เผยประวัติ “ถ้ำหลวง” ถ้ำสุดโหด ที่ล่ำลือกันว่า ช่วงฤดูฝนเป็นอะไรที่อันตรายสุดๆ!!





จากกรณีมีเด็กนักฟุตบอล และผู้ฝึกสอนหายเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมานายดำรงค์ หาญภักดีนิยม หัวหน้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำนักงานพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 รับแจ้งว่ามีผู้ที่พากันเดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลายคนแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย โดยพบรถจักรยานรองเท้าบริเวณทางเข้าถ้ำ

ถ้ำหลวง / ซึ่งล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 25 มิ.ย. เจ้าหน้าที่จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) หรือ หน่วยซีล ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าไปภายในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน หมู่บ้านจ้องวัด ม.9 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการค้นหานักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทั้ง 13 ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยครอบครัวของผู้สูญหายต่างเฝ้ารอและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดบริเวณปากถ้ำดังกล่าว

สำหรับถ้ำหลวง อยู่ในท้องที่ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2529 มีพื้นที่ครอบคลุมหัวดอยนางนอน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยนางนอน มีพื้นที่สำหรับบริการนักท่องท่องอยู่ 2 แห่ง คือ

1.บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง มีเนื้อที่ 12 ไร่ ตั้งอยู่ท้องที่บ้านน้ำจำ ต.โป่งผา อ.แม่สาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน และ 2.บริเวณขุนน้ำนางนอน มีเนื้อที่ 8 ไร่ ตั้งอยู่ท้องที่บ้านจ้อง ต.โป่งผา อ.แม่สาย โดยวนอุทยานถ้ำหลวงมีอาณาเขตติดต่อ คือ ทิศเหนือ จดดอยจ้องและห้วยน้ำจอง, ทิศใต้ จดดอยผู้เฒ่าและลำห้วยน้ำค้าง, ทิศตะวันออก จดบริเวณพื้นที่ราบที่อยู่ข้างๆภูเขาทั้งหมด, ทิศตะวันตก จดภูเขลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากชายแดนเมียนมา

ส่วนลักษณะเด่นของพื้นที่และเอกลักษณ์นั้น ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมาก ภายในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด อีกทั้ง ถ้ำหลวงยังรอคอยการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอด เพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมา เนื่องจากพบอุปสรรคความยากลำบากภายในถ้ำ และยังมีถ้ำเล็กๆอีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

สำหรับประวัติศาสตร์ และโบราณคดี พบว่าปากถ้ำที่สูง โถงถ้ำแรกที่เปิดกว้างระดับพื้นดินต่ำกว่าปากถ้ำมาก เนื่องจากเป็นร่องทางน้ำที่ไหลออกจากถ้ำ โดยมีร่องน้ำผ่านระหว่างโถงที่ 1 และทางขวามือของร่องน้ำจะเป็นโนนดินที่สูงขึ้น มีร่องรอยหลุมยุบ และเป็นโถงที่ 2 ต่อจากโถงที่ 1 มีร่องรอยหินถล่มด้านซ้ายมือ เมื่อสิ้นสุดบันไดจากบริเวณปากถ้ำ เป็นทางเดินดินสั้น ๆ ต่อจากนั้น เป็นขั้นบันไดที่เทด้วยปูนซิเมนต์ 5-6 ขั้น ยกระดับขึ้นทอดเข้าสู่ความยาวของตัวถ้ำ โดยที่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมภายในถ้ำ และบริเวณร่องน้ำโถงที่ 1 ดังนั้น จึงไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี ภายในถ้ำ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ถ้ำหลวงจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำ ซึ่งจะทำให้ไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่านักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ข้อมูลจากเว็บไซด์ : เชียงรายโฟกัส, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: