ทนายรณณรงค์ ชี้ เจ้าของรถออฟโรดจอดหน้าบ้าน ไม่ผิด แนะปัญหานี้นิติฯ ต้องแก้!!





 

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ชี้ เคสหนุ่มเจ้าของกระบะออฟโรด จอดรถหน้าบ้านไม่ผิด เพราะไม่ได้จอดปิดทางเข้า-ออกบ้านคู่กรณี แนะ ปัญหานี้ต้องให้นิติฯ หมู่บ้าน เข้าไกล่เกลี่ย พร้อมออกระเบียบเป็นประกาศของหมู่บ้านให้ชัดเจน 
 
จากกรณี เพจแหม่มโพธิ์ดำ เผยเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้เสียหายรายหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามที่ชอบนำรถกระบะออฟโรด มาจอดหน้าบ้านซึ่งตรงกับประตูทางเข้า-ออกของบ้านเธอ ทำให้เธอขับรถเข้า-ออกลำบาก อีกทั้งมีการแจ้งนิติบุคคลของหมู่บ้าน 6 ครั้ง แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า เธอจึงนำรถของตัวเองมาจอดหน้าบ้านเช่นกัน แต่กลับถูกคู่กรณีขับรถกระบะมาชนรถของตนได้รับความเสียหายนั้น

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (6 มีนาคม 2561) อมรินทร์ ทีวี ได้สอบถามไปยัง น.ส.บี (นามสมมติ) เจ้าของบ้านผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ปกติพื้นที่ในบ้านแต่ละหลัง จะมีที่จอดรถให้ แต่บ้านของชายคู่กรณีมักจะเลือกจอดรถหน้าบ้านตรงกับตำแหน่งประตูรั้วเข้า-ออกบ้านของตนอยู่เสมอ ยอมรับว่าตนพอขับรถได้ แต่ไม่ถึงขั้นชำนาญการถอยเข้า-ออก อีกทั้งรถของคู่กรณีเป็นรถขนาดใหญ่ เมื่อมาจอดหน้าบ้านก็กินเนื้อที่ไปเกือบ 1 เลนแล้ว ดังนั้นตนจึงเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องพาแม่ที่ป่วยไปโรงพยาบาล

 

 

ก่อนหน้านี้ ตนเคยไปเจรจากับคู่กรณีแล้ว แต่กลับได้รับคำตอบมาว่า ถ้าถอยไม่ได้ก็ไปขับเกวียน จากนั้นตนเลยต้องแจ้งนิติฯ ของหมู่บ้านให้เข้ามาจัดการ ซึ่งแต่ละครั้งคู่กรณีก็ยอมย้ายที่จอด แต่ทำได้แค่สัปดาห์เดียวก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม โดยตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ตนแจ้งปัญหากับนิติฯ ไปแล้วถึง 6 ครั้ง ต่อมาตนลองเอารถตัวเองมาจอดหน้าบ้านบ้าง ปรากฏว่าชายคู่กรณีกลับขับรถมาชนรถตนจนได้รับความเสียหาย ซึ่งตนเชื่อว่าคู่กรณีจงใจ เพราะมีการเร่งเครื่องก่อนชน เพราะมีรอยยางรถไหม้บนถนนอีกด้วย

ทั้งนี้ ตนยอมรับรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะคู่กรณีเป็นคนอารมณ์ร้อน ขนาดรถยังสามารถชนได้ อย่างอื่นก็ไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนิติบุคคลของหมู่บ้านได้ติดต่อขอให้ตนและคู่กรณี มาไกล่เกลี่ยกันแล้ว

 

 

 

ด้าน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เผยว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเจ้าของรถกระบะออฟโรด ไม่ผิด เพราะไม่ได้จอดปิดทางเข้า-ออกบ้านคู่กรณี อีกทั้งถนนดังกล่าวเป็นถนนส่วนบุคคลภายในหมู่บ้าน ซึ่งปัญหานี้ทางนิติบุคคลต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย และควรออกระเบียบเป็นประกาศของหมู่บ้านให้ชัดเจน เกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้พื้นที่สาธารณะ จากนั้นหากมีผู้ฝ่าฝืน ทางหมู่บ้านมีสิทธิ์ดำเนินการยกรถที่จอดขวาง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาดำเนินการได้ทันที

 

 

โดยกรณีนี้ ทางนิติฯ หมู่บ้านปล่อยปละละเลย ผู้เสียหายมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดได้ ส่วนกรณีที่อีกฝ่ายขับรถชนรถของผู้เสียหายนั้น ส่วนนี้ต้องดูว่าตั้งใจหรือไม่ ถ้าเป็นอุบัติเหตุจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่หากเจตนาจะต้องโดนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 มีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 
ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก แหม่มโพธิ์ดำ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: