10ข้อคิดการทำงานของ ‘หมอเสริฐ-นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ มหาเศรษฐีอันดับ8ของไทย เจ้าของธุรกิจ ‘บางกอกแอร์เวย์-รพ.กรุงเทพฯ-ยาหอม’





 

หลายคนรู้จักโรงพยาบาลเอกชนสุดหรูอย่าง "โรงพยาบาลกรุงเทพ" และสายการบินสุดหรูอย่าง "บางกอกแอร์เวย์" แต่น้อยคนจะรู้ว่าเจ้าของคือใคร Thaijobsgov จะพาไปรู้จักกัน 

“นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และเจ้าของธุรกิจ "Bangkok Airways"  หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอเสริฐ” เกิดในตระกูล “ช้างบุญชู” ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นสกุล ปราสาททองโอสถในภายหลัง โดยครอบครัวของหมอเสริฐนั้นประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเวชกรรมโอสถ โดยมีโรงงานผลิต และจัดจำหน่าย “ยาหอมปราสาททอง” “ยาหอมอินแท่งทอง” ในบริเวณสี่แยกพลับพลาไชย

 

 

 

 

ตัวของหมอเสริฐเองนั้นจบการศึกษาด้านศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันผลิตแพทย์อันดับต้นๆของเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม หมอเสริฐที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นคนกล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสียได้ได้ตัดสินใจหันมายังเส้นทางธุรกิจหลังจากทำงานเป็นแพทย์ได้ 5 ปี โดยตั้งบริษัทกรุงเทพสหกล จำกัดซึ่งเน้นรับงานก่อสร้างโดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภาในยุคที่อเมริกามาตั้งฐานทัพในเมืองไทย

จากลู่ทางในการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น หมอเสริฐได้จัดตั้งธุรกิจเกี่ยวกับการบินขึ้นครั้งแรกภายใต้ชื่อ “สหกลแอร์” ซึ่งในเวลาต่อมาบริษัทได้ทำการให้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด” และให้บริการในชื่อ “Bangkok Airways” โดยเริ่มให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพ-โคราช กรุงเทพ-สุรินทร์ ในราคาเริ่มต้นที่เที่ยวบินละ 400 บาท (ในปี2529)

 

 

นอกจากธุรกิจการบินแล้ว หมอเสริฐยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ในการต่อยอดโรงพยาบาล

ด้วยการเห็นความคุ้มค่าในระยะยาว และสร้างความยิ่งใหญ่ในธุรกิจโรงพยาบาล จนกระทั่งปัจจุบันสามารถขยายเครือข่าย “โรงพยาบาลกรุงเทพ” ผลิตและจำหน่ายวัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์

 

 

โดยมียอดการส่งออกไปต่างประเทศ และได้เข้าซื้อกิจการกับอีกหลายโรงพยาบาลเช่น โรงพยาบาลพญาไท เปาโล และอีกหลายโครงการ “นพ.ปราเสริฐ” มีความตั้งใจอย่างสูงในการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล

ธุรกิจตั้งมากขนาดนี้ ไม่แปลกที่ล่าสุด ฟอร์บส จะจัดอันดับให้เป็น อภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 8 ของเมืองไทย ซึ่งแนวคิดการทำงานของหมอเสริฐนั้น thaismescenter เคยสรุปไว้เมื่อวันที่ 

1.ล้มแล้วต้องลุกเอง

หลักใหญ่สำหรับการทำงานของเศรษฐีหมื่นล้านผู้นี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องรู้จักหาหลักคิดให้เป็นและต้องคิดให้ต่าง ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังลูกๆ ทั้ง 4 คนของเขาด้วย และไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งก็ต้องลุกเองให้ได้ ไม่ย่อท้อ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้เกี่ยวกับสายการบินและการสร้างสนามบินเอง

2.มองการณ์ไกล

หมอเสริฐเป็นคนมองการณ์ไกลในเรื่องการท่องเที่ยว รู้ว่าธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมาแรง จึงได้ต่อสู้และผลักดันจนสามารถสร้างสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ ขึ้นมาสำเร็จ

ด้วยการสร้างบินขิงตนเองบนเกาะสมุย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ล้นทะลักเข้าสู่พื้นที่ทุกปี และเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อเขากำหนดเอกลักษณ์ของ สายการบินบางกอก แอร์เวย์ ให้เป็น บูติก แอร์ไลน์ (Boutique Airline) ได้อย่างลงตัว

3.มีความมุ่งมั่น และตั้งใจทำ

นอกจากธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพแล้ว ด้วยความที่หมอเสริฐเป็นนักคิด และชอบความท้าทายอะไรใหม่ๆ มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นิสัยนี้จึงเป็นสิ่งที่คอยขับเคลื่อนให้เขากล้าที่จะทำในสิ่งที่อาจจะไม่ใช่ทางของตัวเอง

แต่เมื่อมองเห็นโอกาสว่าสามารถไปได้ก็คว้าไว้ทันที อย่างในสมัยที่เกิดสงครามเวียดนาม เขากับเพื่อนๆ ไปรับทำงานก่อสร้างที่สนามบินอู่ตะเภา และรับงานบริการต่างๆ ให้กับทหารอเมริกัน ทั้งสร้างถนน หารถเช่าและเครื่องบินเช่า

แล้วส่วนตัวก็เป็นคนที่ชอบเครื่องบินมาก บวกกับมีปมในใจที่สมัยสงครามโลก มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่อยุธยาบ้านเกิดของเขา จึงตั้งใจไว้ว่า “สักวันหนึ่งจะต้องเป็นเจ้าของเครื่องบินให้ได้”

และจากความคิดในหัววันนั้น เขาก็พยายามหาช่องทาง จนมีโอกาสไปประมูลเครื่องบินมา เพื่อเปิดให้ทหารอเมริกันเช่าไว้สำหรับขนของเอง บวกกับสถานการณ์ในตอนนั้นสงครามใกล้จะจบ พอดีกับที่กรมการบินพาณิชย์เพิ่งก่อตั้ง จึงไปยื่นขออนุญาตหลายต่อหลายครั้ง

จนกระทั่งสามารถทำการบินแบบพาณิชย์ได้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สายการบินอย่าง Bangkok Airways เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

4.การสร้างเครือข่ายธุรกิจ

เห็นได้จาก การเข้าซื้อกิจการกับอีกหลายโรงพยาบาลเช่น โรงพยาบาลพญาไท เปาโล บำรุงราษฎร์ และอีกหลายโครงการ ล่าสุดก็โรงแรมปาร์คนายเลิศ สร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ที่ครบวงจร

โดยมีเป้าหมายการหาพันธมิตรด้านการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวให้มากที่สุด เพื่อสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่สุด ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาสุขภาพของเอเชีย เพราะไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยากเดินทางมา

5.คิดเร็ว ทำเร็ว

นพ.ปราเสริฐ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน วางเกมเดินแผนธุรกิจอย่างลุ่มลึก เขาไม่ยอมคลายคำตอบว่าจะซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์เพิ่มอีกหรือไม่ แต่ยืนยันเจตนาว่าต้องการเป็น “พันธมิตร” กับบำรุงราษฎร์

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้มีการหารือกับผู้ถือหุ้นใหญ่บำรุงราษฎร์ (ตระกูลโสภณพนิช) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ข้อสรุป..หมอเสริฐก็ชิงลงมือแบบสายฟ้าแลบ เข้าซื้อหุ้น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) สัดส่วน 11.11% แบบที่อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัว

6.อดทน และรอคอยจังหวะ

พฤติกรรมหลายครั้งบ่งชี้ว่านักธุรกิจวัยชรารายนี้ ไม่เพียงเป็นเหยี่ยวธุรกิจที่กัดไม่ปล่อยและรอคอยที่จะโฉบเหยื่ออย่างใจเย็น นพ.ปราเสริฐยังเป็นนักวางกลยุทธ์ที่หาตัวจับยาก

เช่น กรณีก่อนจะเข้าไป “ฮุบ” เครือโรงพยาบาลพญาไท (PYT) และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียลของ ทนายวิชัย ทองแตง รพ.กรุงเทพใช้วิธีทยอยเข้าสะสมหุ้น PYT ไว้ก่อน 19.47% ก่อนจะจบดีลที่การเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร นอกจากนี้ หมอเสริฐยังใช้วิธีทยอยเก็บหุ้น RAM แบบใจเย็น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลรามคำแหงสัดส่วน 38.24%

7.ทำธุรกิจให้ครอบคลุมทุกตลาด

วัตถุประสงค์ของ รพ.กรุงเทพ ต้องการ “กินรวบ” ทุกตลาดไว้ทั้งหมด ปัจจุบันคุมเพียงแค่ “ตลาดบน” ไว้ส่วนใหญ่ แผนเข้าเทคโอเวอร์เครือรพ.เปาโล เมโมเรียลและรพ.พญาไท เพื่อขยายตลาดคนไข้ระดับ “กลาง-ล่าง” มากขึ้น โดยแผนขั้นต่อไปจะมีการเปิดคลินิกในต่างจังหวัดรุกหนักขึ้น ถือว่ากำลังกินรวบกลุ่มลูกค้าทุกระดับทั่วประเทศ

8.หนีคู่แข่ง ไม่ให้ตามทัน

การเดินเกมธุรกิจของ นพ.ปราเสริฐ กำลังทำให้เครือรพ.กรุงเทพ “หนีคู่แข่ง” ไปพร้อมๆ กับ “ไล่กิน” คู่แข่งไปเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการไล่ซื้อโรงพยาบาลอื่นยิ่งทำให้รพ.กรุงเทพ เข้มแข็งทั้งใน “แนวลึก” ลดต้นทุน และ “แนวกว้าง” ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่

คู่แข่งของหมอเสริฐไม่ได้กลัวกลยุทธ์ “ขึ้นราคา” แต่กลัวกลยุทธ์ “ลดราคา” ต่างหาก ในเกมธุรกิจถ้าใครกุมตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้แล้วใช้กลยุทธ์ลดราคา คู่แข่งที่เหลือจะถูกบีบเข้ามุมและยอมจำนน (ขายกิจการ) ในที่สุด

9.ธุรกิจบริการต้องสารพัดดี

ธุรกิจสารพัด “ดี” ในมุมมองของเครือรพ.กรุงเทพ คือ 1.ต้องดูดี (Good Look) สมชายจรดปลายเท้า ได้แก่ หมอดี (Good Doctors) พยาบาลดี (Good Nurses) บริการดี (Good Service) เทคโนโลยีดี (Good Technology) ระบบการส่งต่อดี (Good Referred) 2.งานต้องดี (Good Work) ได้แก่ รักษาดี ดูแลดี ประสิทธิผลดี สภาพแวดล้อมดี

และ 3.ผลลัพธ์ดี ปี 2012 เครือรพ.กรุงเทพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจโรงพยาบาลที่มีระบบการส่งต่อที่ดี (referral center) ติดอันดับ 3 ในไทย และบริษัทตั้งเป้าอยู่ในท็อป 3 ด้านความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ และระบบส่งต่อในสนามแข่งอาเซียนปี 2015 และสนามเอเชียแปซิฟิกปี 2018

10.มองหาโอกาสเสมอ

นพ.ปราเสริฐ บอกว่า การดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลต้องมีความละเอียดอ่อน และต้องพยายามที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆเสมอ หาธุรกิจอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งโรงพยาบาล

ที่ผ่านมาเขาพยายามขยายธุรกิจเสริม (non core business) เช่น ยาเม็ด เครื่องมือทางการแพทย์ การให้บริการในห้องแล็บและเอ็กซเรย์ ส่งผลให้ในช่วงหลายปีมานี้ “ธุรกิจเสริม” สามารถสร้างผลกำไรให้กับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นกอบเป็นกำ

เห็นได้ว่า “นพ.ปราเสริฐ” เป็นนักล่า นักเทคโอเวอร์ตัวฉกาจ เจ้าของโรงพยาบาลหลายแห่ง ต้องเกรงกลัว พยายามหาทางป้องกันโรงพยาบาลของตัวเองไม่ให้ถูกกิน ต้องแข็งแกร่งตลอดเวลา มิเช่นนั้น “นพ.ปราเสริฐ” ผู้นี้ก็จะกัดไม่ปล่อยแน่

ล่าสุด ข่าวโด่งดังเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของวงการธุรกิจ อีกหน้าหนึ่งที่ทุกคนต้องจดจำ สำหรับโรงแรมปาร์คนายเลิศที่ดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 130 ปี ได้ขายกิจการของโรงแรม ให้กับกลุ่มบริษัทในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยมีมูลค่าสูงถึง 10,800 ล้านบาท โดยจะแปรสภาพใหม่ เพื่อทำเป็นศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร

“ผมเป็นคน ที่เชื่อมั่นในตนเองสูง”…นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

ขอบคุณข้อมูลจาก : ลงทุนแมนthaismescenter

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: