อินเดีย เก็บผ้าอนามัยใช้แล้วไปทำอะไร ?





ผ้าอนามัยหรือผ้าซับเลือดประจำเดือนที่หญิงตามชนบทของอินเดียยังคงใช้กันอยู่ ไม่ได้เป็นแค่สิ่งสกปรกหรือสิ่งต้องห้ามตามความเชื่อพื้นบ้านอีกต่อไป เพราะมีผู้ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากผ้าดังกล่าว โดยหญิงที่มีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจภายในอีกต่อไป

[ads]

   โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในรัฐมหาราษฏระ โดยสถาบันเพื่อการวิจัยสุขภาวะการเจริญพันธุ์ของอินเดียซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาที่ล่าสุดอินเดียมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจำนวนมาก คิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั่วโลก เนื่องมาจากการขาดแคลนห้องน้ำและขาดการรักษาความสะอาดอวัยวะเพศ รวมทั้งความอายและความเชื่อที่ผิดทำให้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจภายในแบบดั้งเดิม

ดร. อตุล บูดุกห์ หัวหน้าคณะนักวิจัยประจำโครงการดังกล่าวบอกว่า การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกจากผ้าอนามัยหรือผ้าซับเลือดที่ใช้แล้ว เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับหญิงในชนบทของอินเดีย โดยในโครงการนำร่องนี้จะมีการเก็บตัวอย่างผ้าซับเลือดจากหญิงสุขภาพดี 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปีมาตรวจสอบตลอดระยะเวลา 2 ปี

ตัวอย่างผ้าอนามัยใช้แล้วถูกนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ

   หญิงที่เข้าร่วมโครงการจะเก็บผ้าอนามัยหรือผ้าซับเลือดใช้แล้วใส่ถุงพลาสติกปิดแน่น แล้วนำส่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น ซึ่งจะนำผ้านั้นไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ก่อนนำส่งศูนย์ตรวจสอบต่อไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะสกัดดีเอ็นเอจากเลือดที่เปื้อนติดผ้า เพื่อตรวจสอบดูว่ามีร่องรอยของเชื้อไวรัส HPV หรือไม่ ในเบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อ 24 คน จากทั้งหมด 500 คน ซึ่งจะมีการเรียกตัวมาตรวจวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

   มีหญิงในชนบทของอินเดียน้อยคนที่ใช้ผ้าอนามัยแบบที่วางขายตามท้องตลาด ทั้งนี้ สถิติของทางการอินเดียเมื่อปี 2011 ระบุว่าครัวเรือนกว่า 41% ทั่วประเทศไม่มีห้องน้ำ หรือถ้ามีก็เป็นห้องน้ำที่ไม่มีหลังคาอยู่ราว 16% ซึ่งทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญความยากลำบากในการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล นอกจากนี้ ความยากจนยังทำให้หญิงในชนบทไม่นิยมซื้อผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป แต่จะใช้ผ้าเก่ามาทำเป็นผ้าซับเลือดซึ่งมีการซักแล้วนำมาใช้ซ้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV มากขึ้นไปอีก

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: