จ่ายไปทุกปีรู้หรือไม่? หากเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการทำงาน ประกันสังคมช่วยอะไรได้บ้าง?! ต้องยื่นขอเงินทดแทนอย่างไร?!





 

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อหากเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องเสียเงินมากมายไปกับการรักษา และถ้ายิ่งการเกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บระหว่างวการทำงานนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนเช่นกัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าถ้าสมมุติเราเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงาน เราจะได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้างและสิทธิ์ประโยชน์ประกันสังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งจะมีดังนี้

หากเราทำประกันสังคมมาตรา 33 ไว้ ไม่ต้องกังวล เพราะประกันสังคมมาตรา 33 จะมีกองทุนเงินทดแทน เพื่อเป็นเงื่อนไขในการดูแลผู้ประกันตนทั้งในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทนให้ความคุ้มครอง จะแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

1. การประสบอันตราย คือ การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายจากการทำงาน ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ตามคำสั่งของนายจ้าง ประกอบด้วย

         – ได้รับอันตรายแก่กาย เช่น เป็นพนักงานขับรถส่งสินค้า แต่รถที่ขับไปเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ลูกจ้างได้รับการบาดเจ็บ

         – ได้รับผลกระทบแก่จิตใจ เช่น พนักงานที่ทำงานในโรงงานที่มีการปล่อยมลพิษในระดับที่สูง ทำให้มีพนักงานเสียชีวิตจำนวนมาก แม้ลูกจ้างบางคนจะไม่ได้รับอันตราย แต่สิ่งที่ลูกจ้างเจอทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว นับว่าเป็นผลกระทบทางจิตใจ

         – ลูกจ้างถึงแก่ความตาย

แต่ถ้าเป็นการได้รับอันตรายจากการเดินไป-กลับ ระหว่างบ้านกับที่ทำงานตามปกติ ไม่ถือว่าเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน ยกเว้นแต่ได้รับคำสั่งไปทำงานนอกสถานที่ แล้วได้รับอันตรายระหว่างทำงานหรือเดินทาง จึงจะถือว่าเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน

2. เจ็บป่วย

เป็นการที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตาย ด้วยโรคที่เกิดลักษณะจากการทำงาน และมีสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมาจากโรคนั้น ตัวอย่าง นายหนึ่งทำงานในโรงงานที่มีการปล่อยมลพิษในระดับที่สูง มาเป็นเวลานานหลายปีจนมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจาการได้รับสารพิษ

3. การสูญหายหรือตาย แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ

         – หายไประหว่างทำงาน เช่น เป็นช่างสำรวจแล้วเกิดหายไประหว่างเดินทางไปสำรวจตามหน้าที่ในป่า

         – หายไประหว่างปฏิบัติตามสั่งของนายจ้าง เช่น ได้รับคำสั่งให้ไปเจรจางานกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านเกิดโกรธแค้น จึงโดนทำร้ายและโดนลักพาตัวสูญหายไป

         – หายไประหว่างเดินทางด้วยพาหะทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ระหว่างเดินทางเพื่อไปทำงานให้นายจ้าง

สิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนที่จะได้รับ

1. ค่ารักษาพยาบาล

กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิ์ได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนของประกันสังคม ที่นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบเข้าทุกปี โดยได้สิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน  50,000  บาท แต่ถ้าค่ารักษาพยาบาลเกิน  50,000  บาท ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน  100,000  บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

– บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
– บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
– บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
– บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท
– ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
– ประสบอันตรายจากไฟไหม้  น้ำร้อนลวก  ความร้อน  ความเย็น  สารเคมี  รังสี ไฟฟ้า  หรือระเบิด  จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ  25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย
– ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง  

ทั้งนี้ กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 300,000 บาท  ถ้าเข้าเกณฑ์ตามที่ประกันสังคมกำหนด และหากค่ารักษาพยาบาลไม่พออีก จึงให้นายจ้างเพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นไม่เกิน 500,000 บาท ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และถ้ากรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ  ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน  1,000,000  บาท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาแต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ส่วนลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท

2. ค่าทดแทนรายได้ แบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้ 

– กรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับค่าทดแทนจำนวน 60% ของเงินเดือน 

– กรณีผู้ประกันตนสูญเสียอวัยวะ
จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน จำนวน 60% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี การประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา  และอวัยวะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา  1  ปี  นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

– กรณีทุพพลภาพ
มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ป็นระยะเวลาไม่เกิน  15  ปี การประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย ซึ่งกรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานจะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนและหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือน ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ข้อ 5 มีการสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะเกินกว่าร้อยละ 60 ของสมรรถภาพทั้งร่างกายหรือมีการสูญเสียตามตารางที่ 2 ท้ายประกาศ เช่น ขาทั้งสองข้างขาด มือทั้งสองข้างขาด

 

 

– กรณีตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน
การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทางโดยพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า  120  วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี จ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย เรียงลำดับตามนี้ มารดา,บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย,  สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย, บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่, บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ที่ทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และบุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย

3. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตราดังนี้

– ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท

– ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัดไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 24,000 บาท

 – ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 110,000 บาท

– ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท โดยลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น

 

วิธียื่นเรื่องขอรับเงินทดแทน

สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหาย หรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย โดยสามารถยื่นเรื่องได้โดยตรงที่สำนักงานประกันสังคม

หลักฐานที่ต้องใช้
1. แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16) 
2. แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) กรณีนายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล
3. ใบรับรองแพทย์
4. การประสบอันตรายที่ไม่ชัดเจน เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือเกิดเหตุนอกสถานที่ ต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน บันทึกประจำวันตำรวจ แผนที่เกิดเหตุ เป็นต้น
5. ใบเสร็จรับเงิน (กรณีที่สำรองจ่ายไปก่อน)
6. กรณีเสียชีวิตหรือสูญหาย ต้องมีหลักฐานแสดงการเสียชีวิต ใบชันสูตรศพ ใบมรณบัตรของลูกจ้างและบันทึกประจำวันตำรวจ พร้อมด้วยหลักฐานของผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์

ขอบคุณข้อมูล สำนักงานประกันสังคม, T-news

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: