันมาจากช่วงที่ว่างแล้วได้ไปช่วยเหลือสังคม ก็เลยมานั่งคิดว่า เราน่าจะเรียนอะไรที่ขยายความสามารถเรามากกว่านี้ และช่วยเขาได้โดยตรงรักษาเขาได้ ก็เลยคิดว่าจะเรียนหมอ แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย”

แล้วทำอย่างไรต่อไป ผู้สื่อข่าวถามหนุ่มวัย 23 ปี น้องวิทย์ เล่าต่อว่า “ผมคิดเองว่า จะสอบหมอต้องเรียนอะไรบ้าง ไปดูข้อสอบเก่าๆ และใน 1 ปี เราต้องเสริมความรู้ที่ขาดให้ได้ แต่ข้อดีของการเรียนกศน.คือ เรามีเวลาว่างมาก ดังนั้น เวลาที่ว่างเราก็ต้องไปอัดเนื้อหาความรู้ โดยหากจะไปติวต้องนั่งรถไปสุราษฎร์ 3 ชั่วโมง และนั่งกลับอีก รวม 7 ชม.

ผมจึงต้องอ่านเองเท่าที่ทำได้ อย่างไทย สังคม สามารถอ่านเองได้ ส่วนบทไหนไม่เข้าใจ อย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เฉพาะบางบทที่อ่านไม่ไหว หรือเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตแล้วยังไม่เข้าใจ จะไปลงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปติวเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ กลับมาบ้านก็มาตะลุยโจทย์เอง”

มุ่งมั่น ตั้งเป้า วางแผน…น้องวิทย์ เผย เทคนิคพิชิตความสำเร็จ!

เมื่อรู้เป้าหมายของตัวเองชัดเจนแล้วว่า อยากเป็นหมอ! น้องวิทย์จึงเตรียมวางแผยรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี โดยใน 1 วัน จะต้องอ่านหนังสืออย่างน้อย 3 วิชา ตกแล้ววิชาละ 2 ชั่วโมง พร้อมกับทำโจทย์อีก 50 ข้อ ในสัปดาห์จะต้องอ่านให้ได้ 3-4 บท เดือนนี้จะต้องทำได้เท่านี้ และ 3 เดือนก่อนสอบต้องจบเนื้อหาทั้งหมด เพื่อเริ่มทบทวนอีกรอบ

“หากวางภาพใหญ่ทีเดียว แต่ระหว่างทางเราไม่มีไกด์ ไม่มีแผนว่าจะต้องอ่านถึงไหน ดึงให้อยู่ในลู่ทางนี้ สุดท้ายก็ไปเรื่อยๆ”

ผลลัพธ์ความพยายาม..สอบตรง กสพท. ติดแพทย์พระมงกุฎฯ หรับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่น้องวิทย์เลือก มีดังนี้

อันดับ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

อันดับ 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อันดับ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อันดับ 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อย่างไรก็ตาม ผลสอบออกมาน้องวิทย์ได้อันดับ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 7 และเป็นโรงเรียนแพทย์ทหาร แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ถามว่าทำไมเลือกพระมงกุฎฯ น้องวิทย์ ตอบว่า “น่าจะเป็นเพราะว่า พ่ออยากให้เป็นทหารด้วย และด้วยความที่เราซึมซับจากคอร์สติว ม.ต้น ที่เราต้องฝึกร่างกาย ฝึกวินัย อยู่กับเพื่อน ผมก็เลยรู้สึกว่า ผมชอบสังคมแบบนี้ พอเข้ามาในพระมงกุฎฯ ก็เจอแบบที่ผมชอบครับ” “ตอนออกมาจากห้องสอบไม่มีความกังวลเลย รู้สึกว่าเราเต็มที่ วันที่สอบติดดีใจมาก นี่แหละคือสิ่งตอบแทนที่เราพยายามมาโดยตลอด ไม่นอกลู่นอกทาง ตั้งใจทำเต็มที่ ดีใจตื้นตันมากครับ แม่ดีใจมาก ตอนแรกเขาคงไม่ได้คาดหวังว่าผมจะต้องสอบติดหมอ และก็ไม่เคยมีข่าวใครเรียนกศน.แล้วไปสอบหมอติด ซึ่งเขาก็เหมือนความหวังที่มันหมดไปแล้วแต่มันกลับมาสำเร็จ” น้องวิทย์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

“ถ้าผมไม่เรียน กศน. ผมอาจจะไม่ติดหมอ…?”

ว่าที่คุณหมอยังกล่าวต่อว่า “ย้อนกลับไป ณ ตอนนั้นยอมรับว่าโกรธมากครับ ทำไมไม่ยุติธรรม ทำไมกีดกันเรา แต่ถ้าถามตอนนี้ ผมก็ต้องขอบคุณอาจารย์เขานะครับ ที่วันนั้นเขาเลือกไม่ให้โอกาสเรา ไม่แน่ว่าหากผมได้เรียนในระบบเหมือนอย่างเพื่อนคนอื่นๆ วันนี้ผมอาจจะไม่กดดันตัวเอง ไม่พยายาม ไม่แอ็กทีฟ เพื่อออกมาจากจุดๆ นั้น ผมก็อาจจะไม่ติดหมอก็ได้นะ แต่หากวันนี้ มันไม่ได้เป็นอย่างที่เกิดขึ้น ผมก็คงโทษตัวเองแหละครับที่ไม่พยายาม ไม่ทุ่มเทมากพอ”

ส่วนคนที่มอง กศน.ในแง่ลบนั้น น้องวิทย์ เผยว่า “ค่านิยมของสังคมมองว่า กศน.เป็นทางเลือกของเด็กที่ไม่มีทางไป ซึ่งไม่อยากให้มองว่าเด็กที่เรียน กศน.เป็นเด็กที่ไม่ดีทั้งหมด เกเร ไม่เรียนหนังสือ โดยตอนที่เรียนก็มีเพื่อนป่วยก็ต้องมาเรียน กศน. และก็มีไม่น้อยที่การเรียนในระบบไม่ตอบโจทย์เขา แต่ที่มาเรียนกศน. เพื่อให้ได้วุฒิ หรือได้ไปต่อในทางที่ต้องการ”

สำหรับอนาคตของน้องวิทย์นั้น ตั้งเป้าเรียนให้จบปี 6 แล้วใช้ทุน ก่อนที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดใน จ.ระนอง ช่วยคนในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างที่ตั้งใจไว้

นี่คือ หนึ่งตัวอย่างที่ไม่ยอมให้โชคชะตา มากำหนดอนาคตของตัวเอง.

นายวรวิทย์ คงบางปอ ชื่อเล่น วิทย์

อายุ 23 ปี บ้านเกิด จ.ระนอง

จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ (กศน.) ระดับ ม.ปลาย จาก กศน. อ.เมืองระนอง

ปัจจุบันเรียนอยู่ปี 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ไอดอล หมอก้อง สรวิชญ์ สุบุญ

คะแนน 7 วิชาสามัญ

คณิตศาสตร์ 60 คะแนน

สังคมศึกษา 40 คะแนน

ภาษาไทย 78 คะแนน

ภาษาอังกฤษ 55 คะแนน

เคมี 70 คะแนน

ชีววิทยา 65 คะแนน

ฟิสิกส์ 64 คะแนน

คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท. ได้ 20.6111 %

รวมได้ 63.5444 %

ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1260594

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: