ป.ป.ท.ฟันความผิด!! ‘แก๊งข้าราชการ’โกงเงินคนไร้ที่พึ่ง หลัง นศ.ฝึกงานแฉโดนสั่งให้ปลอมลายเซ็น!!!





 

กรณีที่กลุ่มนักศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ร้องเรียนเจ้าหน้าที่หน้าที่ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น" ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตปลอมแปลงเอกสารเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ , ผู้ป่วยเอดส์ และเงินส่งเสริมอาชีพ เรื่องนี้เป็นข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ บอร์ด ป.ป.ท. ได้ประชุมพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริง และลงมติว่าข้อร้องเรียนมีมูล เตรียมแจ้งข้อหาหนักกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตแล้ว


การประชุมบอร์ด ป.ป.ท.ในวันนี้ มีวาระสำคัญเพื่อตั้ง "อนุกรรมการไต่สวน" เรื่องการทุจริตเบิกจ่ายงบประมาณของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของจังหวัดขอนแก่น โดยมีกรรมการ ป.ป.ท.เข้าร่วมประชุม 6 คน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

พลตำรวจเอก จรัมพร สุระมณี ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ท. แถลงว่า คดีนี้เริ่มจากที่นักศึกษา ซึ่งเป็นอดีตลูกจ้างของ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น" ได้ร้องเรียนมายังศูนย์ร้องเรียนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ว่าพบพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ทาง กอ.รมน.จึงประสานให้ "ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ" หรือ ศอตช. ตรวจสอบต่อ ทาง ศอตช.จึงสั่งการให้ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากการลงพื้นที่สอบปากคำชาวบ้านในอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ที่มาร่วมอบรมที่ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง" กว่า 90 ราย พบว่า ชาวบ้านทั้งหมดถูกนำสำเนาบัตรประชาชนไปลงทะเบียน เป็นรายชื่อในบัญชีเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และมีการเบิกจ่ายเงินไปจริง ทั้งๆ ที่เจ้าของสำเนาบัตรประชาชนไม่ทราบเรื่อง

จากข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้ ทาง ป.ป.ท.จึงเตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นข้าราชการ รวม 4 ข้อหาหนัก คือ 1.เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 2.เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 3.เป็นเจ้าพนักงานกระทำการปลอมแปลงเอกสาร หรือกรอกข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 และ 4.เป็นเจ้าพนักงานรับรองหลักฐานและเอกสารที่เป็นเท็จฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162

ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดที่ไม่ใช่ข้าราชการ หรือเป็นพนักงานราชการ จะถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนในการทุจริตด้วย
พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวเสริมว่า ผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มีทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย นักศึกษา 2 คน และเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฯอีก 3 คน ส่วนกลุ่มผู้ถูกกล่าวหามีด้วยกัน 6 คน เป็นข้าราชการ 2 คน ซึ่งเป็นถึงระดับผู้อำนวยการศูนย์ฯ 1 คน / ส่วนอีก 4 คนไม่ใช่ข้าราชการ แบ่งเป็นพนักงานราชการ 3 คน และพลเรือน 1 คน

รายการ "ล่าความจริง" ช่องเนชั่นทีวี ได้ตรวจสอบข้อมูลการดูแลคนไร้ที่พึ่งในประเทศไทย พบว่า หน่วยงานที่ดูแลคนไร้ที่พึ่ง คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อยู่ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ประกอบด้วย 4 หน่วยงานย่อย คือ 1.สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3.นิคมสร้างตนเอง และ 4.ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ทั้งประเทศมีศูนย์เหล่านี้ 76 แห่ง โดยจะมีการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1 พันถึง 3 พันบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง" อีกมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ โดยมีรายงานว่า ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจจะมีการทุจริตในลักษณะเดียวกันนี้อีกด้วย

สำหรับประเด็น "งาบงบคนไร้ที่พึ่ง" ถูกเปิดโปงจากกรณี นางสาว ปนิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ นางสาว ณัฐกานต์ หมื่นพล อายุ 26 ปี อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น เข้าร้องเรียนกรณีพบการปลอมแปลงเอกสารของศูนย์ฯ เพื่อเบิกจ่ายเงินสำหรับผู้ยากไร้ รวมกว่า 6 ล้าน 9 แสนบาท โดยทั้งสองคนพบความผิดปกติในการปลอมแปลงเอกสารการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย , เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้ติดเชื้อเอดส์ และเงินโครงการดูแลบุคคลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเร่ร่อน ขอทาน ที่ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจะดำเนินการฝึกอาชีพให้ โดยหลังจบการฝึกอบรมจะมีเงินทุนประกอบอาชีพให้รายละ 3,000 บาท แต่กลับพบว่าผู้อำนวยการศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ และมีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณเกินจริง

เรื่องทุจริตนี้ถูกเปิดโปงโดยนักศึกษาและอดีตลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับไม่ได้กับการทุจริต ซึ่งถือว่าน่าชื่นชมอย่างมาก ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมือง ได้มอบรางวัลให้กับทั้งคู่ ที่กล้าออกมาเปิดโปงกลโกงของเจ้าหนาที่รัฐ และจะเฝ้าติดตามการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

ข่าวจาก : เนชันทีวี

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: