ญี่ปุ่นโบกมือลา! ไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทยแล้ว ยินดีให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ!





 

          ญี่ปุ่นปฏิเสธไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทยแล้ว แต่จะเข้ามาสร้างให้ เสนอไทยลงทุนเอง 100% ยินดีให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หลังฝ่ายไทยร่ายข้อเสนอ ขอลดทุนก่อสร้างกับญี่ปุ่นยับ 

          จากกรณีโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ จีทูจี โดยจะมีการนำระบบรถไฟชินคันเซ็นมาใช้ในโครงการดังกล่าวด้วย ถือว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับคนไทยไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหวังว่าจะมีเส้นทางคมนาคมเทียบเท่ากับต่างประเทศเสียที

          แต่ทว่า ล่าสุด (9 กุมภาพันธ์ 2561) เจ้าของเฟซบุ๊ก Tanawat Wongchai ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นปฏิเสธไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย (เส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่) แล้ว พร้อมกับระบุเหตุผลว่า…

          1. ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอให้ทางการไทยลงทุน 100% เองเท่านั้น โดยเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้หากไทยมีเงินลงทุนไม่พอ โดยผลการศึกษาของทางญี่ปุ่น ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ มีต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมดที่ราว ๆ 4.2 แสนล้านบาท (1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

          2. แต่ทางการไทยกลัวว่าจะถูกคนในประเทศด่า เพราะรัฐบาลชุดนี้เคยไปด่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าขายชาติ สร้างหนี้ให้ลูกหลาน 50 ปี ตอนที่ชัชชาติจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเมื่อ 5 ปีก่อนไว้เยอะ เลยต่อรองกับญี่ปุ่นว่าขอให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุน (joint investment) ได้ไหม เพื่อทำให้ตัวเลขหนี้ของฝ่ายไทยน้อยที่สุด (ด้วยเหตุผลทางการเมืองนั่นแหละ) ซึ่งญี่ปุ่นปฏิเสธและให้ข้อเสนอเดิม คือ จะให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำแทน

          3. พอหนักเข้า ๆ ฝ่ายไทยเลยเสนอลดต้นทุน ด้วยการลดความเร็วของรถไฟความเร็วสูง จาก 270-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหลือ 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำเอาญี่ปุ่นอึ้งไปพักใหญ่ และตอกกลับมาว่า นี่คือ รถไฟความเร็วสูง ถ้าอยากได้ความเร็วระดับนั้นก็ไปทำรถไฟความเร็วปานกลาง ประกอบกับผลการวิจัยพบว่า การลงทุนรถไฟความเร็วปานกลางในเส้นทางนี้ ไม่คุ้มค่าเท่ากับการลงทุนในรถไฟความเร็วสูง

          4. หนักเข้าไปอีก ฝ่ายไทยเลยเสนอให้ลดสถานีกลางทางลง เพื่อลดต้นทุน ฝ่ายนักวิชาการของญี่ปุ่นเลยสวนกลับมาว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟ คือ สถานีกลางทางนี่แหละ ที่จะกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ขยายความเป็นเมือง (urbanization) แล้วสร้างความเป็นเมืองที่ศิวิไลซ์กว่าเดิมขึ้นมา มีการจ้างงานในท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นมีระดับรายได้ที่สูงขึ้น และคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นดีขึ้น 

          อีกทั้ง การลดสถานีกลางทางไม่คุ้มค่าเลย หากต้องแลกมากับการสูญเสียผู้โดยสารจากสถานีกลางทางนี้ไป (อย่าลืมว่าสิ่งที่รถไฟสามารถทำในสิ่งที่เครื่องบินทำไม่ได้ คือ สถานีกลางทาง) โดยสรุปแล้วญี่ปุ่นเลยยื่นข้อเสนอว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนสร้างให้ โดยให้ทางการไทยใช้แผนลงทุนที่ญี่ปุ่นศึกษามาเท่านั้น ไม่มีการลดความเร็ว ลดสถานีใด ๆ ทิ้ง และให้ฝ่ายไทยลงทุนเอง 100% โดยญี่ปุ่นยินดีให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ไทย (แต่ไทยจะไปกู้จากที่อื่นก็ได้ ถ้าดอกเบี้ยต่ำกว่า) ถ้านอกเหนือจากนี้ ญี่ปุ่นขอบาย

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Tanawat Wongchai

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: