เป็นนักบินรวยกว่า-ก้าวหน้ากว่า? ไขข้อสงสัย เหตุใดนายร้อยตำรวจรุ่น65 แห่เป็นนักบินพาณิชย์เพียบ?





 

สกู๊ปโดย : ไทยรัฐออนไลน์

"เปลี่ยนจากตำรวจเป็นนักบินมันก็จะเท่มากๆ" อาชีพที่คนหัวดีมีโอกาสเขาใฝ่ฝันกันเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆว่าต้อง "อาชีพนักบิน" …. เพราะไม่ว่าจะ "บินพาณิชย์" หรือ "บินของหน่วยงานราชการ" หากคุณมิใช่บุคคลที่มีมันสมองหัวกะทิ ความสามารถสูง คุณสมบัติครบตามต้องการ ก็คงต้องฝันลมๆ แล้งๆ ต่อไป ไม่ได้รับสิทธิ์นั้นเหมือนใครๆแน่นอน

เป็นสิ่งที่รู้กันมานานแล้วว่า ห้วงเวลาที่ผ่านมา ตำรวจไฟแรงเรียนจบโรงเรียนนายร้อยสามพรานหลายต่อหลายรุ่น ผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่นๆ มากมาย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ แต่ที่ทราบคือ มีไม่น้อยเลยที่ทิ้งอุดมการณ์ไฟฝันวัยเยาว์ไปเป็นนักบินพาณิชย์ ขับเครื่องบินให้บริษัทเอกชนเนื่องจากค่าตอบแทนสูง ตามอัตราความสามารถและความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ … แต่รู้หรือไม่ว่าที่ผ่านมา "นักเรียนนายร้อยรุ่น 65" พาตัวเองลาออกจากราชการไปเป็นนักบินพาณิชย์นับได้คร่าวๆ 8 คน  

ประกอบไปด้วย 1.ร.ต.ท.พิชญ์ ภาคภิชญ์เจริญ 2.ร.ต.ท.ณภัทร เกษนาค 3.ร.ต.อ.เกิดพงษ์ ศรีสุวัฒนานันท์ 4.ร.ต.อ.พีระพันธุ์ เบญจกุล  5.ร.ต.อ.ภูริพัฒน์ แสนพิพัฒน์ 6.ร.ต.อ.ชลภัก ชูศรี 7.ร.ต.อ.ธีรเดช สังสีแก้ว 8.ร.ต.อ.นิติพงษ์ บัวทอง (กำลังลาออก)

อีก 20 ปีข้างหน้า อาชีพนักบินพาณิชย์ในต่างประเทศยังคงความต้องการสูง 

ข้อมูลที่ผ่านมาระบุว่า ผู้ผลิตเครื่องบินของอเมริกา พยายามกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจอาชีพนักบิน ซึ่งจะเป็นอาชีพที่ต้องการอย่างมากในอีก 20 ปีข้างหน้า จากการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศ ทำให้บริษัทการบินหลายแห่งประกาศรับสมัครนักบินเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีข้อจำกัดคือ นักบินเป็นอาชีพที่ต้องใช้เงินลงทุนในการเรียนที่ค่อนข้างสูงมากทีเดียว

บริษัทโบอิ้ง คาดการณ์ว่า ในปี 2034 สายการบินทั่วโลกจะต้องการนักบินเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คน โดยเฉพาะทวีปยุโรปจะมีความต้องการสูงถึง 95,000 คน เห็นได้จากการประกาศรับสมัครนักบินของหลายสายการบิน อาทิ EasyJet รับสมัครนักบิน 450 คน และ 400 คน เป็นนักบินที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานหรือไม่มีประสบการณ์ บริติชแอร์เวย์ส รับสมัครนักบินใหม่ 350 คน บรัสเซลส์แอร์ไลน์ รับสมัครนักบินจำนวน 45 คน นับเป็นการสนับสนุนคำทำนายข้างต้น  

ส่วนค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับการทำชั่วโมงบิน หรือเรียนเพิ่มเติมสำหรับเครื่องบินเฉพาะรุ่นที่จะมีค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 20,000-30,000 ยูโร (ประมาณ 800,000-1,200,000 บาท) สรุปแล้วค่าใช้จ่ายรวมจะตกอยู่ที่ประมาณ 120,000 ยูโร (ประมาณ 4,800,000 บาท) ต่อนักบิน 1 คน

นักบินพาณิชย์ในไทยขาดแคลนหนัก ค่าตอบแทนสูง 

thaipublica ให้ข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการบินรวมจำนวน 6,072 คน แบ่งเป็นนักบินที่ทำการบินในเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 5,555 คน ในจำนวนนี้เป็นนักบินพาณิชย์ตรี 3,179 คน เป็นนักบินพาณิชย์เอก 2,376 คน ที่เหลือเป็นนักบินที่ทำการบินในเฮลิคอปเตอร์ โดยกว่า 70% ของนักบินทั้งหมดเป็นส่วนที่สมองไหลมาจากภาคราชการ อาทิ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมตำรวจ และกรมการบินพลเรือนในอดีต

มีการยืนยันจากบุคคลในวงการการบินหลายราย ตั้งแต่ปลายปี 2557 ว่า ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบิน สำหรับประเทศไทยวิกฤติดังกล่าวปะทุตัวจากการกว้านซื้อตัวนักบินของสายการบินชั้นประหยัดในประเทศ และสายการบินในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม เฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสั่งซื้อเครื่องบินจาก Airbus ไปแล้วกว่า 200 ลำ ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนนักบิน ยังรวมไปถึงช่างเทคนิคด้านอากาศยานนั้นไม่ใช่สายการบินนกแอร์เพียงสายการบินเดียวที่ต้องเผชิญ นกแอร์เสนอรายได้สูงเพิ่มจูงใจนักบิน

สายการบินในประเทศไทยเสนอรายได้สูงเพิ่มจูงใจนักบิน

ในขณะที่หลายค่ายกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบิน โดยเฉพาะนักบินระดับกัปตัน แต่การบินไทยมีจำนวนนักบินระดับกัปตันเกินความต้องการถึง 200 คน (มีจำนวนกัปตัน 500 คน ขณะที่ความต้องการเพียง 300 คน) ขณะที่ขาดนักบินระดับผู้ช่วยอยู่ 200 คน เช่นกัน (มีจำนวนผู้ช่วยนักบิน 1,000 คน ขณะที่มีความต้องการ 1,200 คน) ทำให้ทุกวันนี้กัปตันต้องทำการบินคู่กัน ซึ่งค่าใช้จ่ายของสายการบินไทยจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก

เนื่องจากมีการซื้อตัวนักบินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อจูงใจนักบิน ทางสายการบินจึงสร้างแรงจูงใจด้วยการยื่นข้อเสนอให้นักบินผู้ช่วย ซึ่งเป็นนักบินพาณิชย์ตรี สอบนักบินพาณิชย์เอก เพื่อรอเลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตัน ซึ่งต้องรอตามลำดับอาวุโส และการไต่ตามระบบเส้นสายอีกไม่น้อยกว่า 5-8 ปี ภายในการบินไทยมีผู้ช่วยนักบินที่จ่อคิวขึ้นตำแหน่งกัปตันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นักบินในส่วนนี้ของการบินไทยถูกสายการบินชั้นประหยัดซื้อตัวไปเป็นจำนวนมาก

“นักบินจากการบินไทย โดยเฉพาะนักบินผู้ช่วย (Co–Pilot และ Senior Co-Pilot) ประมาณ 300 คน ลาออกไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนนี้จะมีสายการบินชั้นประหยัดทำการซื้อตัวโดยเสนอตำแหน่งกัปตันให้ เนื่องจากเงินเดือนดีขึ้น อีกประการสภาวะการบินไทยเองก็น่าเป็นห่วง ไม่มีโบนัสให้กับพนักงาน ไปอยู่ที่ใหม่ได้โบนัส สำหรับนักบินที่ลาออกไปอยู่สายการบินตะวันออกกลาง ก็เนื่องจากค่าตอบแทนที่สูง และแรงจูงใจอื่นๆ อีกมาก นักบินจากการบินไทยที่ย้ายไปประจำสายการบินเอทิฮัด ปีหนึ่งๆ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หากไม่มีการยกเลิกเส้นทางการบิน ปัจจุบันการบินไทยคงเผชิญปัญหาหนัก” thaipublica ระบุ 

เหตุผลของตำรวจไทยสมองไหลไปเป็น "นักบินพาณิชย์" 

นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 65 แห่สอบเป็นนักบินพาณิชย์สายการบินต่างๆ ทั้งการบินไทย แอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ส
1 ในนั้นมี ร.ต.อ.เกิดพงษ์ ศรีสุวัฒนานันท์ อดีตหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 65 ให้เหตุผลไปในทางเดียวกันว่า ต้องการความแปลกใหม่และท้าทายในชีวิต ความก้าวหน้าในอาชีพ และค่าตอบแทนที่สามารถดูแลเลี้ยงดูตัวเองพร้อมคนในครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้  

ที่ผ่านมาการสอบเข้าเป็นนายร้อยตำรวจ คือที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ แต่เมื่อบางเหตุผลบางประการไม่สามารถตอบโจทย์ได้ดี การเสาะแสวงหาสิ่งที่ใจรักในหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่คงไว้ด้วยความสุขเสรี จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตซึ่งใครๆ ก็อยากให้มันเกิดขึ้น… อย่างที่บอกไปว่า "การสอบเข้าเป็นนักบินนั้นยาก ความเสี่ยงก็สูง" แต่หากแลกกับค่าตอบแทนรายรับที่ตามมา เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม 

ก็ไม่รู้ว่าบุคลากรแวดวงตำรวจ จะเกิดปรากฏการณ์ "สมองไหล" ไปสู่อาชีพนักบินอีกมากเท่าไร ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาคงใจหายไม่น้อย ที่ต้องสละคนคุณภาพถ่ายเทไปยังหน่วยงานอื่นๆ …และทั้งหมดทั้งปวงกลับกลายเป็นปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคนมีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้ต้องคิดให้ตกว่า "จะรักษาบุคลากรของตัวเองไว้โดยวิธีใด"

 

 

 

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: