กลุ่มวิศวกรชี้ ‘บ้านพักเชิงดอยฯ’ เสี่ยงไฟ-น้ำป่า-โคลนถล่ม ถ้าอยู่อันตรายถึงชีวิต!





 

เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 5 พฤษภาคม นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า กล่าวถึงกรณีบ้านพักศาลตุลาการในงานเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง ‘ผลกระทบบ้านป่าแหว่งต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม’

โดยนายโชติพัฒน์ กล่าวว่า บ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างจนเกือบแล้วเสร็จ มีความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ที่จะเข้าไปพักอาศัย เปรียบเสมือนระเบิดเวลาลูกหนึ่ง เพราะอันตรายถึงชีวิตจากไฟไหม้ป่า น้ำป่าดินโคลนถล่ม เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงอันตรายในระดับค่อนข้างสูงต่อการเกิดดินโคลนถล่ม สร้างบนพื้นที่ที่มีความชันที่จะทำให้เกิดการสไลด์ของดิน อยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติเวลาฝนตก อยู่ใกล้ทางน้ำตามธรรมชาติมากเกินไปและทับทางน้ำอย่างน้อย 1 สาย ที่สำคัญคือก่อสร้างฐานรากไม่รองรับความเสี่ยงจากน้ำป่าดินโคลนถล่ม

“ประมาณปี 2552 เคยเกิดมวลน้ำป่าขนาดใหญ่ไหลหลากลงท่วมโครงการหมู่บ้านสวัสดิการทหารบบกระดับมิดหัวคน เนื่องจากเกิดฝนตกต่อเนื่องกันหลายวันบริเวณ ต.ดอนแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับการก่อสร้างหมู่บ้านป่าแหว่งในปัจจุบัน มวลน้ำป่าที่หลากลงมาครั้งนั้นเกิดจากชั้นดินที่อยู่ใต้พื้นที่รับน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำแม่จอกไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ทำให้น้ำผิวดินพากันไหลลงสู่ที่ต่ำมากมาย โชคดีที่ขณะนั้นพื้นที่รับน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นป่าสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่และพืชคลุมดินที่หยั่งรากแผ่ขยายลงไปยึดเกาะชั้นดินไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จึงเกิดเพียงแต่น้ำป่าไหลหลากลงมายังไม่ทำให้เกิดดินโคลนถล่มลงมาได้”

นายโชติพัฒน์ กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือ หากวันใดเกิดฝนตกในปริมาณ 100 มิลลิเมตรต่อวัน บนพื้นที่ลาดชันที่ไม่มีต้นไม้หรือป่าคลุมดินไว้ จะเกิดการพังทลายของดิน เพราะฐานรากของบ้านพักตุลาการวางตัวอยู่บนชั้นดินในระดับตื้นๆ ไม่ได้วางอยู่บนชั้นหินที่ลึกลงไป ไม่ได้วางอยู่บนเสาเข็มที่เจาะลงไปฝังอยู่บนชั้นหินแข็งข้างล่าง อาจจะเกิดการเคลื่อนตัวของดินที่เรียกว่า Translation Land Slide เมื่อดินพร้อมบ้านแถวใดแถวหนึ่งเกิดการสไลด์ตัว ก็จะไหลไปกระแทกสิ่งที่กีดขวางคือบ้านชั้นที่อยู่ต่ำลงไป

ส่วนชุมชนที่อยู่ด้านล่างของหมู่บ้านก็จะต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ในขณะที่ความกังวลใจต่อชุมชนที่ใช้น้ำประปาที่ผลิตจากน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ก็จะได้รับน้ำเสียจากหมู่บ้านป่าแหว่งโดยตรง เพราะโครงการนี้ถูกออกแบบให้ระบายน้ำทิ้งลงอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง (นวมินทร์) ซึ่งไม่เฉพาะน้ำเสียเท่านั้น แต่น้ำฝนจากหมู่บ้านจะพัดเศษขยะและดินโคลนจากถนนและพื้นที่อื่นๆภายในหมู่บ้านลงมาสู่อ่างเก็บน้ำด้วย

ขอบคุณ : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: